พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27


    ตอนที่ ๒๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ คำว่า “ปสาท” หมายความถึงรูปที่มีลักษณะใสพิเศษ สามารถกระทบอารมณ์ เช่นจักขุปสาทไม่มีใครมองเห็น แต่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา หทยวัตถุไม่ใช่ปสาทรูป ไม่สามารถที่จะกระทบกับสี เสียง กลิ่น รส ใดๆ ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปที่มีลักษณะพิเศษที่จะกระทบ ในบรรดารูปทั้งหมดที่ร่างกายของเรา มีรูปที่เป็นปสาทที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถจะกระทบกับรูป สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เพียง ๕ รูป ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีปสาทรูปจึงไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่กระทบสัมผัสแต่เมื่อไม่มีกายปสาทรูปก็ไม่มีจิตที่เกิดขึ้นรู้ ฉันใด หทยรูปไม่ใช่ปสาทรูปจึงไม่สามารถจะกระทบกับรูปหนึ่งรูปใดได้นอกจากเป็นที่เกิดของจิตเท่านั้น

    ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตอาศัยเกิดที่หทยวัตถุ แต่เวลาจะเกิดต้องอาศัยปัญจทวาร ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเกิดได้ ถ้าไม่มีอารมณ์กระทบ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่จิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิด ก็ต้องมีปัจจัยที่เหมาะสมแต่ละขณะด้วย

    ผู้ฟัง หมายถึงที่เกิดก็อย่างหนึ่ง ทางรู้อารมณ์ก็อีกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิต ต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ถ้าจิตนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ก็ต้องเป็นภวังค์ดำรงภพชาติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องแยกคำ "วัตถุที่เกิด" กับ "ทวาร"

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าได้ยินคำว่าภวังคจลนะ เริ่มแล้วที่จะไม่ใชภวังค์ที่จะรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ พอได้ยินคำว่าภวังค์คุปัจเฉทะ รู้แน่นอนได้ว่าภวังค์จะเกิดต่อไปไม่ได้ ต่อจากนั้นต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์อื่นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แต่ถ้าได้ยินคำว่ามโนทวาราวัชชนะต้องเป็นทางใจทางเดียว จะไปเป็นทางอื่นไม่ได้ หรือเวลาที่เป็นชวนะแรกของทุกภพทุกชาติไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ไม่ใช่โมหะมูลจิต ต้องเป็นโลภมูลจิต ติดข้องทันที เพียงแค่รู้สึกตัวทางใจเกิดรู้ขึ้นมาเมื่อไร ก็คือพอใจยินดีในภพนั้น ในความเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้

    ผู้ฟัง น่ากลุ้มใจ น่าเสียใจ มีจิตแต่ไม่รู้จักจิตเลย ไปไหนก็ไปด้วยจิต

    ท่านอาจารย์ ก็ศึกษา ก็เกิดปัญญา ก็สะสมความรู้ความเห็นถูก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็เป็นไปในทางฝ่ายอกุศลมาก เพราะว่าไม่มีปัญญาจะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควรเจริญ ควรอบรม แต่ทราบแล้วว่าหลังจากมโนทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว ในทุกชาติที่เกิดขึ้น วิถีจิตแรกต้องเป็นทางใจ และต้องเป็นโลภมูลจิตด้วย ถ้าเกิดอีกก็เป็นอย่างนี้ อีก คือ หลังจากที่เป็นภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนจิต แล้วก็เป็นโลภมูลจิตก่อนอกุศลประเภทอื่น

    ผู้ฟัง แม้แต่รูปพรหม หรืออรูปพรหมก็ยังเป็นโลภะ หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่เว้น น่ากลัวไหม โลภะตามสนิท คืนนี้ก่อนจะหลับคิดถึงอะไร ถ้าไม่โกรธใคร ยังไม่ขุ่นเคืองผูกไว้ ส่วนใหญ่จะคิดถึงอะไร เป็นโลภะ ตื่นมาก็อีกแล้ว วันหนึ่งๆ มีเท่าไร แล้วจะไปหมดกิเลสรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมนั้นไม่ได้ ต้องรู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง วันก่อนที่คุณวรศักดิ์บอกว่าเหมือนกับเราบังคับจิตได้ ก็ดูทางโลกเหมือนกับบังคับเขาได้ เขาเรียนหมอก็สำเร็จ เรียนวิชาอะไรก็สำเร็จ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมแล้ว ถามได้ง่ายคำเดียวว่าจิตไหนบังคับอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ ก็นึกถึงคำถามของคุณวรศักดิ์ที่ว่าชาวโลกเหมือนบังคับจิตได้ เหมือนบังคับให้ไปออกศึก ให้ไปทำสงคราม

    ท่านอาจารย์ จิตหนึ่งขณะเกิดแล้วก็ดับ ใครบังคับจิตนั้นได้ ที่เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปอีกก็จะได้รู้ว่าจิตแต่ละประเภททำกิจอะไร เช่น ปฏิสนธิจิตโดยชาติเป็นวิบาก โดยกิจทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน หมายความว่าจิตใดก็ตามซึ่งเกิดต่อจากจุติจิต จิตนั้นต้องทำปฏิสนธิกิจคือทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แล้วเวลาที่ใช้คำว่าภวังค์ก็หมายความว่าจิต หรือมโนทำภวังคกิจคือดำรงภพชาติ อย่างไร คือยังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่คิดนึก ยังไม่ตายด้วย ตายไม่ได้ต้องเป็นอย่างนี้ เพื่อที่จิตซึ่งเป็นผลของกรรมจะเกิดขึ้นรับผลของกรรม คือเห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย พวกนี้เป็นผลของกรรม ต้องได้รับผลของกรรมอื่น ไม่ใช่เกิดมาเป็นภวังค์แล้วก็ตาย กรรมให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นก็จะทราบว่าขณะใดที่ได้ยินคำว่าภวังค์เป็นกิจของจิตซึ่งดำรงภพชาติ แต่พอได้ยินคำว่ามโนทวาราวัชชนจิต จะเป็นภวังค์ไม่ได้แล้ว แต่เป็นวิถีจิตแรกทางใจ เพราะว่าวิถีจิตหมายความว่าเปลี่ยนสภาพจากภวังคจิตเป็นจิตที่ทำหน้าที่อื่นๆ ทางทวารอื่นๆ เพราะว่าปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เกิด และทำหน้าที่โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ต้องทราบความต่างกันของคำว่าวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถี จิตที่ไม่ใช่วิถีก็ไม่อาศัยทวาร ๖ ทวาร แต่ว่าเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงมโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ได้ทำกิจดำรงภพชาติ แต่ทำอาวัชชนกิจ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ

    ผู้ฟัง อารมณ์อะไรกระทบขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ใครทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็คืออารมณ์นั้น คิดเรื่องอะไร เหมือนกัน หรือไม่ ขณะนี้ ต่อไปจะทราบว่ามโนทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ได้กว้างขวางเยอะแยะ รู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง มโนทวาราวัชชนจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็ได้ แต่ไม่ใช่โลกุตตระจิต ทำกิจต่างกัน

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเป็นวิถีจิตแรก

    ท่านอาจารย์ วิถีจิตแรกทาง ๕ ทาง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ประเภท รู้ได้ ๕ อารมณ์ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ประเภท รู้ได้เฉพาะทางใจ เป็นวิถีจิตแรกทางใจ ส่วนปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร แต่เกิดทีละทาง จักขุทวาราวชนคือวิถีจิตแรกทางตา โสตทวาราวัชชนจิตก็คือวิถีจิตแรกทางหู แต่เรียกรวมเพราะเหตุว่าจิตนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ ทวาร จึงเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิตทำอาวชนกิจ

    ผู้ฟัง วิถีจิตแรกหลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิด อารมณ์นั้นคืออะไรก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ อารมณ์ของปฏิสนธิจิตจะเป็นอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติจิตของชาติก่อน ชาติก่อนคุณวรศักดิ์อยู่ตรงไหนตอนที่จะสิ้นชีวิต

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบใช่ไหม จะรู้ไหม สถานที่ยังไม่รู้เลย แล้วก็อารมณ์อะไรก่อนจะจุติก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิต มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เหมือนกันเลย อารมณ์เดียวกันเลย เหมือนตราที่เราประทับลงไป ตรากับที่ประทับลงบนกระดาษกับตัวตราก็มีลักษณะเหมือนกัน ฉันใด อารมณ์ของปฏิสนธิจิตก็เป็นอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ทำให้คนนี้ปฏิสนธิจิตด้วยจิตประเภทนี้ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย มีความรู้สึกอุเบกขา หรือโสมนัสเกิดร่วมด้วยก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้นจะไปรู้อารมณ์ที่ไม่ได้อาศัยทวารเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็มีกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แล้วภวังคจิตก็เกิดสืบต่อแล้วดับจนกว่าจะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ก็เป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง แล้วอารมณ์จุติจิตคนละอารมณ์กับปฏิสนธิจิต

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต จุติจิตก็มีอารมณ์เดียวกับภวังคจิต เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต มีอารมณ์เดียวกัน

    ผู้ฟัง แล้วปฏิสนธิจิตจะมีอารมณ์เดียวกับอารมณ์อะไร

    ท่านอาจารย์ ใกล้จุติจิตของชาติก่อน และเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว ภวังคจิตก็เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต กรรมไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียว ให้ผลแค่นี้พอ หรือ ให้อยู่ต่อไปอีก อยู่ต่อไปอีกทำไม เห็นอีก ได้ยินอีก ตามกรรมว่าเป็นผลของกุศลกรรม หรือว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ที่เราอยู่ทุกวันนี้หลีกเลี่ยงที่จะเป็นผลของกรรมไม่ได้เลย ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้

    ผู้ฟัง อารมณ์ของปฏิสนธิจิตกับอารมณ์ของภวังคจิตเป็นอารมณ์เดียว กันกับอารมณ์ของจิตใกล้จุติของชาติก่อน และเป็นอารมณ์เดียวกับจุติจิตด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต เป็นจิตชาติเดียวกัน เกิดจากกรรมเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน เป็นผลของกรรมเดียวกัน

    ผู้ฟัง แล้ววิถีจิตทางมโนทวารต่อจากภวังคุปัจเฉทะ อารมณ์นั้นจะเป็นปรมัตถ์ก็ได้ หรือเป็นบัญญัติก็ได้

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงว่าเวลานี้เราพูดถึงจิต ๒ ประเภท จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตหลังจากปฏิสนธิแล้วก็เป็นภวังค์ ยังไม่จุติ ขณะนั้นไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด แต่เวลาที่จะรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ต้องอาศัยทวาร เพราะฉะนั้นจึงเป็นวิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภวังคจิตอีกต่อไป

    ผู้ฟัง อารมณ์อะไรก็ได้ทุกอย่าง หรือ

    ท่านอาจารย์ อารมณ์อะไรก็ได้ ถ้าเป็นทางตา อารมณ์อะไรก็ได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องเฉพาะรูปารมณ์ ถ้าเป็นทางหู อารมณ์อะไรก็ได้ หรือไม่ ถ้าอาศัยโสตปสาทจะรู้อารมณ์อะไรก็ได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องเป็นเสียง ถ้าอาศัยจมูกจะรู้อารมณ์อะไรก็ได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องรู้กลิ่น นี่เป็นรูปพิเศษเฉพาะที่จะกระทบได้แต่ละทาง

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นมโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อาศัย ๕ ทวารเลย สิ่งที่สะสมมา เวลาเราเกิดคิดนึกอะไรขึ้นมา ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ผู้ฟัง จะเป็นรูปารมณ์ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ได้ทุกอย่างแต่ต้องรู้ว่าต่อจากจักขุทวารถ้าเป็นรูปารมณ์ ถ้าเป็นเสียงก็ได้แต่ต้องต่อจากโสตทวาร นี่เป็นเรื่องภายหลัง เรื่องแรกก็คือต้องทราบเรื่องชาติของจิต และก็ต้องทราบจิตที่เป็นวิถี กับจิตที่ไม่ใช่วิถี

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งวิถีจิตแรกที่เกิดในชาตินี้ อารมณ์จะเป็นรูปารมณ์ เป็นเสียง เป็นกลิ่น

    ท่านอาจารย์ นานแล้ว ก็จะกลับไปรู้วาระแรกเป็นอารมณ์อะไรได้ หรือ แต่ให้ทราบว่ามโนทวารเป็นวาระแรก และก็เป็นโลภมูลจิต ความติดข้อง เพราะเวลานี้เราก็ติดข้อง ใครไม่ติดข้องในภพ ในภาวะ ในความเป็น มีบุคคลเดียวคือพระอรหันต์ พระโสดาบันก็ยังมีความติดข้องในความมี ความเป็น ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อเป็นพระอนาคามีไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ยังมีความติดข้องในภาวะ ในภพ ในความมีความเป็น จนกว่าจะถึงอรหัตตมรรคจึงจะดับได้

    ผู้ฟัง ขณะที่นอนหลับสนิทขณะนั้นเป็นภวังคจิตซึ่งแตกต่างจากขณะที่สลบ ซึ่งเคยได้ยินอาจารย์กล่าวในเทปว่าในขณะที่สลบมาถึงวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่าขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดทั้งสิ้นทั้งหกทางเป็นภวังค์ แต่ถ้ารู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดไม่ใช่ภวังค์

    ผู้ฟัง แสดงว่าขณะสลบก็ยังสามารถรู้อารมณ์ทางใจอยู่ ...

    ท่านอาจารย์ รู้อารมณ์ทางไหน หรือไม่

    ผู้ถาม ทางใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ภวังค์

    ผู้ฟัง ขณะที่หลับสนิทเป็นภวังคจิตจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปใดๆ

    ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท ลุกไปทำอะไรได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แล้วขณะที่พลิกตัวไปมา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นหลับสนิท หรือไม่ เป็นภวังคจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ภวังคจิตขณะใกล้จะตาย คงจะต้องเปลี่ยนไปแล้วเพราะว่า ...

    ท่านอาจารย์ ภวังค์ไม่เปลี่ยน ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นตลอดชาติหนึ่งๆ เปลี่ยนไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เปลี่ยน คนที่เกิดมาแล้วไม่ฉลาดก็ต้องไม่ฉลาดต่อไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ชาติหน้าฉลาดขึ้นมีปัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตได้ แต่ชาตินี้ที่เกิดมาไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็สะสมสำหรับชาติหน้าที่ปัญญาเจตสิกจะเกิดกับปฏิสนธิจิตได้

    ผู้ฟัง ในระหว่างช่วงจากปฏิสนธิถึงจุติจิต ภวังคจิตยังไม่เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องห่วงว่าอะไรจะหายไป ถ้ามีความเข้าใจในขณะที่กำลังฟัง ดับไปก็สะสมสืบต่อทั้งในชาตินี้ และในชาติต่อไปด้วย ทุกอย่างไม่ได้สูญหาย ดับไปแล้วแต่สะสมอยู่โดยความเป็นปัจจัยเพราะว่านามธรรมไม่มีรูปร่าง แม้แต่ขณะนี้ซึ่งยังไม่ดับก็ไม่มีรูปร่าง ไม่ว่าจะเป็นเจตนา ไม่ว่าจะเป็นศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นหิริโอตตัปปะก็ไม่มีรูปร่างเลย เมื่อเกิดแล้วดับจริงแต่ว่าสะสมสืบต่อโดยอนันตรปัจจัย และถ้าเป็นวาระอื่นก็จะเป็นปัจจัยอื่นด้วย

    เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นเลย ละเอียดมาก ผู้ที่จะทรงแสดงคือผู้ที่ตรัสรู้โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นกว่าเราจะเข้าใจถึงแม้แต่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต ก็จะต้องอาศัยที่ทรงแสดง เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าภวังคจิตในชาติหนึ่งเป็นจิตประเภทใดก็เป็นจิตประเภทนั้น เกิดเป็นไก่เป็นผลของกรรมอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบากได้ไหม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากเกิด อะไรตาย ไก่ตัวนั้นตาย หรือนกตายแทน เกิดมาด้วยจิตอะไร จุติจิตก็คือจิตขณะสุดท้ายประเภทนั้นนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น เมื่อจิตนั้นดับ จิตทุกขณะเกิดดับสืบต่อสะสม ขณะที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างก็คือการสะสมสืบต่อที่จะทำให้วิบากข้างหน้าเกิดขึ้น และกุศลจิต อกุศลจิตก็เกิดขึ้นมากน้อยตามการสะสม

    ม้ากัณฐกะเกิดเป็นม้า พอจุติจิตเกิดแล้วเป็นเทวดาเพราะกุศลกรรมทำให้ปฏิสนธิเป็นเทพ แต่ตอนที่เกิดเป็นม้าเพราะอกุศลกรรม แต่ว่าในภพหนึ่งชาติหนึ่งวิถีวาระแรกต้องเป็นทางมโนทวารจะเป็นทวารอื่นยังไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วก่อนที่จะมีอะไรมากระทบ เพราะว่ากายปสาทก็มีแล้ว ตั้งแต่ปฏิสนธิก็มีกลาปซึ่งเป็นกายปสาท แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้เกิดก่อน ต้องเป็นมโนทวารวิถีเกิดก่อน โดยที่วิถีจิตแรกที่ไม่ควรจะลืมเลยก็คือมโนทวารวชนจิต

    เพราะฉะนั้น วันนี้ให้ทราบความหมายคำว่า "มโน" "มโนทวาร " "มโนทวารวิถี" และ "มโนทวารวัชชนจิต" ว่าต่างกัน คือ "มโน" ได้แก่ จิตทุกดวง "มโนทวาร"ได้แก่จิตที่เป็นภวังค์ขณะสุดท้ายเพราะเป็นทวารที่จะให้จิตที่เป็นวิถีที่คิดนึกทางใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น"มโนทวาร"กับ"มโนทวาราวัชชนะ"ไม่ใช่จิตเดียวกัน มโนทวารต้องเป็นภวังคจิตสุดท้ายคือภวังคุปัจเฉทะ ส่วนวิถีจิตแรกคือมโนทวาราวัชชนะ แล้วต่อจากนั้นค่อยกล่าวภายหลัง แต่ที่กล่าวไปแล้วก็คือโลภะ

    ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนจะได้ยินคำว่า “ชวนะ”บ่อยๆ แต่คนใหม่ ชวนะอะไร เขียนอย่างไร

    กล่าวแล้วว่าเราเรียกชื่อจิตได้หลายอย่าง คือเรียกโดยชาติก็ได้ หรือว่าโดยกิจการงานก็ได้ แต่ถ้ากล่าวถึงปฏิสนธิหมายความว่าว่าเราพูดถึงจิตโดยกิจ จิตนี้จะเป็นชาติวิบากแต่ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ทำกิจเห็น แล้วเวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไป จิตที่เกิดสืบต่อก็เป็นชาติวิบากแต่ทำภวังคกิจ นี่ก็คือความต่างกัน และเมื่อถึงมโนทวาราวัชชนะ ก็เป็นมโน คือเป็นจิตแต่ไม่ใช่วิบากอีกต่อไป เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภวังค์ แต่เป็นกิริยาจิต ก็มีการกล่าวถึงชาติด้วย แล้วก็กิจด้วย เมื่อกล่าวถึงกุศล อกุศลซึ่งเกิดต่อ แล้วก็มีบางคนบอกว่าชวนะๆ ก็คือให้ทราบว่า “ชวนะ” ก็คือจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์นั้นซ้ำถึง ๗ ขณะ คือ ถ้าเป็นโลภะก็โลภะ ๗ ขณะ ซึ่งขณะนี้จักขุวิญญาณที่เห็นเพียงหนึ่งขณะ แต่พอถึงชวนะเป็นกุศล หรืออกุศลซึ่งเกิดดับสืบต่อ ๗ ขณะทำ “ชวนกิจ” คือแล่นไปในอารมณ์นั้นโดยเป็นสภาพนั้นที่พอใจในอารมณ์นั้นไม่ต้องทำกิจอื่น แต่จะยังไม่กล่าวถึง เพียงแต่ว่าถ้าได้ยินแว่วๆ มาบ่อยๆ ว่า ชวนะ ก็ให้เข้าใจว่าหมายถึงกุศลจิต และอกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิตไม่ได้ ต้องเป็นกิริยาจิต เมื่อกล่าวถึงกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตของพระอรหันต์ก็คือทำชวนกิจ หรือได้ยินคำว่าชวนะ ก็คิดถึงกุศลจิต หรืออกุศลจิต และกิริยาจิต แต่ค่อยๆ ไปจะได้ไม่ลืม และไม่ต้องไปท่อง

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตนี่ตั้งแต่ปฎิสนธิในครรภ์ใช่ไหม ไม่ใช่ตอนคลอดออกมา

    ท่านอาจารย์ คือไม่มีการนับ ถ้าเป็นเทพก็ไม่ต้องอยู่ในครรภ์ใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นธรรมตรง จะอยู่ภพไหน ให้ทราบว่าหลังจากปฏิสนธิ และภวังค์แล้ว วิถีจิตแรกต้องเป็นทางมโนทวาร มโนทวาราวัชชนะเกิดก่อน และต่อจากนั้นก็เป็นโลภะ ใช้คำว่าชวนะก็ได้คือเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ

    การศึกษาธรรมนี่ต้องทราบว่าเป็นเรื่องเบาสบาย ไม่ต้องห่วงไม่ต้องหนักใจเรื่องจำนวน หรือเรื่องอะไรเลย ค่อยๆ เข้าใจขึ้นแล้วก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ว่าจะทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกมาก แต่ปัญญาของเราสามารถที่จะรู้จริงได้แค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วเราก็จะพยายามไปรู้ปัญญาของท่านพระสารีบุตร หรือว่าท่านพระอรหันต์ที่เป็นพระอริยบุคคลที่แสดงไว้ในครั้งนั้น ซึ่งรวมอยู่ในพระไตรปิฎก ก็ต้องทราบจริงๆ ว่าเราจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อเป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่าเป็นธรรม คือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    สำหรับสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ เท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ทรงแสดงโดยนัยนานาประการหลากหลาย เพื่อให้เราสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้ก็มีทั้งจิต เจตสิก และรูป นิพพานมี หรือไม่ ไม่มี เพราะว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ เราจึงสามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ว่าจะพูดถึงจิตประเภทใด เจตสิกประเภทใด รูปก็เป็นสิ่งที่มีในขณะนี้

    สำหรับจิตไม่ใช่ว่าเพิ่งมีในวันนี้ หรือชาตินี้ แต่ว่ามีก่อนมาแล้วนานแสนนาน จนกระทั่งการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะ ปรุงแต่งทำให้เกิดจิตในขณะนี้แต่ละขณะซึ่งต่างกันไป แม้ในคนหนึ่ง จิตเมื่อวาน จิตวันนี้ จิตต่อไปข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    24 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ