พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18


    ตอนที่ ๑๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นได้ เป็นประโยชน์สูงสุด เพราะว่า ถ้ามีการเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วสติเกิดระลึกเป็นการพิสูจน์ธรรมทันที แล้วจะค่อยๆ เข้าใจความเป็นปรมัตถ์ ความเป็นอนัตตา การเป็นเพียงนามธรรม หรือรูปธรรม ก็ค่อยๆ ละคลายความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนได้ ไม่ใช่ว่าให้รอไป หรือว่าไม่ใช่ให้เร่งรัด แต่เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยว่า เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะนี้เป็นธรรม และปฏิปัตติ ก็คือขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจ แต่อย่าลืมว่าเคยเข้าใจผิดมานานมาก และเคยไม่รู้มานานมาก เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะที่แข็ง แม้ในขณะนี้ ก็สั้นนิดเดียว และก็มีเห็น มีได้ยิน เพราะว่า ทั้งๆ ที่กำลังเห็นอยู่ ก็สามารถจะคิดเรื่องราวต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ใช่เห็น ทั้งๆ ที่มี"เห็น" แต่ว่าสติสัมปชัญญะก็ระลึกรู้ลักษณะที่"แข็ง" เพราะยังไม่ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงทีละหนึ่งอย่าง โดยลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่โลกทั้งโลกที่รวมกัน แต่เป็นเฉพาะลักษณะทีละลักษณะ ที่ปรากฏในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ผมฟังท่านอาจารย์มานานแล้ว เข้าใจครับ แต่จะเข้าใจถึงปรมัตถธรรมจริงๆ นี่ไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เวลามีสติเกิดขึ้น จะมีแข็งนะ ไปพูดอย่างนั้นหมดเลย

    ท่านอาจารย์ อบรมต่อไปอีก ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าที่คิดไม่ใช่เห็น ต้องใช้เวลา หรือว่าต้องเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าเคยชินต่อการที่ไม่ได้ระลึกลักษณะแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นสภาพธรรมก็รวมกันเป็นปกติ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก แล้วสติก็เกิดคั่นแทรกนิดเดียว แล้วก็หลงลืมสติต่อไป ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ที่ผมพูดเมื่อครู่นี้ จะป็นหนทางใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาของผู้ฟังเอง นี่คือประโยชน์ที่สูงสุด

    ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คำว่า ”อารมณ์” ขอความเข้าใจว่า อะไรเป็นอารมณ์ได้บ้าง จิตจะเป็นอารมณ์ของจิตได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมตั้งแต่ต้นแล้วไม่ลืม ไม่เปลี่ยนเป็นสอง ธรรมต้องเป็นธรรม ใครเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้เลย ลักษณะของสภาพธรรมต้องเป็นอย่างนั้น เช่น จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ “อารมณ์” คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ และจิตกำลังรู้สิ่งนั้นจึงเป็นอารมณ์ได้ สิ่งใดก็ตามแม้มีแต่ถ้าขณะนั้นจิตไม่ได้รู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อารมณ์ของจิต ต่อเมื่อใด จิตใด ของใคร ขณะไหน จิตเกิดขึ้นเมื่อใด รู้อะไร สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้น จะเข้าใจคำว่าอารมณ์ได้ นี่คือ จิตเป็นสภาพที่สามารถรู้อารมณ์ อีกประการหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ จิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นคำว่าทุกอย่างคือไม่มีเว้น ไม่ว่าจะไปที่ไหนตรงไหนก็ตาม จิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น จิตเหล่านี้จะไปรู้นิพพานไม่ได้ ต้องเป็นจิตที่เป็นโลกุตตระจิต ประกอบด้วยโลกุตตระปัญญาจึงสามารถที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจิตไม่สามารถรู้นิพพานได้ ถ้าจิตไม่สามารถรู้นิพพานได้ จิตก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าจะรู้แต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดดับเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่ได้ฟังแล้ว ต้องให้มีความเข้าใจที่มั่นคง ว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ และ จิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง จิตมีหน้าที่รู้เฉยๆ รู้ต่างกันตรงที่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความต่างตรงนั้นต่างกันเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ ต่างกันเพราะผัสสเจตสิกที่กระทบอารมณ์ เช่น ขณะนี้ทุกคนมีตา และ มีหู แต่ใครจะได้ยิน ในขณะที่คนอื่นไม่ได้ยิน เป็นไปได้ไหม เพราะผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก็รู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบ แต่ขณะนี้เราจะยังไม่ไปไกลถึงอย่างนั้น แต่ให้ทราบว่าจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ โดยทวาร หรือทาง เช่น จิตที่กำลังนอนหลับสนิท หรือจิตขณะแรกที่เกิด รู้อารมณ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง เท่าที่ได้เรียน คือ รู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงได้บอกว่า เท่าที่เรียน รู้อารมณ์ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้แล้ว เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่ถูกจิตรู้ก็เป็นอารมณ์ของจิตนั้น แม้กำลังหลับสนิท แต่เหตุใดไม่ใช่ตอนตื่น ต่างกันแล้ว ใช่ หรือไม่ คนตาบอดตอนตื่นจะเห็น หรือไม่เห็น

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ คนหูหนวกตื่น จะได้ยิน หรือไม่ได้ยิน

    ผู้ฟัง ไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ คนหูหนวกตื่นก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าใครบังคับให้จิตเกิดขึ้นเห็น หรือจิตเกิดขึ้นได้ยินได้เอง หรือเปล่า หรือว่าต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น พอจะเข้าใจได้ใช่ไหมว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นสภาพที่รู้แจ้ง ประจักษ์ คือสามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ รู้แจ้งคือกำลังเห็นในขณะนี้ หรือว่าจิตได้ยิน ไม่สามารถจะเห็นเลย จะให้จิตได้ยินมาเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏสีสันวรรณะต่างๆ ไม่ได้ แต่จิตได้ยินสามารถเฉพาะได้ยินเสียง ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจิตที่จะเกิดขึ้นก็ต้องตามเหตุตามปัจจัยด้วย ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ ว่า จะให้จิตได้ยินมาทำหน้าที่เห็น ให้จิตเห็นไปทำหน้าที่ได้ยิน ก็ไม่ได้แต่เมื่อเป็นจิตเห็นในขณะนี้ ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นปัจจัย จักขุปสาทเป็นรูปที่อยู่กลางตา ไม่ใช่รูปตาทั้งหมด เพราะรูปตาทั้งหมด ถ้ากระทบสัมผัส ก็กระทบอ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่กระทบได้เฉพาะทางกาย แต่จักขุปสาทรูปนี้ไม่มีใครสามารถเห็นได้เลย เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบสีสันวรรณะต่างๆ ได้จึงทำให้จิตเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่าเหตุใด จิตเห็น เหตุใด จิตได้ยิน ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง วันนี้อารมณ์ชื่นบาน ตรงนี้เป็นความยินดีใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตปราศจากอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นอารมณ์จึงเป็นที่มายินดีของจิต อย่างไรๆ ก็ต้องรู้อารมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม แต่ก็ต้องรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อต้องรู้ จะพอใจไหม จะยินดีไหม ถ้าไม่ยินดีก็ไม่รู้ แต่นี่เพราะจิตต้องรู้อารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง ก็หมายถึงว่าความยินดีก็คือการรู้อารมณ์นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จิตเป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ จะไม่ไปอย่างอื่นเลย นอกจากสู่อารมณ์ คือรู้ลักษณะของอารมณ์นั่นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ยินดีก็คงไม่น้อมไปสู่อารมณ์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าโดยศัพย์หมายความอย่างนั้น แต่เราก็ต้องพิจารณาให้เข้าถึงความหมายว่าน้อมไป หรือว่ายินดี ก็เพราะเหตุว่าต้องรู้

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีอารมณ์ก็ไม่มีจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เช่นในขณะนี้ ถ้าถามว่าเห็น หรือไม่ ตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ ชัดไหม

    ผู้ฟัง ชัด

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าตัวเห็น หรือสภาพที่เห็น ไม่ได้กล่าวถึงว่าจำได้ หรือไม่จำ หรือว่าชอบ หรือไม่ชอบ แต่กล่าวถึงลักษณะที่เห็น เฉพาะเห็นเป็นลักษณะของจิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏที่เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง จิตจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จิตดูแล้วไม่มีอำนาจ

    ท่านอาจารย์ ใครมีอำนาจ

    ผู้ฟัง เจตสิก

    อ.อรรณพ ถ้าเราจะแยกกล่าวจากเจตสิก จิตก็มีลักษณะที่บริสุทธิ์ เป็นปัณฑระ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดเพราะมีอกุศลเจตสิก คือ พวกโมหะ โลภะ เป็นต้น ประกอบกับจิตนั้นทำให้จิตนั้นเป็นอกุศล แต่โดยสภาพของจิตเป็นสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ที่เป็นอกุศลจิตก็เพราะอกุศลเจตสิก ไม่ได้หมายความว่าตัวจิตเป็นตัวอกุศลเจตสิกเสียเอง ท่านจึงกล่าวว่าจิตโดยสภาพเป็นปัณฑระ โดยความที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิตบ้างก็เพราะเจตสิกที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จิตเป็นมนินทรีย์ เกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง อ.อรรณพกล่าวว่าจิตเป็นปัณฑระอรรถว่าบริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเป็นปัณฑระ หรือไม่เป็น

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เราเปลี่ยนลักษณะของจิตไม่ได้ จิตก็คือจิต ลักษณะของจิตต้องเป็นอย่างนั้น อยู่ที่ว่าเราจะเข้าถึงอรรถ หรือเข้าใจจิตนั้นอย่างไร "ปัณฑระ" เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิตเพราะเหตุว่าจิตเองไม่ได้เศร้าหมองไม่ได้เป็นอกุศลเลย ไม่ว่าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากเป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต แม้อย่างนั้นปฏิสนธิจิตเป็นปัณฑระ หรือไม่เป็น เป็นปัณฑระ เพราะกล่าวถึงตัวจิต ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกประเภทใดๆ ที่เกิดร่วมด้วยเลย ไม่ได้กล่าวถึงชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยาอะไรทั้งสิ้น แต่ตัวจิต ลักษณะของจิต ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเราไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ต่อไปข้างหน้าเราจะเข้าใจธรรมผิด ไขว้เขวได้ เพราะฉะนั้นพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ ต้องมีความเข้าใจมั่นคงยิ่งขึ้น จิตทุกประเภทเป็นปัณฑระ ปัณฑระเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต ผ่องใสโดยฐานะที่ว่าไม่ได้กล่าวถึงอกุศลเจตสิก หรือเจตสิกที่ดีที่งามก็ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เมื่อใช้คำว่าธาตุรู้ เอารูปออกหมดเลย ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น ถ้าประจักษ์แจ้งอย่างนี้เมื่อไหร่ นั่นคือประจักษ์แจ้งลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ อกุศลจิตเป็นปัณฑระ หรือไม่เป็น ต้องเป็น จิตทุกประเภทไม่เว้น คือธรรมเป็นสิ่งซึ่งเที่ยงตรงแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ความเข้าใจนั้นก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าใช้คำว่าปัณฑระ หมายความถึงจิตทุกประเภท แต่ถ้ากล่าวถึงคำว่า "ประภัสสร" หมายถึงภวังคจิต และจิตที่ดีงามคือกุศลจิต เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกให้เข้าใจ คือถ้ากล่าวถึงประภัสสรหมายความถึง ภวังคจิต และจิตที่ดีงาม เช่นกุศลจิต เพราะเหตุใด ขณะที่นอนหลับสนิท พระอรหันต์นอนหลับ มหาโจรนอนหลับ มีใครเห็นความต่างไหม ไม่ได้ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหว ไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย ไม่ได้พูดอะไรเลยทางวาจา แต่ภวังคจิตต่างกัน เพราะเหตุว่าภวังคจิตของผู้ที่เป็นปุถุชน ยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังมีอนุสัยกิเลสอย่างละเอียดทั้งหมดครบถ้วน แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคล กิเลสอย่างละเอียดซึ่งจะเป็นพืชเชื้อให้เกิดอกุศลเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานต่างๆ ดับแล้ว คือไม่เกิดขึ้นอีกตามลำดับของความเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ในขณะที่หลับ จิตประภัสสรโดยฐานะที่ ยังไม่มีอกุศลจิตเกิดร่วมด้วย เป็นความหมายของ"ประภัสสร" ขณะที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นจิตประกอบด้วยโสภณเจตสิก ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม จิตนั้นก็ประภัสสร ซึ่งต่างกับความหมายของปัณฑระ

    ผู้ฟัง การเห็นทางตา หรือสิ่งที่เห็นทางตาก็ค่อนข้างจะขัดเกลาลงไปได้บ้าง แต่ว่าสภาพที่รู้ เรายังรู้สึกว่าเป็นเราตลอด

    ท่านอาจารย์ ใครที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง พระอริยบุคคล ดังนั้นขณะนั้นเราต้องพิจารณาจิตในจิตอีก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ชื่อ แต่ขณะนี้มีสภาพธรรม แล้วสติระลึกคือรู้ตรงลักษณะแต่ละลักษณะ เพราะว่าลักษณะของจิตไม่ใช่ลักษณะของเจตสิก ไม่ใช่ลักษณะของรูป เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่รู้ตรงลักษณะ และเข้าใจถูกต้องนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจถูกว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง จิตมีมากมาย จิตประเภทไหนที่เป็นประธาน ตายแล้วจิตไปไหน

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของจิตทุกชนิดเป็นประธานเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะนี้ที่กำลังเห็น มีสิ่งที่ถูกเห็น เพราะจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ยังไม่ได้กล่าวถึงความจำ หรือความชอบไม่ชอบ กล่าวแต่เพียงอาการที่กำลังเห็น ลักษณะที่เห็นไม่มีใครเป็นใหญ่เกินจิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะสว่างมาก จะสลัวมาก จะมีสีสันวัณณะต่างๆ วิจิตรตระการตา อย่างไรก็ตามแต่ เพราะจิตเกิดขึ้นเห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่จิตไม่ได้เป็นใหญ่ไปทั้งหมด ไม่ได้เป็นใหญ่ในความรู้สึก ไม่ได้เป็นใหญ่ เช่นกับความเห็นถูกเข้าใจถูกที่เป็นหน้าที่ของปัญญา แต่จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เสียงในขณะนี้มีหลายเสียง เสียงนกเล็กๆ ก็มี เสียงพัดลมก็มี เหตุใด จึงสามารถที่จะจำได้ว่า เป็นเสียงที่ต่างกัน และยังจำได้ว่าเสียงนกไม่ใช่เสียงพัดลม เพราะสัญญาความจำ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของเสียงทางหู ไม่ว่าเสียงใดทั้งสิ้น เสียงแหบ เสียงห้าว เสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเพลงลูกทุ่ง เสียงเพลงลูกกรุง อย่างไรก็แล้วแต่ทุกเสียง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือความเป็นใหญ่ของจิตที่เป็นมนินทรีย์ เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ และสำหรับที่ถามว่า ตายแล้วจิตไปไหน ตอนเกิด หรือตอนที่มีชีวิตอยู่ ก็เข้าใจว่ามีจิตแน่ๆ ถ้าไม่มีจิตก็ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน เหมือนคนที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นตายแล้วจิตไปไหน จิตไม่ได้ไปไหนเลย ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว จิตเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับทันที จิตเกิดขึ้นทำกิจของจิตแต่ละประเภท ศึกษาต่อไปจะทราบว่าหน้าที่ หรือกิจการงานของจิตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นจิตอะไรก็ตาม จิตมีจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม จะต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ หน้าที่ของจิตมี เกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นขณะที่จิตยังไม่เกิด ตาย หรือเป็น แต่ทันทีที่ คนเกิด สัตว์เกิด เพราะจิตเกิด ถ้าไม่มีจิตเกิดก็จะเป็นเพียงเนื้องอก ก้อนดิน หรือก้อนอะไรที่แข็งๆ เท่านั้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นที่ใดก็ตามที่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้เกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิต เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปลาตัวเล็กๆ ก็เห็น ช้างตัวใหญ่ๆ ตาเล็กแต่ก็เห็น ไม่ว่าเห็นจะอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ ลักษณะของเห็นใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏตามปัจจัยในขณะนั้นๆ ที่จะเป็นลักษณะที่กำลังปรากฏขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นจิตเกิดแล้วดับตามเหตุตามปัจจัย บนอากาศ นก เทวดา พรหม เห็น หรือไม่ จริงๆ แล้วเราบัญญัติเรียกว่า พรหมเห็น เทวดาเห็น มนุษย์เห็น ปลาเห็น สัตว์เห็น ตามรูปร่าง ช้างเห็น มดเห็น แต่"เห็น"ก็คือ"เห็น" แต่เราเอารูปร่างมาใส่ว่าช้างเห็น มดเห็น แต่ลักษณะ"เห็น"ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รูปร่างอย่างไร เราไม่คิดถึงเลย เพราะว่าลักษณะของจริงๆ ของ "เห็น" ไม่ใช่รูป เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เกิดขึ้น "เห็น" แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า เกิด ก็คือ จิตเกิด ที่กล่าวว่า ตาย ก็คือจิตขณะสุดท้ายที่ดับ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เพราะจิตทำจุติกิจ ขณะแรกที่เกิด จิตไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยินเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ขณะแรกของทุกภพชาติก็คือปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจสืบต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน สืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้น ทันทีที่ตายก็เกิด ทันทีที่จุติจิตดับปฏิสนธิจิตก็เกิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเป็นบุคคลนี้ เราเป็นบุคคลไหน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เกิดในนรก หรือเป็นเปรต หรือเป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม หรือเป็นอะไรแล้วแต่จะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลนี้ชั่วชาตินี้ที่จิตเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย ซึ่งไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน แต่ทำจุติกิจ พ้นสภาพคือเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีการที่จะกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลยแม้สักนิดเดียว และกรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ที่เรียกว่าตายแล้วเกิด

    อ.ธิดารัตน์ คนที่จะไปทำสมถ หรือ ไปเจริญความสงบ ขั้นต้นต้องมีความเข้าใจว่าลักษณะของกุศลจิตมีลักษณะอย่างไร อกุศลจิตมีลักษณะอย่างไรก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คนที่จะเจริญความสงบต้องเป็นคนที่มีปัญญาใช่ไหม ประการแรกที่สุด คนที่จะอบรมเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้นต้องเป็นคนที่มีปัญญา หรือไม่ หรือใครก็ได้ นั่งไป รู้อารมณ์เดียว แล้วจะเข้าใจว่าสงบ ซึ่งความจริงสงบคือ ต้องสงบจากอกุศล และถ้าไม่รู้ว่าจิตขณะใดเป็นโลภะ จิตขณะใดเป็นโทสะ จิตขณะใดเป็นโมหะ จิตขณะใดสงบเป็นกุศล จะเจริญความสงบไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า สำหรับโทสะ ทุกคนพอจะรู้ได้ อยู่ดีๆ ก็เกิดไม่สบายใจขึ้นมา กระสับกระส่ายไม่ชอบใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นคือเห็นได้เลยว่าเป็นลักษณะความไม่สงบของจิต มีปฏิฆะถูกกระทบด้วยความรู้สึกที่ไม่แช่มชื่นในขณะนั้น ไม่มีใครที่ไม่รู้จักลักษณะของความไม่สงบคือโทสะ เด็กๆ ร้องไห้รู้ไหมว่าขณะนั้นเขาเป็นอย่างไรที่ร้องไห้ ชอบ หรือไม่ชอบถึงได้ร้องไห้ ก็ต้องไม่ชอบ เป็นโทสะ เพราะฉะนั้นโทสะพอจะรู้ได้ แต่สำหรับโลภะ รู้ไหม มีอยู่เมื่อไหร่ เห็นไหม เราเห็นโลภะใหญ่ๆ ความละโมบ โลภ ในเรื่องต่างๆ ในทรัพย์สมบัติ ในชื่อเสียง ในสักการะ นั่นเราเห็นได้ แต่ในขณะที่เพียงเห็นแล้วติดแล้ว รู้ไหม ก็ไม่รู้ แล้วเราไปรู้ความสงบขณะที่ไม่มีโลภะได้อย่างไร และยิ่งขณะที่เป็นโมหมูลจิต ไม่มีทั้งโทสะ ไม่มีทั้งโลภะ แต่เป็นอกุศลเพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะรู้ไหม และถ้ายังมีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่สงบเลย แม้แต่เพียงโมหะก็ไม่สงบ แต่เราเรียกว่าสงบ เพราะว่าขณะนั้นเราเฉยๆ เหมือนกับว่าไม่มีโลภะ ไม่รัก ไม่มีโทสะ ไม่ชัง ก็เลยเข้าใจว่าขณะนั้นเราสงบ แต่ปัญญาอยู่ที่ไหน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ