พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20


    ตอนที่ ๒๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า กุศลก็คือดีงาม อกุศลก็คือไม่ดีไม่งาม หรือจะใช้คำว่าชั่วก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของภาษาที่แสดงว่า เรามีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เราพูด มากน้อยเท่าไร เช่น เราใช้คำว่าดี หรือ เราใช้คำว่าบุญ จริงๆ เราเข้าใจคำนั้นกว้าง หรือแคบ เช่น ไปทำบุญ ก็คิดว่า บุญก็มีแต่ไปทำบุญ หรือว่าตักบาตร นั่นก็กล่าวว่าเป็นบุญ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้เข้าใจสภาพของจิตจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เราเลย แต่เป็นเพราะว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ โดยชา-ติ หรือโดยชาติ คือการเกิด มี ๔ อย่าง คือ เกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ ขณะ ขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล จะเปลี่ยนจิตที่เกิดเป็นกุศลให้เป็นอื่นไม่ได้เลย นี่แสดงว่าจิตทุกขณะ ถ้าเราศึกษาต่อไปจะรู้ได้ว่า จิตนี้ชาติอะไร ไม่ว่าจิตจะมีชื่อมากมายถึง ๘๙ แต่จิตนั้นเป็นชาติอะไร เพราะเหตุว่า จะต้องรู้ว่าจิตที่เป็นกุศล เพราะเกิดขึ้นโดยปัจจัยคือกุศลเจตสิก หรือโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ส่วนจิตจะเป็นชาติกุศลก็เพราะเจตสิกซึ่งเป็นฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย และเป็นเจตสิกฝ่ายดีซึ่งเป็นเหตุด้วย เช่น การกระทำที่ดีต่างๆ การอ่อนน้อม หรือการเคารพผู้ที่ควรเคารพ การฟังธรรม เหล่านี้ ต้องเป็นขณะจิตที่ดี ขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นกุศลจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเรามีกุศลคือการฟังธรรมตลอดวันใช่ หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศล ซึ่งอาจจะไม่คิดอย่างนี้ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ก็คิดว่าเราไม่มีอกุศล แต่ความจริงอกุศลละเอียดมาก ขณะที่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วเห็น จะต้องเป็นจิตชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เมื่อได้ยินชื่อ ”จิต” ก็ควรจะได้ทราบทันทีว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร จะได้ไม่สับสน เพราะจิตที่เป็นกุศลกับจิตที่เป็นอกุศลเป็นจิตที่เป็นเหตุ คือเหตุได้กระทำไว้ต้องทำให้มีผลเกิดขึ้น มิฉะนั้นจะกล่าวว่าเป็นเหตุไม่ได้ ถ้ากล่าวว่าเป็นเหตุต้องกล่าวว่าเป็นปัจจัย เป็นเห-ตุปัจจัย เป็นเหตุที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น แล้วผลนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาเราก็บอกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คือเราทำดี เราได้รับผลดี เราทำชั่วได้รับผลชั่ว นั่นคือพูดอย่างกว้างๆ แต่ถ้าพูดโดยเจาะจง กุศลจิตเกิดเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ กุศลวิบาก หรือถ้าอกุศลจิตเกิด ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาซึ่งเป็นอกุศลกรรม เมื่อเหตุคืออกุศลกรรมมี วันหนึ่งก็จะต้องให้ผลเป็นอะไร เป็นเรา หรือว่าเป็นใคร เวลาที่ได้รับผลนี้เป็นเรารับ หรือว่าเป็นใครรับ

    ผู้ฟัง เป็นเรารับ

    ท่านอาจารย์ เราทำเหตุใช่ หรือไม่ เราถึงได้รับเหตุ แต่ถ้ารู้ว่าไม่มีเรา มีปรมัตถธรรม มีจิต เจตสิกเกิดขึ้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อกุศลจิต และอกุศลจิตดับไปแล้ว ใครได้รับผล จิตที่เป็นเหตุคือกุศลดับไปแล้ว จะเป็นปัจจัยให้ผลเกิดขึ้น เช่นที่เราเคยพูดก่อนที่เราจะศึกษาว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราคิดว่าเราทำดี เราคิดว่าเราได้ดี แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่มี แต่มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมคือ จิต เจตสิก รูป รูปทำดีทำชั่วไม่ได้เลย รูปไม่มีชาติกุศล ไม่มีชาติอกุศลเลย เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่ว่ารูปของคนเป็น หรือรูปของคนตาย รูปของสิ่งมีชีวิตมีใจครอง หรือเป็นรูปที่ไม่มีใจครอง คือไม่มีใจ หรือจิตเกิดที่รูปนั้นก็ตามแต่ รูปเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ใช่คน แต่ต้องเป็นจิต เจตสิกที่เป็นชาติกุศลเกิดขึ้น แล้วก็ต้องดับด้วย เพราะว่าจิตเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้นตอนได้ดี คืออะไร

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ จิตแน่นอน เพราะว่าจิตเป็นผู้ที่กระทำกรรม เพราะฉะนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมภาษาบาลีใช้คำว่า วิ-ปา-กะ ความหมายก็คือสภาพที่สุกงอมพร้อมที่จะเกิดผล เพราะฉะนั้นกุศลกรรม และอกุศลกรรมแต่ละคนทำไว้มากมายนับไม่ถ้วนเลยในสังสารวัฏ ในแสนโกฏิกัปป์ จะให้ผลเมื่อใดไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้ ต่อเมื่อใดพร้อมสุกงอมที่จะให้ผลเกิดขึ้น จิตที่เป็นวิบากก็เกิดเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นวิบากจิต ตามปกติก็เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ จิตขณะแรกที่เกิด เลือกไม่ได้เลย มีใครอยากจะเกิดเป็นนกบ้าง มีใครอยากจะเกิดเป็นงูบ้าง แล้วทำไมมีงูเกิดขึ้นมา มีนกเกิดขึ้นมา เพราะอะไร เป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ขณะแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว ถ้าใช้คำว่า “ปฎิสนธิ” หมายความว่าสืบต่อจากชาติก่อนคือจุติจิต ทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับ ใครก็ตามที่สิ้นชีวิต ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่นเลย จากโลกเก่ามา โลกเก่าเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ วงศาคณาญาติก่อนๆ เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่มาสู่สกุลใหม่ ญาติใหม่ โลกใหม่ คือโลกนี้ที่กำลังเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ ในภูมินี้ ก็เห็นสัตว์เดรัจฉานรูปร่างต่างๆ กันตามความวิจิตรของกรรมที่ได้กระทำ สุนัขหน้าตาเหมือนกัน หรือไม่ ไม่หมือนกัน หากพูดถึงมด ก็จะบอกว่าเหมือนกัน หรือไม่เหมือนกัน จริงๆ ก็แล้วแต่กรรม พวกที่เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นเปรต เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นทุกคนก็ได้มีกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว กุศลที่ดีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ดีที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องสะสมกุศลที่ดีนี้ต่อไป เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่ากรรมเก่าๆ ที่ได้กระทำในชาติก่อนๆ กรรมไหนจะสุกงอมที่จะให้ผล แต่ให้ทราบว่า เวลาที่พูดถึงวิบาก ได้ยินคำว่า “วิบาก” ก่อนศึกษาธรรม วิบาก หมายถึงอะไร คิดถึงอะไร เวลาได้ยินคำว่าวิบาก

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างนั้นเลย หรือ เวลาได้ยินคำว่าวิบากต้องคิดว่าไม่ดีใช่ หรือไม่ วิ่งวิบากนี่คงเหนื่อย ทรมาน ไม่เป็นปกติ

    ผู้ฟัง กรรมที่ให้ผล จะมีทั้งกรรมดี หรือกรรมชั่ว

    ท่านอาจารย์ วิบาก เป็นคำกลางๆ ถ้าเป็นผลของกุศล คำเต็มจะต้องใช้คำว่า “กุศลวิบาก” ถ้าเป็นผลของอกุศล จิตนั้นเป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นเราก็ทราบว่าปฏิสนธิจิตของแต่ละคนที่นั่งอยู่ที่นี่เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วหนึ่งกรรม แต่ความละเอียดของกรรมที่แต่ละคนได้ทำมาแล้วก็เห็นได้ว่า เหตุใดเราหน้าตาไม่เหมือนกัน ไม่ว่าคนจะมีจำนวนสักเท่าไหร่ก็ตาม หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน ลองคิดถึงดอกกุหลาบ และดอกกล้วยไม้ เหมือนกัน หรือไม่ ไม่เหมือน ทั้งๆ ที่เป็นรูปไม่ได้ทำดีทำชั่วอะไรเลย เพียงแต่ความละเอียดของส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็จะทำให้ส่วนของต้นไม้บางส่วน เช่นใบ ดอก ผลต่างๆ ต่างกันมากเลยทีเดียว นั่นคือสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่ได้กระทำกรรม แต่ถ้ากล่าวถึงจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ และเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดรูปคือการกระทำทางกาย หรือวาจาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นผลก็ต้องต่างกัน โดยการที่เราเห็นได้เลย เพราะฉะนั้นสัตว์โลกเป็นที่ดูผลของบุญ และบาป และในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็เป็นที่ดูบุญ และบาปด้วย เพราะฉะนั้นในขั้นต้นก็ให้เข้าใจว่าจิตไม่ได้มีแต่เพียงกุศล หรืออกุศลซึ่งเป็นเหตุเท่านั้น ยังมีจิตซึ่งเป็น วิ-ปา-กะ คือเป็น วิบาก เป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดมา ถ้าเกิดดีก็เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม แต่ว่าเกิดมาแล้วจะดีจะชั่ว กุศลจิต หรืออกุศลจิตก็จะเกิดสลับกันกับวิบาก เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมเราก็จะเข้าใจชัดเจน จิตประเภทใดเป็นกุศล จิตประเภทใดเป็นอกุศล จิตประเภทใดเป็นวิบาก ปฏิสนธิจิตคือขณะแรกเป็นวิบาก แค่นั้นพอ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็น่าจะพอ

    ท่านอาจารย์ พอก็คือว่ารับผลอย่างไร ถ้าพอ ถ้าเกิดทุกชีวิตเหมือนกันหมดเลย เกิดในสวรรค์ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน ผลเหมือนกันเลย คือไม่ได้เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้รสอะไร ไม่คิดนึกอะไร พอ หรือไม่เท่านั้น กรรมที่ได้กระทำไว้มากมาย บางครั้งก็เป็นกรรมที่ทารุณมาก หรือว่าเป็นกรรมที่เป็นกุศลที่ประณีตมาก และให้ผลเพียงแค่เกิดมาไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก อะไรเลยทั้งสิ้น พอ หรือไม่เท่านั้น เพราะฉะนั้นกรรมไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเพียงหนึ่งขณะแล้วดับไป แต่กรรมนั้นเองก็ยังทำให้จิตเกิดดับสืบต่อ แต่ยังคงเป็นชาติวิบากยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นเลย ต้องเป็นบุคคลนี้ไปจนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ผลทำให้เป็นบุคคลนี้ หมดสิ้นเมื่อไหร่ ที่ภาษาไทยใช้คำว่า “ถึงแก่กรรม” ก็จะทำให้จากโลกนี้ไป จะเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย จะกลับมาเป็นคนนี้อีกสักชั่วหนึ่งขณะจิตก็ไม่ได้ นี่ก็คือเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่จะต้องเข้าใจขึ้นในชีวิตจริงๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่าขณะใดที่เป็นกุศล ต้องเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลที่เป็นกุศลวิบาก และขณะใดที่เป็นอกุศลกรรมก็จะทำให้เกิดผลที่เป็นอกุศลวิบาก ขณะนี้ไม่มีเราใช่ หรือไม่ มีจิต มีเจตสิก มีรูป และจิตก็ต่างกันเป็น ๔ ชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากก็มี และเหลืออีกชาติเดียวคือจิตที่เป็นกิริยา

    ผู้ฟัง หากจะสรุปว่า กายคือสื่อกลางได้รับกุศลวิบาก และอกุศลวิบากเพื่อไปกระทบสู่จิต จะสรุปอย่างนี้ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เราไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องอื่นเลย นอกจากสิ่งที่เราได้ฟัง ถ้าเวลานี้เรากำลังได้ฟังเรื่องชาติของจิตว่ามี ๔ ชาติ เราก็คิดเรื่อง ๔ ชาติ ให้เกิดความเข้าใจว่า แต่ละชาติปะปนกันไม่ได้ คือกุศลจิตจะเป็นวิบากจิตไม่ได้ วิบากจิตจะเป็นอกุศลจิตไม่ได้ หรือวิบากจิตจะเป็นกิริยาจิตไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะต้องเป็นประเภทหนึ่งประเภทใด หรือชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ ถ้าใช้คำว่า "วิบากจิต " คือจิตที่เป็นประเภทผล ไม่ใช่เป็นเหตุ

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นจะกล่าวว่า ลักษณะตอนที่จะเกิดเป็นกุศล หรืออกุศล ตรงนี้จะเป็นลักษณะเจตสิก ถ้าเป็นจิตที่ดี ก็มีเจตสิกฝ่ายดีประกอบ

    ท่านอาจารย์ มีปัจจัยมาก เพราะเหตุว่าเราเห็นสิ่งเดียวกัน แต่เราคิดต่างกัน ก็ตามการสะสมด้วยซึ่งเป็นปัจจัยอื่น

    ผู้ฟัง กุศลจิตเกิดคือการทำบุญใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะโดยขั้นฟังที่เรากำลังกล่าวถึงเรื่องของจิต ก็คือให้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นจิต ได้ยินแต่ชื่อมานานแล้ว และขณะนี้จิตก็เกิดดับไม่เคยขาดเลย แต่กว่าจะเข้าถึง หรือค่อยๆ เข้าใจในความเป็นจริงว่าเป็นจิตแต่ละประเภท ซึ่งไม่ใช่จิตเดียวเกิดขึ้นตอนเกิด แล้วก็ไปดับตอนตาย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ว่าจิตก็เกิดขึ้นสืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม ที่เกิดต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด ถ้ากล่าวถึงชาติหมายความถึงกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ถ้ากล่าวถึงภูมิ หมายความถึงระดับของจิต ไม่ใช่กล่าวถึงกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เพราะฉะนั้นต้องทราบด้วยว่า เวลาที่กล่าวถึงจิต เราจะกล่าวโดยนัยใด สำหรับวันนี้ก็จะกล่าวโดยนัยของการเกิดขึ้นของจิตว่าต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือเป็นเหตุ ได้แก่เป็นกุศลเหตุที่ดี หรือเป็นอกุศลเหตุที่ไม่ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดผลภายหลังพร้อมกันไม่ได้เลย เพราะว่าจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากคือเป็นผลของตนที่ได้กระทำเหตุไว้ เช่น อกุศลกรรมก็เป็นเหตุให้อกุศลวิบากเกิด กุศลกรรมก็เป็นเหตุให้กุศลวิบากเกิด ทุกคนอยากได้กุศลวิบากแน่ๆ ใช่ หรือไม่ แต่เหตุทำ หรือไม่ หรือว่า เพียงแต่อยากได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเราศึกษาเหตุ และผล เรื่องสภาพธรรมก็จะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และความเข้าใจนั้นเองก็จะเป็นปัจจัยให้มีกุศลในวันหนึ่งๆ มากกว่าเดิมซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ในวันนี้ก็ได้ทราบเรื่องของวิบาก ตั้งแต่เกิด ขณะเดียวไม่พอใช่ หรือไม่ ไม่พอแน่ กรรมอะไรจะให้ผลเพียงแค่วิบากขณะเดียวเกิดขึ้น ต้องให้ผลมากกว่านั้นแน่ เพราะจริงๆ แล้ว กว่ากรรมหนึ่งกรรมใดจะสำเร็จลงไปได้ ก็ต้องอาศัยจิตประเภทนั้นๆ มากขณะ ไม่ใช่เพียงขณะเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัจจัยให้ผลเกิด ก็แล้วแต่ประเภทของกรรม บางคนเกิดมาอายุสั้นมาก บางคนก็มีอายุยืนยาวมาก นั่นก็แล้วแต่ว่ากรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้มากน้อยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป จิตขณะต่อไป ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก แต่กรรมจะทำให้จิตขณะต่อไปเป็นวิบากประเภทเดียวกันเลย เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของจิตคือจุติ แล้วก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย จิตที่เกิดดับสืบต่อทำภวังคกิจ "ภวังค์" มาจากคำว่า ภพ หรือ ภว กับ อังคะ ถ้าเข้าใจภาษาไทยก็ไม่ยากเลย ดำรงภพชาติการเป็นบุคคลนั้นไว้ ขณะนี้มีภวังคจิต หรือไม่ ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่ถึงขณะสุดท้าย เปลี่ยนสภาพจากเป็นมนุษย์ให้เป็นเทวดาได้ หรือไม่ ในชาตินี้ ไม่ได้ เพราะว่ากรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ยังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นยังต้องเป็นบุคคลนี้ต่อไปจนกว่าจะถึงกาลที่จะต้องสิ้นสุดของกรรม

    แต่ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมก็ยังให้ผลด้วย คือทำให้มีจักขุปสาท สำหรับจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ทำให้เกิดโสตปสาทสำหรับกาลที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ผลก็คือว่าเป็นปัจจัยให้จิตที่เห็นเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทางหูได้ยินเสียงที่ดีเป็นกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ทางจมูกก็มีทั้งกลิ่นหอมกลิ่นเหม็น วาระใดได้กลิ่นที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก วาระใดที่ได้กลิ่นไม่ดีก็คืออกุศลวิบาก ทางลิ้น รสก็มีมากมาย วาระใดที่ลิ้มรสที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก วาระใดที่ลิ้มรสไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทางกายก็มีทั้งสุข และทุกข์ที่กระทบ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กระทบแล้วมีความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ขณะนั้นเป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นทุกข์ทางกาย ปวด เจ็บ เมื่อย หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้ได้ว่าใครทำ ผลที่ได้รับทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง วาระที่ดี ใครทำ วาระที่ไม่ดี ใครทำ ก็คือทำเอง ตัวเองทำเอง เป็นเหตุเองให้เกิดผลเอง

    ผู้ฟัง จากข้างต้นที่มีการกล่าว การระลึกถึงอดีตกรรมที่เคยทำไว้ หรือว่าในภพนี้ มีอยู่ ๒ ปัจจัยที่น่าจะได้พิจารณา คือ วิตกเจตสิก ถ้าหากว่าระลึกด้วยวิตกเจตสิกก็ไม่ใช่สติ แต่ถ้าหากเป็นสติปัฏฐานก็ต้องพิจารณาถึงรูปนามที่เกิดขึ้นทางทวาร ๖ เท่านั้น ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขอถามว่าขณะที่ท่านผู้ถามระลึก เป็นจิตชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติกุศล

    ท่านอาจารย์ วันนี้คิดอะไรบ้าง ทุกๆ วันที่คิดเป็นชาติอะไร จิตคิดแน่นอน

    ผู้ฟัง กุศลก็มี อกุศลก็มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องรู้ใช่ หรือไม่ ว่าขณะที่เป็นวิบากมีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก เพราะเหตุ คือจิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี แต่ให้ทราบตามความเป็นจริง หลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว หลังจากนั้นไม่ได้กล่าวว่ากี่ขณะ ก็คิด ถ้าไม่คิดจะเห็นว่าเป็นดอกไม้ ได้ หรือไม่ เป็นแต่เพียงสีต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าชีวิตจริงวันหนึ่งๆ เราควรจะได้เข้าใจว่าไม่มีเรา เริ่มตั้งแต่การฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในความละเอียดของนามธาตุ ซึ่งไม่มีรูปร่างจะปรากฏเลย แต่ก็มีกิจการงาน แล้วก็มีขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รู้แจ้งอารมณ์นั้นอารมณ์นี้บ้าง เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ให้เห็นลักษณะของจิตได้ว่าจิตเป็นนามธรรมล้วนๆ เลย ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรม ความละเอียด ความลึกซึ้งของนามธรรม พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยประการทั้งปวง ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มองไม่เห็นเลย ดังนั้น คิดนึกเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่ เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี

    ท่านอาจารย์ คิดนึกเป็นวิบากได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่เป็นกิริยาคงไม่ได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องพูดถึง “กิริยา” ว่าคืออะไร กิริยามีจริงๆ เพราะว่าเป็นชาติของจิต และเจตสิกซึ่งเกิด จิต และเจตสิกเกิดดับพร้อมกัน เวลาที่กรรมที่ได้กระทำแล้วคืออกุศลกรรมดับไปเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ แต่สุกงอมพร้อมที่จะให้วิบากจิตเกิด พร้อมวิบากเจตสิก แม้วิบากเจตสิกที่เกิดกับจิตก็เป็นผลของกรรม กรรมไม่ได้ทำให้เฉพาะวิบากจิตเกิด แต่ยังเป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกเกิดด้วย ใครทำได้ มีใครทำวิบากได้สักคน หรือไม่

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันคือผลของกรรม เพราะฉะนั้นวิบากก็ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำจิตก็ไม่ได้ ทำเจตสิกก็ไม่ได้ ทำรูปก็ไม่ได้ ทำวิบากก็ไม่ได้ ทำกิริยา กุศล อกุศลไม่ได้ แต่มีเหตุปัจจัยทำให้สภาพธรรมเกิด

    ผู้ฟัง ขอย้อนคำกล่าวเดิมที่ว่า วิบากส่งผลผ่านจิต ผ่านรูป ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดอะไรอื่นเลย ให้ทราบว่าขณะนี้มีจิตที่เป็นวิบาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ตอนนี้มีอยู่

    ท่านอาจารย์ มีจิตที่เป็นกุศล หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีจิตที่เป็นอกุศล หรือไม่

    ผู้ฟัง บางครั้งมี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีจิตอีกชาติหนึ่ง ซึ่งต่างกับกุศล อกุศล และวิบาก คือ จิตชาติกิริยา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ