พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24


    ตอนที่ ๒๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ จะเกิดเป็นนก เป็นช้าง เป็นลิง เป็นคน เป็นเทวดา ก็ยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้ วิบากจิตประเภทนั้นจะต้องเกิดดำรงภพชาติหลังจากที่จิตขณะแรกดับไป เพราะฉะนั้นหน้าที่ของจิตขณะแรก กับหน้าที่ของจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตต่างกัน ปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปจะทำปฏิสนธิอีกไม่ได้ ภวังคจิตไม่ได้ไปทำกิจสืบต่ออะไรจากชาติก่อน แต่ทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป จิตชาติเดียวประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตนั้นก็เกิดสืบต่อทำภวังคกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่เปลี่ยนจนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้ายคือจุติจิต ซึ่งจุติจิตก็ยังคงเหมือนกับปฏิสนธิจิต และภวังคจิต คือยังไม่เปลี่ยนสภาพจนขณะที่จุติจิตดับ เมื่อนั้นปฏิสนธิจิตของชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อเป็นบุคคลใหม่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าบางครั้งฝันก็มีโทสะเกิดขึ้น บ่อยครั้งที่ดิฉันฝันว่าตกหลุม ไม่ทราบว่าเป็นอะไร พอตกหลุมปุ๊บก็ตกใจ โทสะเกิด แต่บางครังก็ฝันว่าเหาะ ก็คิดว่าขณะที่เหาะจิตน่าจะเบาสบาย น่าจะเป็นกุศล ซึ่งคงไม่น่าจะใช่

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ได้ฝันมาแล้วมาก และก็ยังคงฝันต่อไปตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วก็ไม่สามารถจะเลือกฝันได้ด้วย แต่ให้ทราบว่าการเกิดดับสืบต่อของจิตจะสะสมทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด ซึ่งก็ย้ำไปอีกว่าลักษณะของจิตคือเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ จะหลับ จะตื่น จะฝัน จะอะไรก็ตามแต่ จิตต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่รู้ไม่ได้แล้วก็เป็นประธาน ในขณะนี้ที่สภาพธรรมปรากฏเพราะจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์นั้น เป็นประธานของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นี่คือหน้าที่ของจิต และมีอาการเกิดดับสืบต่อปรากฏ ไม่ว่าจะพูดถึงจิตขณะไหนก็มีจิตขณะนั้นที่จะให้เราสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ เป็นลักษณะของจิต และจิตก็เป็นสภาพธรรมซึ่งต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิด ไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด ทุกอย่างที่เกิดเราอาจจะไม่ทราบว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สภาพธรรมนั้นเกิด แต่ผู้รู้ทรงตรัสรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด เพราะฉะนั้นปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดซึ่งขาดไม่ได้เลย คือเจตสิก เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และก็เกิดที่เดียวกัน ที่รูปเดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นี่คือการที่เราเริ่มรู้จักจิต

    เพราะฉะนั้นจิตเห็น เกิดที่ไหน เกิดที่จักขุปสาท และจิตได้ยินจะมาเกิดที่จักขุปสาทไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เห็นได้ว่าทั้งจิต และเจตสิกเกิดร่วมกัน ดับพร้อมกัน และก็เกิดที่เดียวกันด้วย ถ้าเป็นจิตเห็นขณะนี้ อาศัยจักขุปสาทเกิด เจตสิก และจิตเกิดที่จักขุปสาทแล้วดับ เวลาที่จิตได้ยินเกิดขึ้นก็คือจิตซึ่งอาศัยโสตปสาท ทั้งจิต และเจตสิกเกิดรู้เสียง และก็ดับที่โสตปสาท เกิดที่เดียวกัน และก็ดับที่เดียวกันด้วย

    ผู้ฟัง คำว่าหลับอย่างมีสติ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสติคือเมื่อไหร่ อย่างไร ถ้าเข้าใจขณะนี้ ก่อนจะหลับก็มีสติอย่างนั้น ถ้าขณะนี้ยังไม่รู้เลยก็เป็นเพียงชื่อ ซึ่งเราจะศึกษาเข้าใจสภาพธรรมได้ ต้องตามลำดับจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนนี้เรายังไม่ได้พูดถึงสติ หรือพูดถึงสภาพธรรมอื่นโดยละเอียด เพียงแต่กำลังจะกล่าวถึงชาติของจิต ว่าจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือ เป็นกิริยา

    ฝันสนุกดีไหม ก็แค่ฝัน ถ้าเดี๋ยวนี้กำลังสนุกดีไหม ก็แค่รู้แล้วก็ดับหมดไป ไม่ต่างกันเลย ต้องเห็นความไม่ต่างของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับที่ไม่ยั่งยืนเลย เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง สติสัมปชัญญะกับสติปัญญาแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีปัญญา หรือไม่ ถ้ามีปัญญาขณะนี้มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็ไม่รู้ทั้ง ๒ อย่าง เพราะฉะนั้นเราจะไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้มากมายเหลือเกิน ทั้งชาติทั้งชีวิต ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อเริ่มฟังเราจะไม่ข้ามขั้น ขณะนี้เราเข้าใจเรื่องจิตดี หรือยัง ว่าจิตมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และจิตมี ๔ ชาติ กำลังหลับสนิทอยากไม่ตื่นบ้างไหม หลับสนิทจริงๆ จะไม่อยากตื่นเป็นไปได้ หรือในเมื่อหลับสนิทจริงๆ ไม่ได้เลย แต่ตื่นแล้วอยากจะหลับ ยังไม่อยากจะตื่นได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องไม่ประมาท เพราะว่าเราจะต้องรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร ถ้าเรารีบร้อนตอบเพราะว่าเราอยากจะนอน และเราก็เป็นคนชอบพักผ่อน เราก็อาจจะบอกว่าไม่อยากตื่น แต่จริงๆ แล้วกำลังหลับสนิทจะอยากไม่ตื่นไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อตื่นแล้ว เริ่มแล้วอยากจะตื่นไหม ไม่อยากจะตื่นเมื่อตื่นแล้ว แต่ตอนหลับสนิทต้องทราบว่าเป็นขณะที่อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏจนกว่ากรรมจะถึงกาลที่ให้ผล เพราะว่าใครก็ไม่สามารถที่จะบันดาลให้ตื่น หรือหลับได้ใช่ หรือไม่ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจะหลับทั้งๆ ที่ยังอยากจะทำงาน อยากทำอะไรต่อก็หลับไปแล้วก็มี อยากจะฟังก็อาจจะหลับไปแล้วก็ได้ก็มี และที่ยังไม่อยากจะตื่นเลย อยากจะพักผ่อนก็ตื่น และตื่นแล้วด้วยอะไร ถ้าตื่นด้วยฝัน ขณะที่ฝัน ต้องไม่ลืมว่าเป็นวิถีจิตแล้ว แต่ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะฝันอาศัยใจที่สะสมประสบการณ์ทั้งหมดไม่ว่าชาติไหนๆ จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง จิตเป็นสภาพที่สั่งสม กรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าการที่แต่ละคนจะตื่นจะหลับ ก็แล้วแต่ว่า ถ้าเป็นตื่นด้วยการฝันหมายความว่าขณะนั้นเป็นวิถีจิต ยังไม่ใช่เป็นแบบที่เรียกว่าเหมือนในขณะนี้ แต่เป็นช่วงขณะที่ระหว่างฝันก็ยังมีวิถีจิตเกิดแทรกคั่นกับภวังคจิตได้เพราะการสั่งสม

    อย่างเราอาจจะมีธุระ มีความกังวลใจ หรือไปได้ยินได้ฟังอะไรมาทั้งวัน และก็หมกมุ่นครุ่นคิด ก็อาจจะฝันเรื่องนั้นก็ได้ใช่ หรือไม่ ไปดูหนัง หรือว่าคุยกันเรื่องอะไรก็ฝันเรื่องนั้นก็ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะเป็นอย่างนั้น ความฝันนี่แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นอนัตตาจริงๆ เพราะฉะนั้นฝันเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต แต่เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ

    เพราะฉะนั้น วิถีจิตแรกเป็นอะไร วิถีจิตแรกมี ๒ วิถีคือ ถ้าเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวารต้องเป็นปัญจทวาราวชนจิต จิตอื่นจะเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้เลยทั้งสิ้น นอกจากจิต ๒ ประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ก็ตามแต่ จิตที่เกิดต่อจากภวังค์ต้องเป็นจิตหนึ่งในสอง คือ เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต

    เพราะฉะนั้นขณะที่ฝันไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิต และวิถีจิตแรกขณะที่ฝันคือ มโนทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้นจึงมีกิริยาจิต ๒ ประเภท สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และแม้พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต ๒ ประเภทนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าจะไม่มีจิต ๒ ประเภทนี้ เพราะฉะนั้นก็แยกได้แล้วว่าขณะใดเป็นวิถีจิตแรก ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต แต่ต้องไม่ลืม ก่อนกุศล และอกุศลใดๆ ซึ่งเป็นวิถีต่อจากนั้น ต้องวิถีจิตแรกเกิดก่อน คือปัญจทวาราวัชชนจิต หรือ มโนทวาราวัชชนจิต

    ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิต หรือ มโนทวาราวัชชนจิต มีทั้ง ๒ อย่าง แต่เกิดทีละอย่าง

    ผู้ฟัง ช่วงที่เราหลับสนิท ไม่ฝัน เป็นภวังค์ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใช่ ขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นจิตเกิดดับทำภวังคกิจ เป็นภวังค์

    ผู้ฟัง แล้วฝัน

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ถ้าฝัน เห็นไม่ได้เห็นทางตา แต่เห็นทางใจ เช่น เห็นสีแดง หรือได้ยินเสียง ไม่ได้ยินทางหู เพราะช่วงนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกี่ยวข้อง เป็นมโนทวาราวัชชนจิต แล้วทำไมจึงเห็น จึงได้ยินได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดจากสัญญาเจตสิก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สัญญาเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสัญญาที่จำแน่นอน แต่ไม่ใช่สัญญาเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณ ขณะนี้ต้องต่างกับฝัน เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นเป็นวิถีจิตทางตา เป็นจักขุทวารวิถี แต่เวลาที่ฝันเหมือนเห็น ที่กล่าวว่าเหมือนเห็นเพราะไม่ได้เห็นจริงๆ เพราะจักขุวิญญาณไม่เกิด แต่มีความทรงจำในสิ่งที่เห็น

    ผู้ฟัง คือมีสัญญาเจตสิกที่จำ

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกที่จำได้ สัญญาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ

    ขณะนี้ทุกคนลองดู มีดอกไม้ที่บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าคืนนี้ฝันจะเหมือน หรือไม่เหมือน หรือเหมือนจริงๆ แต่สามารถที่จะนึกถึงได้ แต่สิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้จะไม่เหมือนเลย เพราะฉะนั้นจะแสดงให้เห็นว่าขณะที่กำลังเห็นนี้เอง มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ลักษณะที่ปรากฏทางตานั้นเป็นสภาพธรรมที่เราใช้คำว่า “รูปารมณ์” เป็นรูปสีสันวรรณะต่างๆ ที่กระทบกับจักขุปสาทเกิดแล้วดับ แต่สัญญาจำ การเกิดดับซึ่งสืบต่อเป็นรูปร่างสัณฐานเร็วมาก แต่เพียงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ขณะนี้จำว่าเป็นดอกบัว และก็จำว่าเป็นดอกไม้อื่น เพราะฉะนั้นเพียงสิ่งที่ปรากฏสีก็คล้ายคลึงกัน สีชมพูอย่างเดียวกันก็ได้ แต่ความจำละเอียดจนถึงว่าสีชมพูอย่างนี้เป็นดอกบัว อีกสีหนึ่งแม้ว่าจะคล้ายคลึงกันก็ไม่ใช่ดอกบัว นี่คือความละเอียดของความจำซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ และก็สืบต่อจนกระทั่งในความฝันก็จะฝันถึงดอกบัว แต่ความละเอียดจะไม่เหมือนกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเราเอาเรื่องราวทั้งหมดมาจากสิ่งที่ปรากฏ คือความนึกคิดเกิดสืบต่อทรงจำอย่างรวดเร็วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เท่านั้นไม่พอ ยังปรุงแต่งต่อไปอีกว่าชอบ หรือไม่ชอบ แค่เห็นสีสันวรรณะต่างๆ และก็ยังทรงจำในความละเอียดเป็นดอกไม้ลักษณะต่างๆ ชื่อต่างๆ และยังเกิดปรุงแต่งเป็นชอบไม่ชอบอีก เพราะฉะนั้น รวดเร็วขนาดไหนที่มีความทรงจำที่เหมือนกับว่าสภาพธรรมที่ปรากฏไม่ได้ดับเลย และก็มีเราทั้งหมดที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง แต่แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมใดที่มีปัจจัยเกิดปรากฏ ดับเร็วมาก ทันที เกือบจะกล่าวได้ว่าทันที จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ของจิตนั้นแล้วดับทันที และจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ รูปที่กำลังปรากฏ กำลังดับเร็วกว่าที่เราคิดแค่ไหน เพราะระหว่างเห็นกับได้ยินซึ่งเหมือนพร้อมกันเกิน ๑๗ ขณะแล้ว เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของความทรงจำมากมาย และอยู่ในโลกของความปรุงแต่งซึ่งเป็นสังขารขันธ์ และก็ยังยึดมั่นด้วยการยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นอุปาทาน ด้วยทิฏฐิความเห็นผิดว่าเป็นเรา หรือว่าด้วยเป็นของเรา คือเป็นเราทั้งนั้น จะเป็นเราด้วยมานะ เป็นเราด้วยตัณหาความติดข้อง หรือว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิความเห็นผิด

    ยาก หรือไม่ คราบบุหรี่ หรือว่าคราบน้ำหมาก หรือว่าคราบอะไรซึ่งโดยเป็นรูปเราเห็นได้ใช่ไหม คราบกาแฟ ชงกาแฟเสร็จ ไม่ล้างก็ไม่เห็นเลย แล้วนี่เราไม่ได้ล้างอะไรออกจากใจเลย แล้วก็เป็นนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า ทันทีที่คิดว่าเรารู้แค่นี้แล้วจะหมดกิเลส เป็นไปไม่ได้ หรืออยากจะรู้เรื่องราวต่อๆ ไป โดยที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือความเป็นปัจจัยอย่างละเอียดของธรรมซึ่งแม้แต่กำลังหลับแล้วทำไมตื่น หรือถึงแม้ว่ายังไม่ตื่นทำไมฝัน แล้วก็ฝันเรื่องอะไร นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดที่ไม่ใช่เรา ถ้าศึกษาละเอียดมีความเข้าใจ และรู้ว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะรู้ว่าเป็นความจริงตรงตามที่ทรงตรัสรู้

    ผู้ฟัง ความฝันเกิดได้ทางมโนทวารทางเดียว ส่วนวิตกเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และพ้นทวารด้วย

    ผู้ฟัง บางครั้งนอนแต่ไม่ได้หลับ เพียงแต่คิดนึก เปรียบเทียบกับความฝัน ก็คนละสภาวะ เลยมาจำแนกตรงนี้ว่าความฝันนี่คงเกิดทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ที่จะแน่ใจว่าเป็นทางมโนทวารคือไม่ได้เห็นเหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ยินเหมือนเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ก็พิจารณาอย่างนี้ว่าเป็นมโนทวาร เพราะลักษณะต่างกัน คิดนึกก็อีกลักษณะหนึ่ง ส่วนความฝันก็อีกลักษณะหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างนี้ คือการเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม ซึ่งจะเป็นทางที่จะทำให้เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึก สามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนั้นได้

    ผู้ฟัง ความฝัน ปัญจทวาราวัชชจิตเกิดไม่ได้เลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะว่าวิถีจิตแรกไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใดในหกทวารต้องเป็นหนึ่งในสอง คือเป็นปัญจทวาราวชนจิต หรือมโนทวาราวชนจิต ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย มโนทวาราวัชชนจิตเกิดไม่ได้ ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชจิต

    มีใครสามารถที่จะรู้จิตแต่ละขณะดับสืบต่อกัน ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง และเราก็พิสูจน์ว่าเป็นจริงไหม คือขณะนี้ไม่มีการที่จะสามารถรู้ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อนจิตเห็น ขณะนี้จิตเห็นรับรองว่ามี แต่จิตก่อนเห็นไม่สามารถที่จะรู้ได้ หรือภวังคจิตซึ่งเกิดก่อนปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่รู้อีกก็จะรู้ได้ว่าขณะนี้มีเห็น แล้วก็ชอบ หรือไม่ชอบ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ด้วยเหตุนี้โดยนัยของพระสูตรก็จะแสดงในลักษณะที่ว่าสามารถที่จะรู้ความจริงได้ว่า ในขณะนี้มีเห็น ไม่ได้กล่าวถึง ปัญจทวาราวชนจิต และเมื่อเห็นแล้ว เป็นโลภะ หรือ โทสะ หรือกุศล ก็กล่าวเท่าที่สามารถจะปรากฏ สามารถที่จะรู้ได้เข้าใจได้

    ผู้ฟัง หมายความว่าจักขุวิญญาณจะไม่เกิดก่อนมโนทวาร ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความว่าทวารทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง จิตจะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ถ้าไม่อาศัยทวารก็เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง จากภวังคจิตก็เป็นมโนทวารทันที จะเป็นอื่นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามให้รู้ว่าจิตเกิดทางทวารไหน ถ้าจิตเกิดทางมโนทวารวิถี วิถีจิตแรกต้องเป็นมโนทวาราวชน ถ้าจิตเกิดทางปัญจทวารวิถี วิถีจิตแรกคือปัญจทวาราวัชชน

    ผู้ฟัง แสดงว่าถ้าฝันเกิดได้ทั้ง ๒ อย่าง ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้าฝัน เราใช้คำว่าฝัน หมายถึงยังไม่ตื่น ยังไม่ได้มีเสียงกระทบปรากฏทางโสตทวารเลย ถ้าปรากฏอย่างนั้น จะทราบ หรือไม่ทราบก็ตาม เราไม่ได้พูดถึง เราพูดถึงว่าถ้าเสียงปรากฏทางมโนทวาร ปัญจทวาราวัชชนะต้องเกิดก่อน ไม่มีกรณีใดๆ เลย ถ้ากลิ่นปรากฏ ปัญจทวารวชนจิตต้องเกิดก่อนฆานวิญญาณจิต ถ้าคิดนึกเป็นมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เช่น ขณะที่คิด ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน

    จะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ก่อนคิดเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นจากภวังค์จะเป็นกุศล หรืออกุศลที่คิดทันทีไม่ได้ จะมีมโนทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตแรกด้วย เพราะเหตุว่าถ้าแบ่งจิตเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ จิตที่ไม่ใช่วิถี คือไม่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตที่ไม่ใช่วิถีเป็นภวังคจิตประเภทหนึ่ง เป็นปฏิสนธิจิตประเภทหนึ่ง เป็นจุติจิตขณะหนึ่งๆ เพราะว่าภวังคจิตเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิ ประเภทเดียวกับจุติ แต่ว่าขณะใดที่ทำภวังคกิจ ขณะนั้นไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้ทำจุติกิจ

    ผู้ฟัง ในขณะฝัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าฝัน หมายความว่าไม่ใช่เดี่ยวนี้ใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นเวลาฝัน ฝันถึงอะไร อะไรก็ได้ ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกเกิดก่อน และขณะที่ฝันเราไม่รู้เลยว่าฝันด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้นก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดทางมโนทวารต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน

    ผู้ฟัง แสดงว่าตอนเริ่มฝันนี่ มโนทวาราวัชชนจิตเริ่มก่อน

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง แต่หลังจากนั้นปัญจทวารเกิดขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าปัญจทวารเกิดขึ้นได้ ขณะนั้นก็คือเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ทางตากำลังเห็นคือจักขุทวารวิถี

    ผู้ฟัง หมายความว่าขณะที่หลับไม่มีทางเลยที่ปัญจทวารจะกิดขึ้นได้เลย

    ท่านอาจารย์ จิตทำภวังคกิจไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางหนึ่งทางใดเลย แต่ขณะใดเสียงปรากฏ หมายความว่าต้องมีเสียงกระทบกับโสตปสาท เสียงขณะนี้จึงปรากฏได้ ไม่ใช่เพียงจำเสียง นึกถึงเสียง หรือคิดถึงความหมาย แต่เป็นตัวเสียงจริงๆ ที่กำลังกระทบโสตปสาท แล้วจิตที่ได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท ขณะที่กำลังรู้อารมณ์ทางปัญจทวารไม่ใช่ฝัน เพราะกำลังมีเสียงปรากฏ หรือ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ แต่ในฝันคือคิด

    ผู้ฟัง ในฝันคือมโนทวาราวัชชนจิตเริ่มขึ้นก่อน แต่ถ้าจะกล่าวว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเกิดขณะนั้นไม่ใช่ฝัน เป็นจริงๆ ตื่นขึ้นมาขณะหนึ่งสั้นๆ แล้วก็หลับไป

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหม ความฝันเป็นความนึกคิด เป็นธัมมารมณ์เกิดขึ้นได้ทางมโนทวารทางเดียว เหตุที่ไม่เกิดทาง ๕ ทวารเพราะว่าเป็นจิตนึกคิด เป็นธัมมารมณ์

    ท่านอาจารย์ นี่คือเราก็จำแล้วเข้าใจ แต่ยังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นก็จะมีเกิด ซึ่งความจริงอารมณ์ไม่ได้เกิด แต่จิตเกิด และจิตทางไหน ก็ต้องชัดเจนกว่านี้

    ผู้ฟัง ตามที่ฟังกล่าวมาข้างต้น ทำไมจึงต้องฝัน คิดว่าที่ฝันเพราะว่าหลับไม่สนิท อย่างนี้จะถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เราใช้คำก็ไม่กระชับเท่ากับเรากล่าวถึงลักษณะของจิตแต่ละประเภทซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ใช้คำว่าหลับสนิทก็ต้องหมายความว่าไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย ทีนี้ก็มีคำต่อมาว่า หลับไม่สนิท ไม่สนิทก็หมายความว่าต้องมีการรู้อารมณ์บ้าง แต่ว่าไม่ได้ชัดเจน คือไม่สนิท ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นถ้ารู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ขณะนั้นก็ต้องเป็นทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แต่สั้นมาก น้อยมาก เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับว่ายังหลับอยู่ แล้วก็ไม่สนิท เพราะว่ามีอารมณ์อื่นปรากฏ แต่ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นความต่างของฝันกับไม่ฝันก็คือว่าขณะที่ฝัน ภวังคจิตเกิดมาก แล้วแต่ว่ามโนทวารจะฝัน หรือไม่ฝันก็แล้วแต่ ถ้ามีมโนทวารเกิดสลับกับภวังค์ เราก็ยังเรียกว่าฝันอยู่ เพราะเหตุว่าไม่มีสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมกระทบกับปสาทจริงๆ

    แต่พอตื่นทำไมเราบอกว่าตื่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    24 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ