พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37


    ตอนที่ ๓๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ (ทบทวนข้อความเดิมในตอนที่ ๓๖ : ทุกคนมีจิต และก็ยากแสนยากที่จะรู้ว่าจิตนี้ไม่ใช่เรา แม้ว่าจะเห็น จะได้ยิน ซึ่งแม้ว่าขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ต่างๆ แต่ด้วย "ความไม่รู้" ก็มีการยึดถืออยู่ตลอดเวลาว่าเป็นเรา) เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ของการฟังพระธรรม ที่แสดงเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า "ไม่ใช่เรา" แต่การที่จะสละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราที่สะสมมานานแสนนาน จะเห็นว่ายาก แม้แต่เพียงขั้นการฟังเรื่อง "จิต" ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น จิตเกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับไปรวดเร็วมาก ในวันหนึ่งๆ จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน หรือแม้แต่เพียงในขณะนี้เอง จะเห็นได้ว่าถ้าเราเข้าใจเรื่องจิต ก็จะรู้ว่าขณะที่เห็นเป็นเพียงจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยินเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง แต่ความรวดเร็วของจิตมากมายกว่านั้น เพราะฉะนั้นการที่เราได้ฟังเรื่องของจิตบ่อยๆ และก็ได้พิจารณา ก็เพื่อให้สั่งสมเป็นสัจจญาณ เป็นความมั่นคงในอริยสัจที่จะรู้ได้ว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏในขณะนี้ ปรากฏเพราะเกิดขึ้น จะเป็นเราได้อย่างไร และการที่จิตเกิดขึ้นก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยที่เหมาะสมของสภาพธรรมของจิตแต่ละประเภท จิตแต่ละประเภทนั้นๆ ก็เกิดไม่ได้เลย เช่น " เสียง" แม้มี ไม่กระทบกับจักขุปสาท แต่เพราะต้องกระทบเฉพาะกับรูปที่สามารถกระทบได้คือโสตปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่ใครก็มองไม่เห็น แต่รู้ได้ว่ามี เพราะเหตุว่า เสียงปรากฏได้เมื่อกระทบกับรูปๆ นั้น แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยิน ทั้งหมดดับไปอย่างรวดเร็ว ได้ยินก็ดับ เสียงก็ดับ โสตปสาทก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งๆ ที่สภาพธรรมเกิดขึ้น แล้วดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย นี่คือจุดประสงค์ที่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ให้ทุกคนได้สละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่า ทุกข์ทั้งหลายย่อมมาจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมเท่านั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าประจักษ์แจ้งจริงๆ อย่างนี้ ไม่มีความเป็นเรา แต่มีธรรม ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมนั้น แม้เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ควรที่จะสั่งสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็มีจริงๆ ไปเรื่อยๆ ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การพิจารณา ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ส่วนชื่อ และเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ฟังนี้ ก็เป็นสิ่งซึ่งเมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ก็เข้าใจชื่อทั้งหลายที่ได้ทรงแสดงไว้ เช่น "จิต" เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้เป็นนามธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ ซึ่งไม่เหมือนกับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย วันไหนบ้างที่เราคิดถึงธรรมหลังจากที่เราฟังแล้ว ขณะนี้กำลังฟังเรื่องนี้ก็กำลังคิดเรื่องนี้ แต่เวลาที่ไม่ได้ฟัง มีขณะไหนบ้างที่เราจะคิดเรื่องที่ได้ฟังนี้ มีปัจจัยพอ หรือยังที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่วันหนึ่งเมื่อฟังไป แล้วเข้าใจเรื่องราว เวลาที่มีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกำลังเห็น กำลังได้ยิน ขณะนั้นก็เป็นการสะสมการรู้จักสภาพธรรมตัวจริงๆ ที่มีจริงๆ ซึ่ง มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่เบื่อ เพราะถ้าเบื่อแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอะไรที่อาจจะน่าเบื่อยิ่งกว่านี้อีก เพราะจริงๆ แล้วการฟังก็เป็นเรื่องสบายๆ เป็นเรื่องฟังแล้วก็เข้าใจ แล้วก็เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นประโยชน์เท่าไหร่ เราก็จะมีเวลาสำหรับสิ่งที่มีประโยชน์มากเท่านั้น และเรื่องที่คิดว่ากล่าวซ้ำไปซ้ำมานั้น ก็คือกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงขณะเดี๋ยวนี้เองที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ ถ้าเราไปจำชื่อมากๆ เราก็เพียงแต่จำชื่อ แต่ตัวจริงของสภาพธรรมก็เกิดดับไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ถ้าเราจะทบทวนถึงขณะที่จิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลยมีไหม ตอบว่ามี แล้วใช้คำว่าอะไรขณะนั้น จิตเกิดแล้ว แล้วก็ทำหน้าที่ด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงจิตก็จะพูดถึงหน้าที่ของจิตนั้นๆ ให้ทราบว่าเป็นจิตต่างชนิด จิตชนิดนี้ทำหน้าที่นี้ จะให้จิตชนิดอื่นมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของจิตนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นมีจิตเกิดดับสืบต่อ และทำภวังคกิจไปเรื่อยๆ แต่ว่าตลอดกาลไม่ได้ เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะเป็นปัจจัยทำให้สุกงอมพร้อมที่จะให้จิตประเภทใดเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จิตที่เป็นผลของกรรม ภาษาบาลีใช้คำว่า “วิปาก” (วิ-ปา-กะ) ภาษาไทยก็เรียกว่าวิบาก " วิบากจิต" เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉนั้น จิตที่เป็นเหตุมี ผลก็คือจิต ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่ากรรมสามารถจะกระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนามธรรม และรูปธรรมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าถึงกาลที่จะต้องเห็น ก็จะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ หรือว่าขณะที่ต้องได้ยิน ก็เป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ขณะที่ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้คิดนึกตามการสั่งสม เพราะเหตุว่า บางคนนอนหลับไป แต่เมื่อตื่นขึ้น ก็นึกถึงเรื่องที่คิดค้างไว้ หรือธุรกิจ กิจการงานต่างๆ แม้แต่ความคิดก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมยิ่งละเอียดก็ยิ่งเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า อาจจะมีคนที่อยากหลับนานๆ แต่ก็ต้องตื่นเมื่อถึงกาลที่จะต้องได้รับผลของกรรม หรือถึงกาลที่จะต้องตรึกคิดนึกถึงเรื่องที่สะสมไว้ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าภวังคจิตทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเกิดขึ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่ดำรงภพชาติ และทันทีที่จะเปลี่ยนจากการเป็นภวังค์ สู่การรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เช่น เราตื่นขึ้นมา ดูธรรมดา แต่สภาพจิตเปลี่ยนแล้ว จากภวังค์ต้องมีอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉนั้น เวลาที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูป ขอกล่าวถึงทางปัญจทวาร เพราะเหตุว่า ทางมโนทวารจะไม่ยากเลย มีชื่อน้อยด้วย เพราะฉนั้น ทางปัญจทวารทางทวารหนึ่งทวารใด คุณเด่นเพงษ์ จะเลือกทางไหน

    ผู้ฟัง เมื่อหิว จะใช้คำว่าอย่างไร รูปหิว หรือ จิตหิว

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม ต้องรูปว่า "รูป" ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้สึก แต่หิวเป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้นหิวต้องเป็นนามธรรม สภาพที่หิวเป็นนามธรรมไม่ใช่รูป แต่ถ้าไม่มีกายก็ไม่หิว เพราะฉะนั้นรูปที่กาย หรือ สิ่งที่กระทบกายก็จะทำให้จิตรู้รูปนั้นด้วยความรู้สึกสองอย่าง คือ ความรู้สึกเป็นสุข หรือ ความรู้สึกเป็นทุกข์ เวลาสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบกาย จะไม่มีความรู้สึกอทุกขมสุข (อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุข) หรืออุเบกขา แต่จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ สุขเวทนาทางกาย หรือ ทุกขเวทนทางกายเกิดกับกายวิญญาณ เพราะฉะนั้นขณะที่หิวไม่สุข เพราะขณะนั้นเป็นจิตที่รู้ความทุกข์ทางกายที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา ถ้าเป็นภาษาบาลีก็จะใช้คำว่า ทุกขสหคต (ทุก-ขะ-สะ-หะ-คะ-ตะ) หมายความว่าจิตขณะนั้นต้องเกิดร่วมพร้อมกับความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย จิตนี้คือ กายวิญญาณ (จิตรู้กระทบสัมผัส) หรือจะใช้คำว่ากายวิญญาณัง ก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่ามีอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะงงว่านี่เป็นรูป หรือเป็นนาม จริงๆ แล้วถ้าทราบว่าเป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ไหน บนสวรรค์ ในพรหมโลก หรือว่าในนรก หรือที่ไหนก็ตาม รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เราก็ตอบตัวเองได้ว่าหิวเป็นนามธรรม แต่ต้องอาศัยกาย เพราะฉะนั้นก็เป็นกายวิญญาณ

    ผู้ฟัง หิวเป็นนามธรรม แต่ไม่ทานอะไรลงไป ร่างกายของเราก็ยังหิวอยู่ สาเหตุที่เราหิวเพราะรูปต้องการให้มีอาหารอยู่ในท้องใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ หิวต่อไปก็ยังเป็นนามต่อไป ส่วนรูปไม่เดือดร้อน รูปไม่รู้อะไรเลย

    ผู้ฟัง แต่ก็หายหิว ถ้าทานเข้าไป

    ท่านอาจารย์ แต่รูปก็ไม่ได้อิ่ม เพราะฉะนั้นการที่เราจะสามารถละความเป็นเราได้ด้วยการที่เราสามารถเข้าถึงลักษณะที่ต่างกันโดยประการทั้งปวงของนามธรรม และรูปธรรม คือ รูป จะอยู่ที่ตัว หรือนอกตัวอย่างไรก็ตาม ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปไม่สามารถจะรู้สึก ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ต่อให้หิวแสนหิวก็คือนามธรรม อิ่มแล้วก็คือนามธรรม รูปไม่ได้อิ่ม เพราะฉะนั้นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ใช้คำว่า"ตรัสรู้" หมายความว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะอะไร เพราะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งสภาพธรรมนั้นมีลักษณะอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ลักษณะของรูปก็ต้องเป็นรูป เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของธาตุต่างๆ ซึ่งไม่ได้ส่วนสัด เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ธาตุดินมากไป ก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง ธาตุน้ำมากไป ธาตุไฟมากไป ธาตุลมมากไป ไม่พอดี ขณะนั้นก็ทำให้เกิดทุกขเวทนาได้ โดยที่เราไม่สามารถที่จะเลือกได้เลย เพราะนี่คืออนัตตา อะไรจะเกิดขณะต่อไปข้างหน้าไม่มีใครสามารถบอกได้ ไม่สามารถเลือกได้ เพราะว่าแล้วแต่ปัจจัย เพราะฉะนั้นกำลังหลับอยู่แต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย

    การที่จะเริ่มรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดที่ไม่ใช่ภวังค์ จิตจะไม่ทำกิจภวังค์ แต่จะทำกิจอื่น ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องเป็นผลของกรรมที่สุกงอมที่พร้อมจะเกิดเป็นจิตประเภทอื่น ไม่ใช่ภวังคจิต ภวังค์ก็เป็นผลของกรรมแต่ทำภวังคกิจ การรับผลของกรรมโดยทำกิจภวังค์ก็สบายใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเทวดา ภวังคจิตก็คือไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปพรหม ภวังคจิตก็ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น หรือแม้อรูปพรหมที่เป็นภวังค์ ก็ไม่มีการรู้อารมณ์อื่น เหมือนกันหมดทุกชีวิตในขณะที่จิตทำภวังคกิจ คือ โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ชื่ออะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เมื่อคืนนี้ทำอะไรก่อนที่จะหลับก็ไม่รู้ ก็เป็นเรื่องของจิตแต่ละขณะที่ทำกิจ แต่ถ้าทำกิจภวังค์ก็คือให้ทราบได้ว่า เป็นภวังค์โดยที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด เป็นทวารวิมุติด้วย เพราะเหตุว่าเวลาที่เราจะรู้อารมณ์อื่นที่ใช่อารมณ์ของภวังค์ต้องอาศัยทวารคือทาง และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมกับรูปธรรมอาศัยกัน และกัน เช่น เรื่องหิว ก็เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ส่วนอรูปพรหมไม่หิวแน่ หรือพวกที่มีรูปละเอียด ก็จะต่างกันไปตามลำดับขั้นด้วย

    ยกตัวอย่างทางตา กำลังเป็นภวังค์อยู่จะให้สิ้นสุดกระแสภวังค์ทันทีไม่ได้เลย แต่จะสิ้นสุดต่อเมื่อมีรูปกระทบกับจักขุปสาท ถ้ารูปที่กำลังกระทบกับจักขุปสาทยังไม่ปรากฏ เพียงแต่รูปเกิด และจักขุปสาทเกิด และรูปนั้นกระทบกับจักขุปสาท เพียงกระทบ และขณะที่เป็นภวังค์ เราไม่เห็นเลย เพราะจิตกำลังเป็นภวังค์ แต่รูปเกิดแล้ว และกระทบกับจักขุปสาทแล้ว โดยที่รูปก็ต้องเกิด และจักขุปสาทก็ต้องเกิดด้วย แต่กระทบกันโดยขณะนั้นจิตจะเห็นไม่ได้ เพราะเหตุว่า กำลังเป็นภวังค์ จิตขณะหนึ่งต้องมีอารมณ์เดียว จะมีสองอารมณ์ไม่ได้ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ และมีเจตสิกที่ทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งไม่ใช่สองอารมณ์ เพราะฉะนั้น ขณะที่อารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ยังไม่เห็น แต่แสดงให้รู้ว่าเมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทแล้ว การกระทบกันของอารมณ์ และปสาทก็จะมีส่วนที่ทำให้ภวังค์ไหว เพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ เมื่อกล่าวถึงภวังค์ไหว คำว่าไหวนี้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องรูปเลย เพราะเมื่อใช้คำว่าไหวโดยปกติเราจะคิดถึงรูป เช่น เป็นใบไม้ไหว หรือการเคลื่อนไหว แต่ลักษณะของนามธรรมให้ทราบว่า เป็นการแสดงให้รู้ว่าใกล้จะสิ้นสุดการเป็นภวังค์ แต่ยังสิ้นสุดทันทีไม่ได้

    ผู้ฟัง อตีตภวังค์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีจักขุปสาทกับรูปมากระทบกันก่อน แต่ยังไม่รู้อะไรเลย แล้วก็มีอตีตภวังค์เกิดขึ้นใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ภวังค์เกิดดับสืบต่อมาเรื่อยๆ เมื่อมีการกระทบกันของอารมณ์กับทวาร รูปที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ เพื่อแสดงให้ทราบว่ารูปจะดับเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นทั้งปสาทรูป และอารมณ์ที่มากระทบเริ่มที่อตีตภวังค์ เกิดตรงนั้น รูปยังไม่ดับ แต่อตีตภวังค์ดับแล้ว และถ้าจะมีการรู้อารมณ์เพราะว่าถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ทำให้ต้องรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง เพราะว่าการรับผลของกรรมไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นภวังค์ แต่เพราะกรรมนั่นเองที่ทำให้มีจักขุปสาทรูป ใครก็ทำให้จักขุปาทรูปเกิดไม่ได้เลยนอกจากกรรม จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่มองไม่เห็น แต่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฎทางตาอย่างเดียว ในขณะที่กระทบรูปอื่นไม่ได้เลย ถ้าเป็นเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องมีรูปพิเศษที่เป็นโสตปสาทรูป ใช้คำว่า ปสาท (ปะ-สา-ทะ) เป็นรูปที่ต่างจากมหาภูตรูป ต่างจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ต่างที่ว่า โสตปสาทรูปเป็นรูปเมื่อเกิดแล้วสามารถกระทบเฉพาะเสียง ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมทำให้รูปเหล่านี้เกิดโดยที่ใครก็มองไม่เห็นรูปเหล่านี้เลย ถ้าจะเห็นก็เห็นแต่เพียงสีสันวรรณะ แต่ไม่ใช่ตัวจักขุปสาทรูป ไม่ใช่ตัวโสตปสาทรูป ไม่ใช่ตัวฆานปสาทรูป ไม่ใช่ชิวหาปสาทรูป ไม่ใช่กายปสาทรูป หากขณะนี้ กล่าวถึงทางตา รูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้กระทบปสาทแต่ยังไม่เห็น ยังไม่มีลักษณะอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว ขณะต่อไปเป็น "ภวังคจลนะ" “จลนะ” แปลว่า ไหว แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ไหวไปมาของรูป เป็นแต่เพียงจิตที่ใกล้จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ เพราะว่าจะสิ้นสุดลงไปทันทีไม่ได้ เมื่ออตีตภวังค์ดับไป จิตขณะต่อไปก็เป็นภวังคจลนะ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ เห็น หรือยัง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เห็น ตราบใดที่ยังเป็นภวังค์ ขณะนั้นต้องไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย เพราะดำรงภพชาติอยู่ แต่เหตุที่ " ภวังค์" มีชื่อต่างกันก็เพื่อแสดงให้รู้ว่าอารมณ์เริ่มกระทบกับปสาท ใช้คำว่า "อตีตภวังค์" ถ้าอารมณ์ไม่กระทบกับปสาทใช้คำว่า "ภวังคจลนะ" เพราะไม่ใช่ขณะที่รูปที่กระทบกับปสาท แต่ว่ามีการที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ เพราะการสะสมของกุศลจิต อกุศลจิต เรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามแต่ จะทำให้จิตคิดด้วยจิตประเภทนั้นๆ แต่จะขอกล่าวถึงทางปัญจทวารก่อน เพราะขณะนี้ก็คือทางจักขุทวาร ใช้คำว่าจักขุทวารเพราะเหตุว่าอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นทางที่จิตจะเกิดสืบต่อรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ อารมณ์เดียวที่ยังไม่ดับทางทวารนั้นต้องอาศัยทวารนั้นตลอด จิตทุกขณะที่เกิดจะต้องอาศัยทวาร คือทางที่จะรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ เมื่อภวังคจลนะดับแล้ว ขณะต่อไปเป็น "ภวังคุปัจเฉทะ" หมายความถึงสิ้นสุดกระแสภวังค์

    อ.คำปั่น "ภวังคุปัจเฉทะ" แยกมาจากคำว่า ภวังค + อุปัจเฉทะ ก็คือการเข้าไปตัดภวังค์

    ท่านอาจารย์ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่มีใครไปตัดเลย แต่หมายถึงภวังค์ขณะสุดท้ายของกระแสภวังค์ ใช้คำว่า “ตัด” ก็คือสิ้นสุดกระแสภวังค์ เป็น ภวังคุปัจเฉทะ คำว่า อุปัจเฉทะ กับ ภวังค์ และก็รวมกันเป็น "ภวังคุปัจเฉทะ" เป็นกระแสภวังค์ที่สิ้นสุดที่จิตดวงนี้ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย ถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็น แต่สามารถใช้คำว่า "เริ่มจะเห็น" ก็ได้ เพราะตราบใดที่ยังเป็นภวังค์ ไม่ว่าจะชื่อปฐมภวังค์ อตีตภวังค์ อาคันตุกะภวังค์ หรือภวังค์อะไรก็ตาม (ซึ่งต่อไปข้างหน้าก็จะมีชื่อเฉพาะภวังค์นั้นๆ) ถ้ายังมีคำว่าภวังค์ แปลว่ายังไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะยังมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิซึ่งเป็นอารมณ์ที่ใกล้จะจุติของชาติก่อน

    ผู้ฟัง สมมติว่ากำลังมีจักขุปสาทกับวัตถุ หรือสิ่งที่มากระทบ เกิดมีเสียงขึ้นมา จะทำให้หักเหจากตาไปสู่เสียงได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องตั้งต้นใหม่ เพราะเหตุว่าไม่ได้กระทบทวารนี้แล้ว ก็ต้องกระทบอีกทวารหนึ่ง เพราะว่าทวารไหนก็ต้องทวารนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ (จิตที่เกิดแล้ว ไม่ดับ ไม่มีเลย) ชื่อของจิตก็สำคัญ เพราะว่าจะไม่ทำให้สับสน แต่ชื่ออาจจะคล้ายกัน เช่น อาวัชชนะ กับ ชวนะ แต่ความจริงไม่ใช่ขณะเดียวกันเลย เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ จิตขณะต่อไปเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าจิตทั้งหมดจะแยกเป็นประเภท แยกเป็นภูมิ หรือแยกเป็นกิจการงานต่างๆ ก็ได้ แต่เมื่อจำแนกใหญ่ๆ จะมีจิตที่ต่างกันสองประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต สามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “วิถีมุตตจิต” หมายความว่าไม่ใช่วิถีจิต เพราะไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย เป็น "ทวารวิมุต" คือ พ้นจากทวาร แต่จิตก็เป็นธาตุพิเศษ เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธาตุ สิ่งที่ชื่อว่า"ธาตุ" แล้ว ใครก็ห้ามไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น"รูปธาตุ" ก็เป็นรูปธาตุ "นามธาตุ" ก็เป็นนามธาตุ ใครจะไปทำอะไรกับนามธาตุ รูปธาตุ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ