พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30


    ตอนที่ ๓๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ทางใจเห็นอะไร หรือไม่ ไม่เห็น ยังรู้ได้ใช่ หรือไม่ เหมือนเห็น เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ทำทัศนกิจ แต่รับรู้อารมณ์นั้นต่อจากจิตเห็น ไม่ให้มีสัมปฏิจฉันนะได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเรียกจิตนั้นว่าสัมปฏิจฉันนจิตเพราะทำสัมปฏิจฉันนกิจ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

    อ.ธิดารัตน์ เป็นสันตีรณจิต สันตีรณะก็คือพิจารณาอารมณ์ คือพิจารณาสิ่งที่จักขุวิญญาณเห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ สันตีรณะจิตเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะจิต เป็นกุศล หรืออกุศล หรือยัง

    อ.ธิดารัตน์ สันตีรณจิตนี้ก็เรียกชื่อจิตตามกิจคือสันตีรณกิจ คือพิจารณาอารมณ์ ถ้าหากว่าอารมณ์ที่มากระทบเป็นผลของกรรมที่ไม่ดี เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี สันตีรณะก็จะต้องเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเกิดเป็นอารมณ์ที่ดี เกิดจากผลของกรรมที่ดี สันตีรณะก็จะเป็นกุศลวิบากตามอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องเกิดใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดก็แสดงว่ายังมีกิเลสอยู่ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมหนึ่งกรรมใดทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมก็ไม่ได้ทำให้สิ้นสุดไปเพียงปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียว กรรมนั้น กรรมเดียวกันนั้นก็ยังทำให้จิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิต แต่พอถึงเวลาที่จะรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด วิถีจิตแรกไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนจิต และปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต เพราะเหตุว่าเพียงรำพึงถึง หรือนึกถึงอารมณ์ที่ปรากฏ เมื่อดับไปแล้วสำหรับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเห็นได้ว่ากรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดเพื่อเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นรับผลของกรรม เพราะฉะนั้นเห็นก็ต้องมี ๒ ขณะที่ต่างกัน เห็นสิ่งที่น่าพอใจ สีสันวัณณะที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นจิตเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผล ยับยั้งไม่ได้ แล้วแต่ว่าวาระไหนกรรมใดจะให้ผล ถ้าเป็นทางหู เสียงก็มีทั้งเสียงที่น่าพอใจ และเสียงที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น เวลากรรมจะให้ผลให้ได้ยิน ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ จิตที่ได้ยินเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ จิตที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทางจมูกกลิ่นก็มีหลายกลิ่น บางกลิ่นก็ต้องรีบผ่านๆ ไปใช้อะไรอุดจมูก หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะที่ได้กลิ่นที่ไม่ดีขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรมที่จะทำให้ได้กลิ่นอย่างนั้น ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน ทางกายก็เช่นเดียวกันคือขณะใดที่ทางกายรู้สึกเป็นทุกข์ เจ็บปวด คัน เมื่อย หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งต้องอาศัยกายปสาท ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้กายวิญญาณ คือจิตที่รู้สิ่งที่กระทบกายเป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้น ไม่มีใครต้องการแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วันไหนก็ไม่รู้ จะมาก หรือจะน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้นวิบากทั้งหมดเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว หลังจากปัญจทวาราวัชชนแล้ว จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบากทั้งหมดทั้ง ๕ ทวาร และเมื่อจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะก็เกิดต่อ เป็นผลของกรรมที่ทำให้ไม่ใช่เพียงแค่เห็น ยังต้องรับอารมณ์นั้นต่อไปในเมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ แค่เห็นเป็นอะไร หรือไม่ ไม่ได้เกิดทุกข์อะไรเพียงแค่เห็น ถ้าจะทราบต่อไปว่าเวทนาความรู้สึกที่เกิดพร้อมจิตเห็นคืออุเบกขา จะเห็นอะไรก็ตามแต่เป็นอุเบกขา ได้กลิ่นอะไรก็เป็นอทุกขมสุข ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไรก็เป็นอทุกขมสุข ทั้ง ๔ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น ทั้งหมด จิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมเป็นวิบาก และเกิดร่วมกับความรู้สึกที่เป็นอทุกขมสุข แต่สำหรับทางกายต้องเป็นหนึ่งใน ๒ คือเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นผลของกรรม และเมื่อสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ เพราะเหตุว่ากรรมไม่ได้ทำให้ได้แค่เห็นแค่ได้ยิน ต้องให้มีจิตที่เป็นวิบากเกิดรับอารมณ์นั้นด้วย และทำให้เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว ทำให้สันตีรณะเกิดขึ้นมีอารมณ์เดียวกันเป็นวิบากที่ต้องพิจารณา หรือรู้อารมณ์ขณะนั้นต่อจาก สัมปฏิจฉันนะ นี้คือหมดเรื่องของวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กายก่อน แต่อาจจะมีวิบากเล็กๆ ตามมาทีหลังก็ได้ แต่ว่าตอนนี้เพียงให้ทราบว่า จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเป็นวิบากทั้งหมดที่กรรมทำให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เวทนาที่เกิดที่สัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะเป็นเวทนาประเภทเดียว กับที่เกิดที่ทวิปัญจวิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็เกินขอบเขตมาเล็กน้อย เพราะว่าเรากำลังพูดถึงวิบากยังไม่ได้พูดถึงเรื่องจิตที่ประกอบด้วยเวทนาว่าจิตอะไร มีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย เพียงแต่ให้ทราบคร่าวๆ ไปก่อนว่า สำหรับตาขณะที่เห็นไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดีขณะนั้นก็เกิดร่วมกับอทุกขมสุขอุเบกขาเวทนา ไม่เดือดร้อน

    ผู้ฟัง แล้วก็ทางกายมีเดือดร้อนกับไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ มีสุข หรือทุกข์เท่านั้น

    ผู้ฟัง ไม่มีอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ไม่เชื่อ หรืออย่างไร หรือสงสัย

    ผู้ฟัง ถ้าเราปกติอยู่ห้องเฉยๆ หรือนั่งเฉยๆ มันก็เหมือนกับเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์อะไร

    ท่านอาจารย์ เหมือน แต่ความจริงขณะใดที่กายวิญญาณเกิด ถ้าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะคือปัญญาถึงระดับขั้นที่จะรู้จริงๆ จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ หรือสุข ไม่ว่าจะบาง หรือเล็กน้อยสักแค่ไหน ผมเส้นหนึ่งที่ปรกหน้าผาก เส้นเดียวเล็กๆ รำคาญไหม ถ้าสบายจะรำคาญ หรือ

    ผู้ฟัง ไม่รำคาญ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้เล็กน้อยนิดหน่อยแต่ถ้ากระทบกาย และสามารถที่จะรู้จริงๆ ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่าสุข หรือทุกข์ เกิดร่วมกับกายวิญญาณที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย

    ผู้ฟัง ปกติจิตจะอยู่กับทางคิดนึก หรือทางเห็นทางได้ยินมากกว่าที่จะเกิดกับทางกายวิญญาณก็เลยไม่ได้สังเกตตรงจุดนั้น

    ท่านอาจารย์ ที่ไม่รู้สึกก็เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แค่รู้แล้วก็ดับไปแล้วก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นรำคาญเมื่อไร ขณะนั้นก็คือกายวิญญาณกำลังมีความรู้สึกที่เป็นทุกข์

    อ.ธิดารัตน์ เคยสนทนากันกับสหายธรรมพูดถึงเรื่องจิตเห็น เขาก็สงสัยว่าเวลาเห็นจะเห็นทีละสี หรือไม่ และเวลาที่ว่าสีหนึ่งจะต้องดับไปก่อนอีกสีหนึ่งเกิดขึ้น หรือไม่ ก็อยากเรียนถามท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ เรียนธรรมเพื่อเข้าใจ หรือเพื่อสงสัย

    อ.ธิดารัตน์ เพื่อเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เข้าใจอย่างนี้ได้ หรือไม่ เท่านั้นเองเพื่อให้สละความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏโดยรูปร่าง สัณฐาน โดยความจำ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลจะเห็นกี่สี กี่วาระ เมื่อไร จุดไหนค่อยๆ โตขึ้น เห็นตรงนี้ ไม่เห็นตรงนั้น หรืออะไร แต่ให้ทราบว่าแม้แต่เพียงขณะนี้ที่จะให้มีความเข้าใจตรงว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อที่จะละคลายความยึดมั่นในนิมิตอนุพยัญชนะ นี่เป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่ว่าเราเรียนแล้วเราไปสงสัย ขณะนี้เห็นตรงตาดำ แล้วไปเห็นตรงหู แล้วไปเห็นตรงปาก ตรงพื้นอะไร ก็นั่งคิดนั่งสงสัยไป แต่ว่าการที่เราสามารถจะเข้าใจธรรมที่ไม่สงสัยก็คือให้สามารถรู้ความต่างกันของลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม และอีกประการหนึ่งทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังจากพระไตรปิฎก อรรถกถา หรือจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นความรู้ความเข้าใจของเราจริงๆ หรือยัง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หรือเพียงฟังมา อย่างเรื่องของนามธรรมกับรูปธรรม รูปธรรมก็ได้แก่รูปทุกๆ รูป ไม่ว่าจะเกิดแล้วดับไปก็จะเปลี่ยนเป็นนามธรรมไม่ได้ เป็นสัญญา เป็นสังขารเป็นอะไรไม่ได้ ต้องเป็นรูปจึงเป็นรูปขันธ์ ในส่วนของรูป ไม่ใช่พอเราเริ่มจะเจริญสติปัฏฐาน คนนี้จะเจริญการรู้รูปขันธ์ คนนั้นอายตนะ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะรู้จักขันธ์เมื่อไร หรือว่าจะรู้จักธรรมเมื่อไร หรือว่าจะรู้จักลักษณะของนามธรรมเมื่อไร จะรู้ลักษณะของรูปธรรมเมื่อไร เพียงแต่ฟัง และก็เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะนั้นรู้แล้ว เพียงแต่ว่าฟังแล้วก็รู้ว่ายังไม่รู้อะไรตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพียงแต่ฟังเรื่องราวของธรรม และก็เริ่มเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ยังไม่รู้จักตัวจริง เพราะฉะนั้นแม้จะได้ยินได้ฟังบ่อยตลอดไปด้วย ในพระไตรปิฎกจะเต็มไปด้วยคำว่ารูปารมณ์ จิตเห็น จักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ พออ่านแล้วเหมือนรู้แล้ว ทำไมซ้ำ ทั้งพระไตรปิฎกก็มีจักขุวิญญาณ รูปารมณ์ โสตวิญญาณ สัทธารมณ์ ก็เพราะเหตุว่ายังไม่รู้จึงต้องซ้ำให้รู้จนกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสภาพปรมัตถธรรมจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ฟังแล้วใจก็เริ่มที่จะคล้อย เริ่มที่จะเข้าใจแค่ไหน จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ก็ไม่ต้องเปลี่ยนไปไหนเลย ไม่ต้องหันซ้ายหันขวาไปที่อื่น แต่สิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องชี้ไปไกลๆ ด้วย สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเสียง กลิ่น รส แต่สิ่งนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ ไปทีละน้อยจนกว่าความรู้ของเราจะสามารถรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม แต่อย่าเรียนไปเพื่อสงสัย อย่าเรียนไปเพื่ออยากจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรปฏิสัมภิทามรรคว่าอย่างนั้น แล้วเรารู้อะไร นั่นคือปัญญาของท่านเหล่านั้น แต่ปัญญาของเรา อย่าลืม มหาสมุทรกว้างใหญ่แล้วเราก็กำลังยืนอยู่ริมขอบฝั่งมหาสมุทร แล้วเราจะรู้อะไรได้มากน้อยต้องเป็นความรู้จริงๆ ได้ยินคำว่า นามธรรม รูปธรรม อย่างที่ทุกคนก็อาจจะเคยพูดภาษาบาลีคล่องแคล่ว แต่พอถึงชาตินี้ไม่รู้ ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราสามารถเข้าใจธรรม แล้วก็สามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม เพียงได้ฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ไม่ว่าในภาษาใดๆ ไม่ใช่ให้เราไปฟังเพียงชื่อ จำเพียงชื่อ แต่ไตร่ตรอง แล้วก็เริ่มเข้าใจ นั่นคือการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ ไม่อย่างนั้นชาติหนึ่งเราก็จะเสียไปในเรื่องของการจำชื่อภาษาไทย พอถึงเกิดอีก ใช้ภาษาอะไรก็ไม่รู้ ที่เคยจำหมดไว้หายหมด

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายขณะที่รูปกระทบกับภวังคุปัจเฉทะกับขณะที่รูปกระทบกับปัญจทวาราวัชชนจิตว่าต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รูปไม่ได้ต่างเลย รูปเดียวที่ยังไม่ดับ แต่จิตที่อาศัยทวารเกิดสืบต่อเป็นวิถีจิตต่างๆ กัน เพราะว่าจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะแล้วก็ดับไป เมื่อทำกิจนั้นเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องมีใครมาทำกิจนั้นอีก ถ้าเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ซึ่งความจริงเราก็ค่อยๆ มาทีละขณะๆ หรือแม้แต่เมื่อสักครู่นี้ที่ถามว่า เวลาที่เราใช้คำว่าปัญจทวาราวัชชนะ จะรู้ได้ หรือไม่ว่าทางไหน แต่เวลาใช้คำว่า “จักขุทวาราวัชชนะ” จึงรู้ว่าหมายความว่ารูปกระทบกับทางตา เพราะฉะนั้นการที่จะเรียกชื่อจิตไม่ใช่ให้งง ไม่ใช่ให้ยาว ไม่ใช่ให้มาก แต่เพื่อความแจ่มแจ้ง และด้วยเหตุผล ที่กล่าวถึงประเภทของจิตก็คือหนึ่งประเภท ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิตหนึ่งขณะ หรือหนึ่งประเภทที่สามารถจะรำพึงถึงอารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร จึงเรียกรวมว่าปัญจทวาราวัชชนะ ให้ทราบว่าไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็คือจิตนี้ จึงเป็นปัญจทวาราวัชชนะ แต่ที่จะให้รู้ว่าแล้วทวารไหน ก็ต้องเรียกตามทวารว่าจักขุทวาราวัชชนะ หมายความว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออารมณ์นั้นกำลังกระทบกับปสาทรูป หรือถ้ากล่าวว่าโสตทวาราวัชชนะ ไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่หมายความถึงเสียงกระทบกับโสตปสาท เรียกว่าโสตทวาราวัชชนะเพื่อให้รู้ว่าทางทวารไหน เท่านั้น แต่ถ้าโดยประเภทของจิตคือปัญจทวาราวัชชนะ เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรม ก็ต้องเข้าใจว่าเรียกอย่างนั้นเพราะอะไร เพื่อให้เข้าใจขึ้น ขณะที่เรียกรวมไม่รู้ว่าทวารไหน แต่ถ้าแยกก็หมายความว่ารู้ทางทวารนั้นๆ

    ผู้ฟัง เรากำลังเรียนเรื่องกิจของจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ กำลังพูดถึงชาติของจิต และก็มีส่วนประกอบคือพวกนี้ แต่ว่ายังไม่ได้เรียนจริงๆ แต่ว่าเมื่อกล่าวถึงกล่าวถึงได้ เช่น ปัญจทวาราวัชชนะ เรากล่าวถึงกิจได้เลยว่าไม่ได้ทำภวังคกิจ จิตนี้เกิดขึ้นไม่ใช่ภวังค์เพราะไม่ได้ทำภวังคกิจ เป็นกิริยาจิตชาติกิริยา ซึ่งเราเน้นว่าชาติของจิตมี ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ แต่คนส่วนใหญ่จะชินกับคำว่ากุศล อกุศล เมื่อเริ่มเรียนจะได้ยินคำว่าวิบากก็พอที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นผลของกุศล และอกุศล แต่เมื่อกล่าวถึงกิริยา เข้าใจคำนี้ว่าเป็นกิริยาจิตในขณะไหน เมื่อไร จึงกล่าวถึงจิตซึ่งเป็นชาติของกิริยา ๒ ขณะ ๒ ประเภทก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ คือภวังค์ขณะสุดท้ายของกระแสภวังค์เป็นชาติกิริยา เพราะเหตุว่าก่อนนั้นเป็นวิบาก กำลังเป็นภวังค์เป็นวิบาก ปฏิสนธิจิตก็เป็นวิบากเป็นผลของกรรม ภวังคจิตสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นก็เป็นผลของกรรม ยังไม่มีการรับรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด แต่ไม่ใช่เกิดมาเพียงแค่เป็นแบบนี้ แต่ต้องรับผลของกรรมทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นวิบากอย่างอื่นมี ไม่ใช่แต่วิบากที่ทำให้เป็นคนนี้ และก็ดำรงความเป็นคนนี้โดยไม่รู้ ไม่เห็น ไม่อะไรทั้งนั้น นั่นไม่ใช่การรับผลของกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจะรับผลของกรรม กรรมก็ทำให้เกิดรูป ปสาทรูปที่สามารถกระทบกับรูปอื่นๆ เช่นกรรมทำให้มีจักขุปสาทรูป รูปที่สามารถกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จึงเห็น เพราะฉะนั้นที่เห็นเป็นผลของกรรม ต้องเห็น อย่าคิดว่าเราอยากเห็น เราเกิดมาแล้วเราต้องเห็น แต่เพราะไม่รู้ความจริงเลยชอบเห็น แต่จริงๆ แล้วต้องเห็น บังคับให้ไม่ให้เห็นไม่ได้ แต่การที่จะเป็นวิบากอื่นเกิดขึ้นต่อจากภวังคจิตทันทีไม่ได้ เพราะกำลังป็นภวังค์ดำรงภพชาติด้วยเหตุคือกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ ไม่ใช่ด้วยเหตุของกรรมที่จะทำให้เห็นสิ่งอื่น หรืออาจจะเป็นกรรมที่ทำให้ปฏิสนธินั้นทำให้เกิดการเห็นด้วย การได้ยินด้วยก็ได้ ก็เป็นสิ่งซึ่งผู้ที่จะรู้แจ้งเรื่องกรรม และผลของกรรมคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะแม้ขณะที่กำลังเห็น ใครจะมาสามารถรู้ว่าเป็นผลของกรรมในชาติไหน และกรรมอะไร แต่ทราบได้ว่าเป็นผลของกรรมจึงต้องเห็น

    เพราะฉะนั้นความรู้ความสามารถของเราที่จะเข้าใจพระธรรม อย่าข้ามไปถึงสิ่งที่เรารู้ไม่ได้แล้วก็สงสัย ไม่มีประโยชน์ แต่แม้สิ่งที่มีอยู่นี้ ถ้าเข้าใจขึ้นๆ ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าความรวดเร็วของจิตไม่มีใครที่จะยับยั้งได้เลย และก่อนที่กรรมจะให้ผลทางตาคือให้จิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อนทำอาวัชชนกิจยังไม่ทันเห็น เพราะเหตุว่าเพียงแต่จากภวังค์ซึ่งไม่รู้สึกตัวเลย ไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ แล้วรู้ว่ามีอารมณ์กระทบนั่นคือเริ่มเป็นวิถีจิตแรกซึ่งไม่ใช่ภวังค์ และจิตที่เป็นวิถีจิตแรกคือ ถ้าเป็นทาง ๕ ทวารก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วก็กล่าวถึงกิจรวมไปด้วยเพื่อให้เข้าใจ เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าไม่ต้องไปคอยจนถึงเวลาที่เราจะพูดเรื่องกิจ แม้ในขณะนี้ก็ให้ค่อยๆ คุ้นเคยไป หมายความว่าค่อยๆ เข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีปัจจัย อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ถ้าไม่มีธรรมจะมีอะไรมาเป็นปัจจัย แต่ธรรมอะไรเป็นปัจจัยแก่ธรรมอะไรโดยสถานใด หรือโดยฐานะใด แม้ในหนึ่งขณะจิตที่เห็นก็ต้องมีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย มิฉะนั้น ก็เห็นไม่ได้ ต้องมีอารมณ์คือสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับจิตเห็น โดยฐานะที่เป็นอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่มีกิจมี หรือไม่ ไม่มี ปฏิสนธิจิตมีกิจ หรือไม่ มี กิจอะไร

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิกิจ

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเรื่องจิตนั้นไม่มีทางที่จะจบได้ เพราะเหตุว่าจิตมีอยู่ทุกขณะ ตราบใดที่จิตซึ่งกำลังมีในขณะนี้ เรายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งตามที่ได้ฟัง การฟังบ่อยๆ ก็เพื่อที่จะเตือนให้ทราบว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นจริงตามที่ได้กล่าวถึง แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมไม่ใช่ไปรู้เพียงชื่อต่างๆ เช่นที่กล่าวแล้วว่าเป็นปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ แต่ให้ทราบว่าที่ทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียดก็เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาอย่างมั่นคง และรู้ว่าปัญญาก็คือสภาพธรรมที่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งสภาพนามธรรมสำคัญมาก เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นสุขทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นชีวิตก็เป็นเรื่องของสภาพนามธรรม ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ซึ่งไม่ได้ปราศจากรูปเลย แต่ถ้าไม่มีนามธรรมเกิดขึ้น รูปใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น แม้ในขณะนี้ ก็ย้ำเวลาที่พูดถึงจิตขณะไหน ก็ให้ทราบว่าเดี๋ยวนี้กำลังมีจิต และจิตนั้นเป็นจิตประเภทใดใน ๘๙ ประเภท การที่เราจะรู้เรื่องจิต ก็โดยนัยต่างๆ นัยหนึ่งซึ่งเป็นนัยแรกก็คือรู้ว่าจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะเป็นชาติอะไร ถ้าสามารถที่จะตอบได้ ก็หมายความว่าเราเริ่มที่จะเข้าใจ ความเป็นไปของจิตในวันหนึ่งๆ เช่นในขณะนี้กำลังเห็นเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก จิตเห็นขณะนี้เป็นวิบาก แล้วจิตที่คิดเป็นวิบาก หรือไม่ เป็นกุศล หรืออกุศลไม่ใช่วิบาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ