พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13


    ตอนที่ ๑๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ขันธ์" คืออะไร

    อ.สมพร ขันธ์มีความหมายหลายอย่าง แล้วแต่ความประสงค์ในที่นั้นๆ ที่ท่านบอกว่า ขันธ์มาจากอากาศ คือหมายความว่าเป็นของว่างเปล่า ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย แต่เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ยังคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนี้เป็นของเรา แต่เมื่อเราตายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็สูญไป จะเห็นชัดเจนว่าเป็นของสูญ เป็นประดุจอากาศ ว่างเปล่าจริงๆ

    ท่านอาจารย์ "ขันธ์"เป็นสภาพธรรมที่อาจารย์กล่าวว่า โดยศัพท์หมายถึง ว่างเปล่าจากสาระ เพราะเหตุว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นขันธ์ สิ่งนั้นเกิดขึ้น และดับไปไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นขันธ์ก็ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ในที่นี้ในความหมายของขันธ์ ๕ ได้แก่จิต เจตสิก รูป

    ถ้ากล่าวโดยปรมัตถธรรม ก็จะจำแนกปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ คือ ๑ ขันธ์เป็นรูป หมายความว่ารูปทุกรูปเกิดแล้วดับ ขณะนี้รูปใดที่เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีรูปนั้นอีกต่อไป ที่ร่างกายของเราดูเหมือนกับว่าไม่ได้เกิดดับ แต่ในความป็นจริง รูปใดเกิดแล้วต้องดับ รูปนั้นไม่กลับมาอีกเลย ไม่เหลือเลย แต่มีรูปอื่นเกิด เพราะมีสมุฏฐานที่จะทำให้รูปเกิด ๔ อย่าง อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น กรรมเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด จิตเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด อุตุ ความเย็นความร้อน เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด อาหารที่บริโภคก็เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด เพราะฉะนั้นรูปเกิดเพราะสมุฏฐาน ถ้ารูปที่เกิดเพราะจิตมีการยิ้ม หัวเราะ เคลื่อนไหว กระทำกิจการงานต่างๆ ถ้าไม่มีจิต รูปเหล่านี้เกิดไม่ได้เลย และก็สำหรับ ตา หู จมูก ลิ้น กายคือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นรูปที่สามารถกระทบกับรูปภายนอก เช่น สีเ สียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รูปเหล่านี้คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชา หรือว่าจะมีอำนาจใดๆ ที่จะให้รูปเกิดขึ้นเลย ตามใจชอบ แม้แต่รูปที่เกิดเพราะจิต ถ้าจิตเป็นอย่างไรก็เป็นเหตุให้กาย วาจา ไหวไป เป็นอย่างนั้น ตามประเภทของจิตนั้นๆ ด้วย เช่นจิตที่เป็นอกุศล ก็จะมีการไหวไปในทางที่เป็นอกุศล และทุจริตต่างๆ เพื่อถึงความเข้าใจความเป็นอนัตตาทุกขณะว่า ไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งเป็นอัตตา มีเพียงสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปที่เป็นปรมัตถ์ ถ้ากล่าวแต่เพียงว่า มีจิต มีเจตสิก มีรูป ละกิเลสได้ หรือไม่

    เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงธรรม วิจิตรหลากหลายไปอีก ว่า ๓ อย่างนี้เป็นขันธ์ ๕ คือรูป ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ทั้งสิ้น รูปทุกประเภท ถ้าเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีสภาพรู้แล้ว เป็นรูปทั้งหมด รูปในอดีตมี หรือไม่ เมื่อวันก่อนมีรูป หรือไม่ มี รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว รูปในขณะนี้ก็มี เกิดแล้วดับแล้ว รูปข้างหน้าที่จะเกิดก็ไม่พ้นจากการเป็นรูปซึ่งเป็นลักษณะของรูปแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นรูปทุกประเภททุกชนิดเป็นรูปขันธ์ ไม่ได้หมายความว่า นำรูปทุกชนิดมารวมกันเป็นกองหนึ่ง แต่หมายความว่าลักษณะของรูปจะไปเป็นขันธ์อื่นอย่างอื่นไม่ได้ รูปไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ละรูปเป็นรูปขันธ์ เพราะว่ารูปที่เป็นอดีตก็มี รูปที่เป็นปัจจุบัน รูปที่เป็นอนาคตก็มี และ ความหลากหลายของรูป ไม่ว่าจะเป็นสีสันวรรณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียง ทุกท่านลองพูด เสียงของทุกท่าน เหมือนกัน หรือไม่ เพราะฉะนั้น แต่ละเสียงเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่าจะหลากหลายอย่างไรในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต รูปเป็นรูป จึงเป็นรูปขันธ์

    ส่วนที่เหลืออีก ๔ ขันธ์ เป็นนามธรรม และนามธรรมที่เกิดดับ ได้แก่จิต และเจตสิก จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์ จะใช้คำว่า "จิต" จะใช้คำว่า "วิญญาณ" จะใช้คำว่า "มโน" จะใช้คำว่า “มนัส” ก็คือจิต แต่โดยนัยของขันธ์ จิตทุกประเภท ทุกขณะที่เกิดขึ้นเป็น วิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นรูปขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ เหลืออีก ๓ ขันธ์เป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ถ้าปรมัตถ์ไม่มี บัญญัติก็มีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บัญญัติมีเมื่อไหร่ มีเมื่อจิตคิดเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีจิตที่คิด บัญญัติใดๆ ก็มีไม่ได้ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าปรุงแต่ง เป็นเนื้อความของพระอภิธรรมปิฎกทั้งปิฎกอยู่ใน ๔ คำนี้เอง ไม่ใช่ว่าย่อคำ

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าพูดถึงย่อจริงๆ ทุกอย่างเป็นธรรม ก็เหลืออย่างเดียว แต่ที่ใช้คำว่า จิต เจตสิก รูป คือการจำแนกว่า แม้กระทั่งนามธรรมก็มีความต่างกัน คือแยกเป็นจิต เจตสิก และพระนิพพาน นิพพานเป็นนามธรรมแต่ไม่ใช่สภาพรู้ ส่วนรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตามก็เป็นรูปธรรม จึงจำแนกโดยลักษณะที่ละเอียดเป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    อ.กุลวิไล พระไตรปิฎกแสดงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง๓ปิฎก ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง และมีสภาวะลักษณะ สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของธรรมเป็นอย่างนั้น ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นว่า จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน นิพพานก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป รูปก็ไม่ใช่จิตไม่ใช่เจตสิก เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมจึงมี ๔

    ผู้ฟัง รูปธรรม นามธรรม ทั้งหลายนั้นเกิด และดับ ดังนั้นก็ไม่จริง พระนิพพานเป็นสภาพที่เที่ยง แต่รูปธรรม นามธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง จึงไม่จริง

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วดับแล้วตลอดเวลา ขณะนี้หาอีกไม่ได้ ไม่กลับมาอีกเลย แต่หลงเข้าใจว่ายังมีอยู่ เพราะฉะนั้น พื้นฐานสำคัญที่สุดก็คือเข้าใจปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ คือรูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ที่เหลือต้องเป็นเจตสิกทั้ง ๓ ขันธ์

    และก็ขอให้คิดถึงความจริงว่า การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกเป็นขันธ์ ๕ เพราะอะไร ขณะนี้อะไรสำคัญมากสำหรับทุกคน

    อ.วิชัย ตามความคิดเห็นก็คือ จิต ถ้าไม่มีจิต ก็คือไม่รู้อะไรเลยในโลกนี้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณวิชัยกำลังสนุกมาก อร่อยมาก คิดถึงจิต หรืออะไร

    อ.วิชัย ยินดี พอใจกับสิ่งที่เราติดข้องในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าสิ่งหนึ่งซึ่งมีจริง และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่สุดคือ ความรู้สึก ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ ห่างไกลแสนไกลทั้งทุกข์กายทุกข์ใจ นี่คือความปรารถนา เพราะฉะนั้น ก็ปรารถนาโสมนัส คือความรู้สึกเป็นสุข แสวงหาทุกอย่างเพื่อความรู้สึกนี้ เหตุใดจึงทำอาหารอร่อยๆ เหตุใดจึงซื้อของสวยๆ งามๆ เหตุใดจึงประดิษฐ์อะไรทุกอย่างให้น่าดูน่าพอใจ จะเห็นได้ว่าเพื่อสภาพธรรมที่มีจริงอย่างเดียว คือความรู้สึก ความรู้สึกมีจริง แต่ไม่ใช่จิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่จิตกำลังรู้เรียกว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลมพน” เป็นที่มายินดีของจิต เพราะจิตจะไม่พรากจากอารมณ์เลย จิตเกิดขึ้นต้องไปสู่อารมณ์ ต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้นสำหรับอารมณ์ทั้งหลายที่จิตรู้ ถ้าอารมณ์นั้นไม่ดี จิตนั้นก็ไม่เป็นสุข แล้วเราก็ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทุกคนแสวงหาต้องการที่สุด คือโสมนัสเวทนา ความรู้สึกสบายใจ ทางกายก็เป็นสุขเวทนา ถ้าไม่ได้ อทุขมสุขก็ยังดี คือเฉยๆ แต่อย่าให้เป็นโทมนัส หรือ ทุกข์ทางกาย ไม่มีใครต้องการ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ที่เราแสวงหารูป และติดในรูป เพราะเราอยู่ในภูมิภพที่มีรูปขันธ์ เราไม่ได้อยู่ในภูมิที่มีแต่จิต เจตสิก ไม่มีรูปเลย วันหนึ่งๆ ก็จะเห็นรูปทางตา, ได้ยินเสียง (รูป) ทางหู, ได้กลิ่น (รูป) ทางจมูก, ได้ลิ้มรส (รูป) ทางลิ้น, ได้กระทบสัมผัส (รูป) ทางกาย แล้วจะให้ติดข้องในอะไร ถ้าไม่ติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และสิ่งที่พอใจที่สุดคือความรู้สึกที่เป็นสุข หรือโสมนัส ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิก เป็นเจตสิกหนึ่งประเภทในเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท เป็นเวทนาขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทใด ส่วนของเวทนาจะไม่เป็นส่วนของธรรมอื่นเลย เป็นเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาขันธ์

    ถามว่า เวทนาเจตสิกที่ไม่เป็นเวทนาขันธ์มีไหม การศึกษาธรรมใครจะไปเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้นว่า สภาพธรรมที่รู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเฉยๆ รู้สึกดีใจ รู้สึกเสียใจ รู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุข นั่นคือความรู้สึกซึ่งมีจริงประเภทหนึ่ง คือ เป็นเวทนาเจตสิก แล้วก็เป็นเวทนาขันธ์ด้วย หมายความว่าไม่ปะปนกับเจตสิกอื่นเลย และที่ทรงแสดงอย่างนี้ ต่อจากนี้ก็จะทราบว่าเพราะอำนาจของความยึดถือ เราต้องการอะไรถ้าไม่ใช่รูป เห็นไหมว่าเราติดในรูป เกิดมาก็ด้วยความไม่รู้ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ถ้าจะใช้ชื่อว่า “ปฏิจจสมุปบาท ” ก็ใช้ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ แต่ถ้าใช้โดยความเข้าใจว่าเกิดมาไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่ารู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ รู้ถูก เข้าใจถูก หรือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ถ้าเป็นปัญญา ปัญญากับอวิชชามีลักษณะตรงกันข้ามกัน อวิชชาคือสภาพที่ไม่สามารถเข้าใจถูก ไม่สามารถเห็นถูก ไม่เข้าใจถูกในอะไร ไม่ใช่ลอยๆ ใช่ไหม ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้ มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกใน “เห็น” ที่กำลังเห็น หรือไม่ ตรงตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก ไม่มีความเห็นถูก เคยได้ยินคำว่า “อวิชชา” แต่ไม่รู้ว่าอวิชชามี หรือไม่ มีลักษณะอย่างไร แต่ขณะนี้เราไม่ได้เรียนเรื่องคำเฉยๆ แต่คำส่องถึงลักษณะปรมัตถธรรมซึ่งต่างกัน ขณะนี้ไม่รู้ความจริงของ “เห็น” ลักษณะที่ไม่สามารถรู้ได้ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงๆ และสภาพธรรมนี้ซึ่งเป็นอวิชชาไม่สามารถจะรู้ถูก เห็นถูก ไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ได้เลย มีอวิชชา หรือไม่ มีเมื่อไร พอจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขณะใดที่มีอวิชชา ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ซึ่งธรรมทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องกัน และจะทำให้เราเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจโดยชื่อ ปฏิจจสมุปบาท โดยเอามาเรียงกัน แล้วก็โยงกันไปเป็นข้อๆ แต่ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อไร ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง เคยได้ยินคุณอลัน ไดรเวอร์ ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้วกล่าวว่า เวทนาเป็นสภาพธรรมที่ร้ายที่สุด ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณอลันใช้คำว่าเจ้าตัวร้าย เพราะว่าทุกคนติดในเวทนาที่เป็นสุขมาก แสวงหา ดิ้นรน กระทำสังขารทั้งหลายทั้งที่เป็นกุศล หรือ อกุศล เพื่อที่ให้ได้เวทนาที่เป็นสุข เรากล่าวแต่ละอย่าง เช่น รูปขันธ์ เป็นรูป วิญญาณขันธ์เป็นจิต และเราก็กำลังจะกล่าวถึงนามขันธ์ที่ ๑ คือเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นความรู้สึก คงไม่มีใครสงสัยเรื่องของเวทนา ความรู้สึก ต่อไปจะไม่มีเวทนาได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่ไม่รู้ว่าเวทนาประเภทใดจะเกิด เพราะเหตุว่าเป็นอนัตตา จะเป็นอุเบกขาเวทนา ทุกขเวทนา สุขเวทนา โสมนัสเวทนา หรือโทมนัสเวทนา ไม่มีใครสามารถจะรู้ขณะจิตต่อไปได้ เพราะเหตุว่าเป็นอนัตตา แต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ ว่าทุกวัน ทุกขณะจิต ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดเวทนาเลย และเวทนาก็มีถึง ๕ อย่างที่เป็นสุขทางกาย ๑ เป็นทุกข์ทางกาย ๑ ที่เป็นโสมนัส สุขใจ ๑ เป็นโทมนัส ทุกข์ใจ ๑ และทุกขมสุขคือขณะที่เฉยๆ ถ้าจะถามว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไร เป็นสุขทางไหน เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง ขณะนั้น ไม่ได้อยู่ที่อื่น สามารถที่จะตอบได้ถึงความรู้สึกที่มี ขณะนี้คุณหมอรู้สึกอย่างไร สบายดี หมายความถึงทางกาย หรือทางใจ

    ผู้ฟัง ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี

    ท่านอาจารย์ ทางกายก็สบาย ทางใจก็สุข ตอนนี้มีใครเป็นทุกข์กายบ้างไหม ตามความเป็นจริง แต่ละคนก็แต่ละอย่าง ไม่ได้หมายความว่าต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสภาพธรรมคือตรงในขณะนั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่จะเกิดซ้ำสืบต่อจนกระทั่งปรากฏลักษณะนั้นได้บ่อยๆ นั่นก็คือเจตสิกซึ่งมีความสำคัญเป็นที่ยึดถืออย่างเหนียวแน่นมาก เป็นเวทนาขันธ์

    ผู้ฟัง เป็นขันธ์ที่สำคัญกว่าขันธ์อื่น หรือว่าเป็นตัวที่ร้ายที่สุดในบรรดาขันธ์ทั้งหมด หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทุกขันธ์สำคัญทั้งหมด เพราะจะปราศจากกันไม่ได้ จะมีเวทนาโดยไม่มีจิตไม่ได้ และเมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้น รูปขันธ์ก็สำคัญ เพราะว่าจิตกำลังรู้รูปขันธ์นั้นด้วยเวทนาอะไร ๕ ขันธ์นั้น จึงเป็นที่ยึดถือมากมาย

    ผู้ฟัง เวทนาขันธ์ เขาแปลงสภาพเป็น ๕ อย่าง หนักใจตอนที่เป็นโทมนัสเวทนา เป็นปัญหาของทุกคน โทมนัสเวทนาเกิดก็เป็นปัญหา

    อ.อรรณพ เวทนาก็เป็นสภาพความรู้สึกซึ่งไม่ปราศจากเลย ไม่ว่าจะขณะไหนที่จิตเกิดขึ้น ก็จะต้องมีสภาพความรู้สึก ซึ่งเราก็แสวงหาความรู้สึกที่ดี ความสุขทางกาย เช่น ร้อน เราก็จะหาที่เย็น อยากให้มีความสุขกาย และก็อยากที่จะได้เห็น ได้ยิน สิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เราเกิดความชอบ เกิดความสุขใจ อยากที่จะได้ยินเรื่องที่เป็นที่น่าพอใจก็แสวงหาเวทนา แต่จริงๆ ไม่รู้เลยว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเวทนาขันธ์ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เราแสวงหาความรู้สึก ว่าเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย

    ผู้ฟัง ในขณะที่ฟังธรรมเดี๋ยวนี้เองก็ไม่รู้ความจริงว่า สภาพธรรมทางตานั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าขณะนั้นสติไม่เกิด ก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ตลอด ก็เป็นอกุศลตลอดในขณะเห็น และก็ไม่รู้ความจริงว่า ธรรมทางตาเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องสภาพธรรมโดยละเอียด ซึ่งในขณะนี้เองมีกุศลจิต มีอกุศลจิต มีวิบากจิต มีกิริยาจิตครบ เพียงแต่ว่าขณะไหนจะเป็นประเภทไหน ซึ่งเรายังไม่ได้กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่าสิ่งที่มีคือความไม่รู้มากมายมหาศาล ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่รู้ว่าไม่ใช่เราอย่างไร แม้แต่จิตหลากหลายในขณะนี้ที่กล่าวว่ากุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี วิบากก็มี กิริยาก็มี เราก็ไม่รู้ทั้งหมด ไม่รู้อะไรทั้งนั้นเลย เต็มไปด้วยความไม่รู้จนกว่าจะค่อยๆ ศึกษาตามลำดับ แล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยที่ไม่ใช่เดา ว่าขณะนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นต้องเป็นอย่างนั้น แต่ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นก็ดับไปหมดแล้วทุกๆ ขณะ

    ผู้ฟัง ถ้าผมไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมทั้งหมด ก็เป็นอกุศลตลอดที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย หรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลก็ไม่รู้ เป็นอกุศลก็ไม่รู้ เป็นวิบากก็ไม่รู้ เป็นกิริยาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ทีละขณะก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราไปสรุปเราเองไม่ได้ว่าเป็นอกุศลทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่รู้จริงๆ แต่ไม่รู้ในขณะที่เป็นกุศล ไม่รู้ในขณะที่เป็นอกุศล ไม่รู้ในขณะที่เป็นวิบาก ไม่รู้ในขณะที่เป็นกิริยา เพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ เพียงแต่ขณะนี้มีสภาพธรรมให้เริ่มเห็นตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น เตือนอยู่ตลอดเวลาว่า "เป็นธรรม" แต่ละลักษณะเป็นธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน และก็กำลังให้เข้าใจนามธรรม และรูปธรรมว่า รูปธรรมเป็นรูปขันธ์ และนามธรรมมี ๒ ประเภท คือ จิต และเจตสิก จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นมีเจตสิก ๕๒ ประเภท ซึ่งเจตสิก ๑ ประเภทเป็นเวทนาขันธ์ ได้แก่เวทนาเจตสิก สภาพที่รู้สึกไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก ไม่ว่าจะรู้สึกดีใจ เสียใจ ก็เป็นเจตสิกนี้แหล่ะที่รู้สึก ก็แล้วแต่ว่าจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่การแปลง แต่หมายความว่ามีปัจจัยที่ความรู้สึกชนิดนั้นจะเกิด เกิดแล้วดับ แปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น การเข้าใจคำ และการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมต้องตรงตลอดเวลาว่าเมื่อเป็นสังขารธรรม ขณะที่เกิดปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นสังขตธรรม เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ถ้าเป็นสุขเวทนาก็คือสุขเวทนา แปลงไม่ได้ ดับไป พอมีปัจจัยที่ทุกขเวทนาจะเกิด ทุกขเวทนาก็เกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็กล่าวว่า เวทนามีความรู้สึก ๕ อย่าง เพราะว่าคุณรุ่งอรุณโดนครูตี และผมก็อธิบายว่า รู้สึกเจ็บนั้นเป็นเวทนาไม่ใช่จิต แล้วก็มาโทมนัสตั้งเดือน เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของทุกๆ คนด้วยที่เป็นปุถุชน เพราะไม่อยากให้เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่าโทมนัสเกิดแล้วก็ดับ คือ ทุกอย่างไม่เที่ยงเลย เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ที่จะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตนได้ ก็ต่อเมื่อได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่อย่างนั้นจะไถ่ถอนการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรามานานแสนนาน ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามที่บอกว่าความรู้สึกเจ็บนั้นเป็นเวทนา ไม่ใช่จิต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    16 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ