พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11


    ตอนที่ ๑๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นที่ตั้งของความยึดถือใช่ หรือไม่ เป็นอุปาทานขันธ์ใช่ไหม เป็นอุปาทานขันธ์ แต่ใช้คำว่า วิญญาณ แสดงให้เห็นว่า จะใช้คำใด ที่ไหน อย่างไร ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาวธรรมซึ่งเป็นจิต ก็ไม่แปลกว่าจะใช้ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ผมมีความสงสัยเรื่องจิตกับเจตสิกว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน จิตก็มีอกุศล เจตสิกก็มีอกุศล แต่เวลาที่จิตเกิดอกุศล เขาไม่มีกำลัง หรืออย่างไร จึงต้องอาศัยเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เราจะต้องกล่าวถึงขณะที่มีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ นามธรรมที่รู้ มี ๒ ประการ จิตก็รู้ เจตสิกก็รู้ แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นเสียง ทำไมเรารู้ว่ามีหลายเสียง ก็เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียงในขณะนั้น แต่ละเสียง จึงรู้ว่าเสียงต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับความรู้สึกซึ่งเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ความรู้สึกเป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิต ไม่ว่าจิตจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดร่วมด้วย เช่น ขณะที่เห็น จะกล่าวว่า เมื่อเห็นแล้วไม่รู้สึกอะไร แต่ความจริงมีสภาวธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ชื่อว่า “เวทนาเจตสิก” เป็นสภาพที่ต้องรู้สึก เกิดแล้วต้องรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งความรู้สึกนั้นมีต่างกันเป็น ๕ ประเภท ความรู้สึกที่เป็นสุข ๑ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ๑ สองประเภทนี้หมายความถึงความรู้สึกทางกาย เช่นเวลาที่เจ็บป่วย ความรู้สึกนั่นเองเกิดขึ้น เป็นสภาพธรรม เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม แต่ไม่ใช่จิต ความรู้สึกไม่ใช่จิต แต่ว่าความรู้สึกขณะที่เป็นทุกข์ขณะนั้นเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง ต้องอาศัยกายจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีกาย ไม่หิว ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่เป็นโรคต่างๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย ๑ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ๑ ส่วนอีก ๓ ประเภท เป็นความรู้สึกทางใจ เช่น โสมนัส (ดีใจ) , โทมนัส (เสียใจ) , อุเบกขา หรืออทุกขมสุข หมายความว่า ไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ ที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ไม่ใช่จิต เพราะจิตไม่ได้รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่เจตสิกชนิดนั้นเป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่นในเสียง เสียงบางเสียงนี่ไม่ชอบเลย ขณะที่ไม่ชอบ ความรู้สึกขณะนั้นเป็นทุมนัส ใจที่ไม่ดี รวมกันแล้วก็ใช้คำว่า “โทมนัสเวทนา” หมายความว่า เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ แม้เพียงเล็กน้อย น้อยมากเช่น ความขุ่นใจ ถ้าเห็นฝุ่นละอองแม้นิดเดียว เราเกิดขุ่นใจนิดเดียว ถ้าเห็นมากๆ ความขุ่นใจของเราก็มากขึ้น เป็นความไม่สบายใจที่มากขึ้น ความรู้สึกที่ไม่สบาย เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เป็นโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตนั้นก็มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นต่างๆ อาจจะเป็นทุกข์ หรือสุขทางกาย โสมนัส หรือโทมนัสทางใจ และความรู้สึกเฉยๆ เช่นขณะนี้ ถ้าถามว่า รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เฉยๆ เมื่อใด

    ผู้ฟัง ก็จะรู้เป็นบางขณะ

    ท่านอาจารย์ ธรรมจะมีคำตอบไม่สิ้นสุด และจะมีคำถามไม่สิ้นสุดด้วย ถ้าถามว่ารู้สึกเฉยๆ จะถามต่อไปว่าเมื่อใด ถ้าเป็นความที่เจาะจง ก็เป็นความละเอียดขณะที่เห็น หรือขณะที่ได้ยิน หรือขณะที่ได้กลิ่น หรือ ขณะที่ลิ้มรส เพราะว่าจิตจะต้องมีทางรู้อารมณ์ ๖ ทาง จิตเป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้จริง แต่ถ้าไม่มีตาจักขุปสาท จิตเห็นเกิดไม่ได้ โลกสว่างประกอบด้วยสีสันต่างๆ ทำให้นึกถึงคน และวัตถุรูปร่างต่างๆ ซึ่งจะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มีจักขุปสาท เป็นทางจะให้จิตเกิดขึ้นเห็น สำหรับทางหู แม้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ก็ต้องมีทางคือโสตปสาทรูป เป็นรูปที่สามารถกระทบเฉพาะเสียง จะไม่กระทบกับรูปอื่นเลยนอกจากเสียง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ผู้ใดมีโสตปสาท และก็มีเสียงกระทบ ขณะนั้นจิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียง เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมกันก็จะมีความรู้สึกในเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทุกขณะเป็นธรรมทั้งหมด เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่ใช่เรา แต่มีความละเอียดที่เราจะต้องรู้ว่า วันหนึ่งๆ ที่เรากล่าวว่า วินาที เสี้ยววินาที ชั่วโมง หรือเหตุการณ์ใหญ่ๆ แท้ที่จริงเพราะจิตเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป และก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป สืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดจิตเลย เพราะฉะนั้น จึงมีคำที่ใช้แสดงเรื่องของจิตประเภทต่างๆ แต่เมื่อไม่รู้ก็เป็นเราทั้งหมด เช่น เราหลับ เราตื่น เราเห็น เราได้ยิน เราคิด เราสุข เราทุกข์ สภาพธรรมที่มีทั้งหมดกลายเป็นเราด้วยความไม่รู้ แม้แต่รูปของเรา ตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้า ความจริงรูปก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน คือ รูปบางกลุ่ม หรือบางกลาป เพราะรูปจะเกิดตามลำพังรูปเดียวไม่ได้ รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอุตุความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ที่ร่างกายของสัตว์บุคคล มีรูปที่เกิดจากสมุฏฐานครบทั้ง ๔ แต่ไม่ได้หมายความว่า รูปหนึ่งมีสมุฏฐาน ๔ เพราะเหตุว่า รูปใดเกิดจากสมุฏฐานใด ก็เกิดจากสมุฏฐานนั้นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เนื่องจากไม่รู้ความจริงที่ตัวของเราจึงยึดถือทั้งหมด ตาของเรา หูของเรา ร่างกายของเรา แต่ความจริงเป็นรูป รูปเป็นรูป นามเป็นนาม จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง แล้วเราจะรู้สภาพตรงนั้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องไหม มีจริงๆ เป็นเรา หรือเป็นเพียงสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ การที่จะเรียนสัจจธรรมความจริงของธรรม ซึ่งเป็นสภาวธรรมแต่ละอย่าง มีลักษณะเฉพาะตนๆ จนกระทั่งรู้ขึ้น ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครจะสามารถแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แม้ว่าความเป็นจริงของธรรมคืออย่างนี้ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่ไปทำอะไรให้เกิดขึ้น แต่รู้สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ถ้าไม่รู้ขณะใด สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วทุกๆ ขณะไป

    ผู้ฟัง เจตสิก ชีวิตตินทรีย์ กับชีวิต เหมือนกัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นคำรวมของคำว่า อินทรียะ และชีวิต ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่าเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิต และดับพร้อมจิต เป็นสภาวธรรมซึ่งไม่เกิดที่อื่นเลย แต่อาศัยเกิดกับจิต หรือเกิดในจิต เกิดพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และก็ดับพร้อมกับจิต

    ผู้ฟัง คนที่เป็นดาวซินโดรม คนเป็นปัญญาอ่อน สภาพรู้เขาจะไม่เหมือนอย่างเรา

    ท่านอาจารย์ ที่เราใช้คำว่า “คน” เพราะว่ามีจิต เจตสิก ไม่ใช่มีแต่รูป ใช่ หรือไม่ และในภูมินี้ ต้องมีทั้งจิต เจตสิก รูป ไม่มีคนซึ่งไม่มีรูปใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีทั้งจิต เจตสิก และรูป จึงชื่อว่าคน แต่ว่าอะไรจะหายไปถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นเกิดไม่ได้ ไม่มีโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ จิตเกิดขึ้นหลากหลายตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ คือขณะแรกที่เกิด ซึ่งต่อไปจะได้กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ หากกล่าวว่าถึงแม้ไม่มีจักขุปสาทก็เห็น ถูก หรือผิด จักขุวิญญาณเป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขณะใดก็ทำหน้าที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น คำจำกัดความมาจากการตรัสรู้ ทรงแสดงทุกคำ เห็นแจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่คิดนึก เราอาจจะคิดนึกได้ แต่ขณะที่เรากำลังคิดถึงรูปหนึ่งรูปใดที่เราเคยเห็น ขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เห็นแจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น จึงเป็นความหลากหลายที่แสดงให้เห็นชัดว่า เมื่อพูดถึงจิต ก็จะต้องพูดถึงจิตโดยละเอียดแต่ละประเภทไป ไม่กล่าวรวม ถ้ากล่าวรวมก็กล่าวว่า คนปัญญาอ่อน แต่ถ้ากล่าวถึงจิต ต้องรู้เลยว่าจิตชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่ใช่เฉพาะคนปัญญาอ่อน ปลามีจิตเห็น หรือไม่ หนอนมีจิตเห็น หรือไม่ ก็แล้วแต่ เรากล่าวถึงจิต ไม่ได้กล่าวถึงชื่อ แต่กล่าวถึงสภาวธรรม ซึ่งมีจริง แล้วก็เกิดขึ้น ทำกิจนั้นๆ ตามลักษณะของสภาวธรรมนั้นๆ

    อ.อรรณพ ถ้าไม่มีสภาพของชีวิตตินทรีย์ ซึ่งจะทำให้จิต และเจตสิกนั้นดำรงอยู่ หรือช่วยรักษาอยู่ชั่วอายุสั้นๆ ของจิตนั้น จิต และเจตสิกก็เกิดไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดชีวิตตินทรีย์จึงต้องเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะว่าจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นจะต้องมีขณะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ก็คือมีอายุของจิต และเจตสิกนั้นซึ่งสั้นมาก แต่ที่กล่าวว่าสั้นแสนสั้นนั้นขณะไหน ก็ต้องมีอายุอยู่ชั่วขณะ ซึ่งเป็นกิจ เป็นหน้าที่ของชีวิตตินทรีย์

    อ.ธิดารัตน์ ชีวิตตินทรีย์ มีคำว่าอินทรีย์ คือสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ คือเป็นใหญ่ในการที่จะดำรงรักษาสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมกันให้ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดขึ้น และให้ดำรงอยู่จนไปถึงขณะที่ดับ

    อ.วิชัย ชีวิตตินทริย มีทั้งเป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ลักษณะที่เป็นนามคือลักษณะของเจตสิกที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน และก็มีกิจที่ต่างกัน ชีวิตตินทริยเจตสิกมีกิจ คือ อนุบาลรักษาให้จิต เจตสิก ดำรงอยู่ ส่วนชีวิตตินทริยรูปก็เป็นรูปๆ หนึ่งซึ่งเกิดจากรรมเท่านั้น ฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรมทั้งหมดต้องมีชีวิตตินทริยรูปอนุบาลรักษารูปให้ดำรงอยู่เช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นแล้วจะกล่าวได้ว่าในทุกขณะจะมีทั้งชีวิตรูป และชีวิตนามตลอดไป หรือไม่

    อ.วิชัย ขณะที่เกิด ชีวิตตินทรีย์ที่เป็นนามเกิดขึ้น มีกิจคืออนุบาลรักษาจิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น และก็ต้องดับ คือในขณะที่ยังไม่ดับก็อนุบาลรักษา ชีวิตตินตริยรูปก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นก็อนุบาลรักษารูปที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้นที่ยังไม่ดับ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ชีวิตรูป และชีวิตนามก็มีปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย มีเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วแต่ว่าจะปรากฏแก่บุคคลใด แล้วแต่บุคคลใดที่จะทราบ ที่จะรู้ มีชีวิตตินทรีย์ขณะนั้นเป็นอารมณ์ แต่โดยปกติมีรูป ๗ รูปเป็นโคจรรูป คือเป็นรูปที่เที่ยวไปของจิต ๗ รูปตามที่ท่านอาจารย์กล่าวในตอนต้น

    อ.ธิดารัตน์ ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยกรรม จะไม่ขาดรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งจะต้องมีชีวิตตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยในกลุ่มนั้น เช่น จักขุปสาทเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีจิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีชีวิตตินทริยเจตสิกประกอบร่วมด้วย และอาศัยจักขุปสาทซึ่งเป็นรูป ซึ่งมีชีวิตตินทริยรูปด้วย เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่ามีทั้งชีวิตรูป และชีวิตนาม ประชุมรวมกัน และอาศัยกันเกิดขึ้นในแต่ละขณะที่ดำรงชีวิตอยู่

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะกล่าวถึงเจตสิก เพราะขณะนี้ เรื่องจิต ก็พอจะเข้าใจ แต่ขอให้ทราบว่าเป็นปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริง เป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ อย่างไร รู้อารมณ์อะไร ในรูปพรหม อรูปพรหมอย่างไร ก็คือจิต

    ส่วนเจตสิก เป็นสภาพปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดด้วยกันกับจิต แยกกันไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าจิตหนึ่งขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยจำนวนเท่าใด แต่อย่างน้อยที่สุดของจิตหนึ่งขณะเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ชีวิตตินทริยเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ จิตไม่ใช่ก้อนกรวด จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม ซึ่งบางคนอาจจะกล่าวว่า มีชีวิต ถ้าปราศจากจิตก็ตาย ไม่มีชีวิต แต่ถ้ากล่าวถึงจิต ลักษณะที่จะทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต่างกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เพราะเหตุว่ามีจิต แต่ถึงกระนั้นก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งขาดไม่ได้เลยคือ ชีวิตตินทริยเจตสิกเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะที่ทำหน้าที่ หรือกิจของเจตสิกนี้ ก็คืออนุบาลรักษานามธรรมที่เกิดร่วมกันทั้งหมดทั้งจิต และเจตสิกให้ดำรงอยู่ชั่วขณะที่ยังไม่ดับ แสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่เราไม่สามารถเห็นเลย เราไม่สามารถเห็นจิต และไม่สามารถเห็นเจตสิก แม้กระนั้นผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ทรงแสดงว่า ขณะที่จิตเกิดไม่ใช่มีแต่เวทนาเจตสิกซึ่งรู้สึกในอารมณ์นั้นเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่มีแต่สัญญาเจตสิกซึ่งจำในอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ ไม่ใช่มีแต่เจตสิกอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึง รวมทั้งชีวิตตินทริยเจตสิกด้วย แสดงให้เห็นถึงสภาพที่ทรงชีวิต หรือมีชีวิต เพราะแม้นามธรรมก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตด้วยชีวิตตินทริยเจตสิก ซึ่งดำรงอนุบาลรักษาให้จิตนั้นดำรงอยู่ชั่วขณะที่ยังไม่ดับไป นี่คือลักษณะของ ชีวิตตินทริยเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ

    ส่วนรูปธรรม เฉพาะรูปซึ่งเกิดจากกรรมเท่านั้นที่มีชีวิตตินทริยรูป เพราะฉะนั้นคำว่าชีวิตจะเห็นได้ว่าทำให้สภาพธรรมต่างกัน ระหว่างสิ่งที่มีชีวิตกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต แม้นามธรรมก็ต้องเป็นสภาพที่ทรงชีวิต ไม่ใช่ไม่มีชีวิตแล้วจะเป็นนามธรรมได้ แม้รูปธรรมบางรูปก็เป็นสภาพที่ทรงชีวิต เพราะฉะนั้นเวลาที่กัมมชรูปไม่เกิด เวลาที่จุติจิตดับ กัมมชรูปดับพร้อมกับจุติจิต รูปที่มีอยู่ซึ่งเคยเป็นคนนั้นที่เรารู้จัก แม้เพียงชั่วขณะจิตเดียว ความรวดเร็วของจิต เกิด และดับเร็วมาก ก่อนจุติจิตเกิด ก็มีจิตเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่จุติจิต เพราะว่าจุติจิตต้องเป็นจิตขณะสุดท้ายของชาติหนึ่ง ที่ทำกิจพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง ทันทีที่จุติจิตดับจะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเพียงชั่วจุติจิตดับ รูปนั้นเป็นรูปที่ปราศจากชีวิต รูปทุกรูปขณะนั้นไม่มีชีวิตตินทริยรูปเลย แต่ว่าในความทรงจำของเราซึ่งไม่ละเอียด ก็ยังมองเห็นว่าคนที่ตายซึ่งอาจไม่ทราบว่าเขาตายเวลาใด เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก และรูปก็ยังไม่ทันแข็ง ยังไม่ทันเปลี่ยนสภาพ เพราะฉะนั้นด้วยความทรงจำเราไม่สามารถจะทรงจำถึงขณะนั้นได้ ว่าขณะที่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นแล้ว รูปนั้นไม่มีชีวิตเพราะไม่มีชีวิตตินทริยรูปเกิดอีกเลย จึงเป็นความละเอียดที่จะแสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เพราะชีวิตตินทริยรูป ทำให้รูปเป็นรูปที่ทรงชีวิต หรือมีชีวิต หรือดำรงชีวิต แต่ความจริงในกลาป หรือในกลุ่มของรูปแต่ละกลุ่มที่เกิดดับสืบต่อเร็วมาก และต้องเป็นกลุ่มของกัมมชรูป คือรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย ด้วยเหตุนี้ หุ่นหญิง หุ่นชาย ตุ๊กตาต่างๆ มีชีวิตตินทริยรูปไหม ไม่มี ตาก็เหมือนกัน รูปวาดบางรูปเหมือนรูปที่มีชีวิตมาก แต่ก็ไม่มีชีวิตตินทริยรูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปที่ทรงชีวิต ไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรม นี้คือเรื่องของสภาวธรรมอย่างละเอียด ทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีสิ่งนี้เกิดขึ้น ผลก็คือว่าจะมีสัญญาความทรงจำที่หลากหลายในสิ่งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาวธรรมแต่ละอย่าง ถ้าเป็นชีวิตตินทริยที่เป็นเจตสิก ก็อนุบาลรักษาสหชาตธรรม คือธรรมที่เกิดร่วมกันที่เป็นนามธรรมทั้งจิต และเจตสิกให้ดำรงอยู่ชั่วขณะที่ยังไม่ดับไป และถ้าสำหรับเป็นรูปก็มีชีวิตตินทริยรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ทำให้รูปนั้นต่างจากรูปอื่น เช่น หุ่นต่างๆ ที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฎฐาน ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าไม่มีชีวิตตินทริยรูป

    ผู้ฟัง สมมติว่า แขนขาดลงไปวางอยู่บนพื้นถนน ขณะนั้นก็ไม่มีชีวิตรูป เพราะชีวิตรูปดับไปแล้ว ก็มีเฉพาะอตุชรูปเท่านั้น

    อ.ธีรพันธ์ คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ในความหมายของจิต กับปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง เหมือน หรือต่างกันอย่างไร ในคำว่ารู้แจ้งอารมณ์

    ท่านอาจารย์ รู้แจ้งด้วยวิญญาณ รู้แจ้งด้วยสัญญา รู้แจ้งด้วยปัญญา ปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูก เข้าใจถูก ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสภาพที่เห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์ เด็กๆ ก็สามารถเห็นแจ้งลักษณะทางอารมณ์ได้ ทุกคนที่มีตา และมีสิ่งที่ปรากฏ จิตเห็น เห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์ บางท่านอาจจะบอกว่าเห็นไม่ชัด แต่จะชัด หรือไม่ชัดอย่างไร อารมณ์ที่ไม่ชัดเพราะจิตกำลังรู้แจ้ง จึงกล่าวว่าอารมณ์นั้นไม่ชัด มีลักษณะที่สามารถจะรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์เท่านั้น แต่แจ้งนัยนี้ไม่ได้หมายความว่าชัด เช่น บางคนก็อายุมากแล้ว ตาก็เสื่อม มองอะไรก็ไม่ชัด แล้วจะกล่าวว่าขณะนั้นจิตรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ หรือไม่ อารมณ์จะปรากฏโดยความชัด หรือไม่ชัดก็ตาม แต่จักขุวิญญาณ คือจิตนั้น เป็นสภาพที่เห็นแจ้งความไม่ชัดของลักษณะของรูปที่ปรากฏด้วย คือตามความเป็นจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่ปัญญา เพราะไม่ได้เห็นถูกต้องว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ซึ่งเมื่อลืมตาขึ้น สิ่งนี้ก็ปรากฏในลักษณะนี้ พอหลับตาลงไปสิ่งที่ปรากฏก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ก็มีแต่เพียงลักษณะของอารมณ์ต่างๆ ในวันหนึ่งๆ จิตเป็นสภาพที่รู้ลักษณะนั้น จะใช้คำว่ารู้ลักษณะก็ได้ หรือจะใช้คำว่ารู้แจ้ง เพราะว่าลักษณะนั้นอาจจะใกล้เคียงกันมาก แต่จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะซึ่งแม้จะใกล้เคียงกันอย่างไร แต่จิตก็ยังเห็นความต่างได้ นั่นก็คือเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้ลักษณะของอารมณ์ แต่ปัญญาเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความรู้ถูก ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร มีลักษณะต่างกันอย่างไร นั่นก็เป็นปัญญา

    ผู้ฟัง จิตรู้ จิตเห็น ส่วนสัญญามีหน้าที่จำ ที่เขาจำได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นเพราะว่าสัญญาเสื่อมลงไป หรือว่าประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งเสื่อม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ