พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10


    ตอนที่ ๑๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นนามธรรมคือจิต เป็นวิญญาณขันธ์ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกเห็น เป็นสิ่งที่ปรากฏไม่รู้อะไร จึงเป็นรูปธรรม ขณะที่เห็นก็คิดถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นจิต หรือไม่ เป็นอารมณ์ หรือไม่ เป็นอะไร ขณะนั้นจิตกำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สี ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นก็เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าคิดถึงเรื่องคนก็เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา กล่าวได้ว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    อ.วิชัย ตาไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ตาเป็นอารมณ์ที่เกิดในชีวิตประจำวัน หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่มีตา แต่มีใครเคยเห็น และเคยรู้ลักษณะของปสาทรูปนั้นบ้างไหม รูปที่เป็นโคจรรูป ซึ่งเป็นอารมณ์จริงๆ ในชีวิตประจำวัน มี ๗ รูป

    ผู้ฟัง เมื่อมีเสียงปรากฏ ต้องมีสภาพรู้เสียง เสียงก็คือรูปขันธ์ สภาพรู้เสียงคือวิญญาณขันธ์ สภาพธรรมต้องเกิดคู่กันเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้ทุกอย่าง ขณะใดที่จิตเกิด ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีสมุฏฐานที่ให้รูปเกิด แต่จะเป็นอารมณ์ หรือไม่เป็นอารมณ์ เช่น เสียงในป่า ก็มีสมุฏฐานให้เกิด แต่ถ้าจิตไม่ได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นเสียงนั้นมีจริง เกิดแล้วดับไป แต่ขณะใดจิตไม่ได้รู้เสียงนั้น เสียงนั้นไม่ใช่อารมณ์ของจิต

    ทุกท่านมีความรู้สึก ความรู้สึกเป็นธรรม แต่ก่อนนั้นเป็นเราทุกข์มาก เป็นสุขมาก หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ คือเฉยๆ แต่ความจริงลักษณะสุข ลักษณะทุกข์ ลักษณะเฉยๆ ที่มีจริงเป็นธรรม เป็นนามธรรม สิ่งที่มีจริง เป็น ๑ ใน ๔ ซึ่งเป็นปรมัตถ์ แต่ปรมัตถ์ที่พ้นไปจากโลก ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน คือ นิพพาน ยังไม่กล่าวถึง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็น ๑ ใน ๓ คือเป็นจิต เป็นเจตสิก หรือเป็นรูป คำว่าเวทนาไม่ได้แปลว่า สงสารมากๆ แต่หมายความถึงความรู้สึก ที่ต้องมีทุกขณะจิต ตราบใดที่มีจิต ก็จะต้องมีเวทนาเจตสิก จำแนกปรมัตถ์ธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาณขันธ์ เจตสิกที่เหลือจำนวน ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่เห็น หรือได้ยินเสียงต่างๆ มีขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมรวมกันครบ

    ท่านอาจารย์ ในภูมิคือในสถานที่เกิดโอกาสโลกซึ่งเป็นที่เกิดของขันธ์ ๕ นามธรรมกับรูปธรรมต้องอาศัยกัน และกัน เป็นไปไม่ได้ที่จิตจะเกิดนอกรูปแม้เพียงจิตเดียว จิตจะต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด ภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเกิดขึ้นในขณะใด มีทั้ง ๕ ขันธ์ ขณะนั้นจิตรู้เฉพาะสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังอยู่นี้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เจตสิก และรูป ท่านอาจารย์กำลังอธิบายให้รู้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ด้วยสัญญาคือความจำก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ด้วยสัญญาความทรงจำในรูปร่าง สัณฐาน จึงมีการคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของ คือสิ่งที่เป็นอารมณ์ในขณะที่จิตคิดเรื่องนั้น ถ้าจิตไม่คิดเรื่องนั้น เรื่องนั้นก็ไม่มี

    ผู้ฟัง เป็นการยากมากที่ว่าไม่มีเรา ก็ยังเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะขณะนี้ทุกคนมีอัตตสัญญา สัญญาที่จำว่าเป็นเรา เราเห็น เราได้ยิน เราคิด เราสุข เราทุกข์ ทั้งหมดเป็นอัตตสัญญา ความทรงจำที่เป็นเรา ซึ่งเป็นความทรงจำที่หนาแน่นมาก กว่าจะได้ฟังธรรม และค่อยๆ เข้าใจถูก จะมีอนัตตสัญญาจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนประจักษ์ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงเริ่มที่จะเป็นอนัตตสัญญา ยากมากกว่าที่จะไถ่ถอนความเป็นเรา แต่มีหนทาง เพราะได้เริ่มฟัง และได้เริ่มเข้าใจ

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังก็เหมือนกับท่านอาจารย์กำลังเตือน

    ท่านอาจารย์ เตือนให้ไม่ลืม ถ้าจะจากโลกนี้ไป อย่างน้อยก็ไม่ลืมว่าเป็นธรรมทุกอย่าง เวลาได้ยินได้ฟังอีกก็เข้าใจคำนี้ คือคำว่าธรรม หรือขณะที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ขณะที่กำลังรู้ลักษณะนั้นเข้าใจว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็จะสะสมความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เป็นเพียงความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นความเข้าใจซึ่งเกิดจากการฟัง การไตร่ตรอง เกิดจากการระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม แต่ละท่านก็จะรู้ตัวเองว่า อย่างไรถึงจะรู้ว่าเป็นอนัตตา คือ ความเข้าใจในขั้นการฟังเท่านั้น

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามกรณีที่อัตตสัญญาจำว่าเป็น คน เป็นเรา เป็นบุคคล

    ท่านอาจารย์ มาจากความไม่รู้ เมื่อเกิดมาไม่ได้รู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นธรรม และจิตที่เห็นก็เป็นธรรม ความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นธรรม ไม่ได้รู้อย่างนี้เลย เกิดมาด้วยความไม่รู้ ด้วยความจำคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คือ จำรูปร่างสัณฐาน จำว่าเที่ยง จำว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ผู้ฟัง ในชีวิตการทำงาน ก็จะพบรูปมากมายทั้งวัน

    ท่านอาจารย์ เวลาไม่ทำงาน รูปหายไป หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกเบาลง เพราะความคิดไม่ฟุ้งไปกับสิ่งที่มากระทบ

    ท่านอาจารย์ ฟุ้ง หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เช่น ทำงาน เจ้านายชม ก็จะเริ่มตามขั้นตอนที่ท่านอาจารย์สอน มีเสียงมา ก็จำได้ว่าเสียงอย่างนี้เรียกว่าคำชม แล้วก็จะเข้าไปในข้อที่ว่าเป็นเวทนาขันธ์ รู้สึกสุข แล้วมันก็จะวน..

    ท่านอาจารย์ สุข เป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ จำได้ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสัญญาขันธ์

    ท่านอาจารย์ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นอะไร เป็นสังขารขันธ์ นอกจากเวทนา สัญญา เจตสิกอื่นก็เป็นสังขารขันธ์

    ผู้ฟัง เวลาได้ยินคำชม นั่นคือเราต้องแปลความให้ได้ว่า เป็นเสียง อย่างนั้นใช่ไหม หมายถึงว่า ต้องไม่ให้มีความรู้สึกเกิดขึ้นในใจว่า เราสุข หรือเราทุกข์ ไม่ให้มันมีเกิดขึ้นในชีวิตเรา ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คนที่จะฟังธรรมแล้วจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเมื่อคิดว่า ฟังแล้วจะไปทำ คล้ายๆ ว่าต่อไปนี้ เราก็จะทำความจำให้น้อยลง ไม่ต้องไปจำเรื่องคำสรรเสริญ ไม่ต้องไปจำเรื่องอะไรต่างๆ แต่ตามความเป็นจริง ขอให้คิดถึงสัจจะ ความจริง ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว ใครทำให้เกิด เกิดแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าจะเกิดความพอใจอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา สิ่งนั้นเกิดแล้ว เป็นเจตสิก และจิตที่เกิดร่วมกันในขณะที่มีความรู้สึกพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ การศึกษาธรรมไม่ใช่ไปทำ หรือไปคิดว่า ต้องให้เป็นอย่างนี้ ต้องให้เป็นอย่างนั้น แต่สิ่งใดที่เกิดแล้วปรากฏให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

    ธรรมเป็นปกติ การที่จะมีความเห็นถูกต้องยิ่งขึ้น จนกระทั่งละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเราได้ ต้องมีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการทำให้เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าถูก แต่หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิด ความมั่นคงในการเข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตาจะเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าไม่มีปัจจัยให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น สภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่ได้ สภาพธรรมเกิดแล้ว เป็นแล้ว อย่างนี้ ชื่อที่ใช้ในภาษาบาลีคือ “สังขต” สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เกิดเป็นอย่างนี้จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุข ก็ชั่วขณะ ความรู้สึกทุกข์ ก็ชั่วขณะ การที่จะคิดเรื่องบุคคลรอบข้าง ผู้ที่ทำงานร่วมกันก็ชั่วขณะ แต่ถ้าเรามีปัญญารู้ว่า ทุกอย่างก็คือสภาพธรรมทั้งนั้น เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป การยึดติดในความเป็นเรา เป็นเขา ก็จะลดน้อยลง และก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    การที่โลกวุ่นวายก็เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจซึ่งกัน และกัน เพราะเหตุว่ามีความเป็นเรา และมีความเป็นเขา แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าเป็นธรรม โลภะความติดข้องของเขาที่เรากำลังเห็นกับของเรา ก็เหมือนกัน โทสะที่เราคิดว่าเขากำลังโกรธ มีกิริยาอาการที่ไม่น่าดู มีคำพูดที่ไม่น่าฟัง โทสะของเราก็เหมือนอย่างนั้น แต่เรายึดถือว่าเป็นเราเป็นเขา ทั้งที่ตามความเป็นจริง ก็คือลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เราจะจัดการอะไรไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงความคิดหลังจากที่เห็น ดังนั้น หลังจากที่ได้ฟัง ก็คิดอย่างนั้น อย่างนี้ แต่จริงๆ แม้ขณะคิด ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดแล้ว เพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วที่จะคิดอย่างนั้น ถ้าเป็นความเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ จะไม่ให้จิตเจตสิกเกิด เป็นไปไม่ได้เลย จะให้จิตเจตสิกประเภทนี้เกิด ไม่ให้จิตเจตสิกประเภทนั้นเกิด ก็เป็นไปไม่ได้

    การจะศึกษาเรื่องของจิตให้ละเอียดขึ้นว่า ลักษณะของจิตเป็นอย่างไร ต้องมีพื้นฐานที่จะเข้าใจธรรม เข้าใจสังขารธรรมว่า ได้แก่จิต เจตสิก รูป ส่วน นิพพาน ไม่ใช่สังขารธรรม นิพพานเป็น วิสังขารธรรม” พ้นจากสังขารที่ปรุงแต่งให้เกิด และคำว่า “สังขตธรรม” คือขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมใดเกิดแล้ว เป็นอย่างนั้น เป็นสังขตธรรม เกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และสังขตธรรมก็ดับไป เพราะฉะนั้นสำหรับจิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม นิพพานเป็นอสังขตธรรม จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ส่วนขันธ์ ๕ ก็ด้วยการยึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นเรา ต้องอีกนานมากในการที่จะให้มีปัญญารู้แจ้งชัดว่าไม่ใช่เรา และก็ละความเห็นที่ยึดถือว่าเป็นเรา ก็ต้องนานมากด้วย แต่ว่าเป็นไปได้ เป็นเรื่องของการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งเรามาเรียกต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นคนนั้น คนนี้ แต่ความจริงทั้งหมดก็เป็นธรรม ถ้าเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจเรา เข้าใจเขา และทุกคนได้ ก็จะมีความเห็นใจกัน และก็จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น มีการอภัยให้ได้ และก็มีกุศลประการอื่นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง สภาพรู้ก็คือได้ยิน ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สามารถที่จะเห็นขณะนี้ อะไรก็ ตามที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่งเพราะเห็น ขณะที่เสียงปรากฏ สภาพธรรมที่สามารถรู้ลักษณะต่างๆ ของเสียงที่เราใช้คำว่าได้ยิน ก็คือธาตุที่สามารถได้ยิน แต่ไม่ใช่เราได้ยิน เป็นธรรม หรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องได้ยินเสียง จะเกิดก็ต่อเมื่อมีโสตปสาทรูปเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีโสตปสาทรูป จิตนี้เกิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง สภาพรู้ ก็คือปกติ ไม่ว่าจะเห็น หรือได้ยิน สภาพรู้มีอยู่แล้ว ดังนั้นสภาพรู้ก็คือวิญญาณขันธ์ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นด้วย แต่ว่าไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ศึกษาต่อไป เราจะรู้แม้เจตสิกเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์แสดงว่า ถ้าสังขารธรรมเกิด จะต้องเกี่ยวข้องกับสังขตธรรมด้วย จะแยกจากกันไม่ได้เลย หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ สังขารธรรม คือ ธรรมใดๆ ก็ตามที่เป็น จิต เจตสิก รูป จะเกิดขึ้นมาเดี่ยวๆ โดดๆ โดยไม่มีปัจจัยปรุงแต่งอาศัยกันเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ก็จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม แต่สภาพธรรมใดก็ตามในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ และที่เกิดๆ แล้ว ก็เพราะเหตุว่าปัจจัยปรุงแต่งแล้วจึงเกิด ขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ถ้ายังไม่ปรุงแต่งก็ยังไม่เกิด แต่ปรุงแต่งแล้วเกิดทันที ขณะนั้นก็เป็นสังขตธรรม ความหมายเหมือนกัน แต่ว่าความหมายของพยัญชนะก็คือ อย่างหนึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่งเมื่อเกิดแล้วปรุงแต่งแล้วเกิดแล้วก็ดับ สังขตธรรมที่เกิดแล้วก็ต้องดับ การที่กล่าวถึงนามธรรม ๕๓ ก็เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ขณะใด ก็ตาม ใครจะมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้เลย เจตสิกทั้งหมดทำหน้าที่ของจิต คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ไม่ได้ ฉันใด จิตก็ไม่สามารถที่จะไปทำกิจของเจตสิกแต่ละเจตสิกได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมเกิดรวมกันที่เป็นนามธรรม ก็จะเห็นได้ว่าปรุงแต่งให้จิต และเจตสิกแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ เช่น จิตก็จะต่างกันไปถึง ๘๙ ประเภท ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่ว่าจะกล่าวในนัยใด ก็จะไม่สงสัย เช่น ผัสสเจตสิกเป็นสภาพเจตสิกที่กระทบอารมณ์ รูป กับ รูป กระทบกันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่นามธรรมที่กระทบอารมณ์ใด จิตรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบ ขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียงซึ่งผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกระทบ จิตไม่มีหน้าที่จะไปกระทบเลย ไม่มีหน้าที่จำ ไม่มีหน้าที่รู้สึก เจตสิกแต่ละอย่างที่เกิดร่วมกันก็ทำหน้าที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างนี้ ก็จะไม่สงสัยว่า จะกล่าวถึงจิต ๘๙ หรือจะกล่าวรวมว่านามธรรม ๕๓ เพราะเหตุว่าจิตก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเลย และเจตสิกแต่ละชนิดก็ไม่ใช่เจตสิกอื่นๆ และก็ไม่ใช่จิตด้วย เพราะฉะนั้น จึงกล่าวรวมได้ว่า เป็นนามธรรม ๕๓

    อ.วิชัย จิตจำแนกเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท กล่าวโดยลักษณะของจิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือสภาพธรรมที่มีจริงๆ โดยสภาพของจิต เป็นสังขตธรรม คือมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นแล้ว จิตที่เกิดขึ้น บางครั้งเป็นไปที่จะรู้แจ้งทางตา ขณะนี้กำลังเห็น เพราะมีจิตที่กำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อเกิดแล้วดับไป บางครั้งมีเหตุปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งทางหู ซึ่งจิตที่รู้แจ้งทางตา กับจิตที่รู้แจ้งทางหูเป็นประเภทต่างกัน แต่โดยลักษณะจิต คือลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ แต่ว่าที่จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ เพราะเหตุว่า มีจิตที่รู้แจ้งทางตาประเภทหนึ่ง จิตที่รู้แจ้งทางหู จิตรู้แจ้งทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็มีจิตต่างๆ ที่เป็นอกุศลจิต คือ มีโลภะความติดข้องเป็นมูลคือเป็นเหตุ เรียกว่าโลภมูลจิต หรือ โทสะความขุ่นแคืองใจ เมื่อประกอบกับจิต ที่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ขณะนั้น คือ โทสะมูลจิต ดังนั้น จิตโดยลักษณะเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ที่เป็นจิตประเภทต่างๆ เพราะมีอารมณ์ต่างกันอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจของสัมปยุตตธรรมอย่างหนึ่ง โดยภูมิ โดยชาติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็สะดวกไม่ว่าจะกล่าวโดยประการใดๆ ถ้ากล่าวถึงจิตที่เห็นทางตาอย่างหนึ่ง ผัสสะที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง จิตที่ได้ยินเสียงรู้แจ้งเสียง เพราะผัสสเจตสิกขณะนั้นกระทบเสียงก็เป็นผัสสะอีกอย่างหนึ่ง จะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ แต่เมื่อประมวลถึงลักษณะกิจหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ จึงเป็น ๕๒ ประเภท และจิตหนึ่ง เป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งเมื่อจิตมีระดับต่างๆ กัน ผัสสเจตสิก หรือแม้แต่เจตสิกอื่นๆ ก็จะมีระดับต่างๆ กันด้วย เช่น สัญญาที่จำเสียง กับสัญญาที่จำสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นก็ต่างกันด้วยอารมณ์ก็จริง แต่ก็เป็นสัญญาเจตสิกฉันใด ไม่ว่าจิตจะไปรู้แจ้งอารมณ์อะไรๆ อย่างไร ประกอบด้วยเจตสิกอย่างใด แต่ลักษณะของจิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในขณะที่เกิดขึ้น ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    อ.วิชัย จิตแต่ละหนึ่ง ก็วิจิตรมากมาย ความคิดหลากหลาย แม้จะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเทพ เทวดาต่างๆ ฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกจิตเพียง ๘๙ หรือ ๑๒๑ เป็นเพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ วันนี้ จิตแต่ละคนไม่รู้ว่าความคิดต่างกันเท่าไหร่ และทั่วโลก บนสวรรค์อีก ยากที่จะกล่าวถึงจำนวนได้ แต่ประมวลแล้ว เป็น ๘๙ ประเภท ซึ่งจะแบ่งออกเป็นตามชาติต่างๆ คือการเกิดขึ้นของจิตนั้นๆ

    อ.ธิดารัตน์ แม้เวทนาก็จำแนกได้ ๕ ประการ แต่ยังใช้คำว่า เฉพาะแค่ความรู้สึกเป็นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม ๓ จำแนกเป็นขันธ์ ๕ และความสำคัญของขันธ์ ๕ มีคำเพิ่มขึ้นคือ “อุปาทานขันธ์ ๕” แล้วจิตเป็นที่ตั้งของอุปาทาน หรือไม่ กล่าวถึงขันธ์ ๕ มีอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ไม่ต่างกับขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ เป็นสภาพที่เป็นอย่างนั้น เป็นประเภทนั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นประเภทอื่น แต่ขันธ์ใดเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ขันธ์นั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือใช่ไหม เป็นอุปาทานขันธ์ หรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ