ทำไมต้องมีกิริยาจิต


    ผู้ฟัง ผมเคยฟังอาจารย์อธิบาย ผมนึกได้ว่า จิต ๒ ดวง กระทำหน้าที่โยนิโส หรือ อโยนิโส ก่อนที่ชวนจิตจะเกิด ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ กุศลชวนะก็เกิดขึ้น ถ้าเป็น อโยนิโสมนสิการ อกุศลชวนะก็เกิด ทีนี้จะเป็นโยนิโส หรืออโยนิโส ก็ไมใช่เราที่จะเป็น หรืออยากจะเป็น ก็เป็น มันขึ้นอยู่กับสังขารขันธ์ที่สะสมกุศลมากๆ สังขารขันธ์นั้นปรุงแต่งให้เกิดโยนิโส หรืออกุศลสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ดีที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะดิฉันเองอยากจะเรียนให้ทราบว่า เท่าที่ได้บรรยายไปถึงตอนนี้ เป็นการพูดโดยกว้างๆ แต่ถ้าพูดโดยเจาะจงแล้ว ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมกับมโนทวาราวัชชนจิตเลย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วโยนิโสมนสิการต้องเป็นในขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ใช่ในขณะที่เป็นมโนทวาราวัชชนะ แต่ถ้าพูดโดยกว้างๆ เราจะใช้คำนั้น เพราะเหตุว่าเป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ แต่ถ้าพูดถึงเจตสิกแล้ว ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับมโนทวาราวัชชนจิตเลย แต่ถ้าจะพูดถึงว่า ทุกคนกำลังสงสัยมากว่า แล้วทำไมเราถึงต้องมีกิริยาจิต เพราะเหตุว่ากุศลจิต อกุศลจิต เข้าใจว่าเป็นเหตุ แล้วก็เป็นปัจจัยให้วิบาก คือ กุศลวิบาก อกุศลวิบากเกิด เพราะฉะนั้นกิริยาทำไมถึงต้องมี เรื่องทำไม ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปแก้ไขระบบการเกิดดับสืบต่อกันของจิต เราสามารถเพียงแต่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามเหตุตามปัจจัยว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ มีปัจจัยเกิดเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นโดยปัจจัย ๒ ปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย กับสมนันตรปัจจัย เราจะเห็นได้ว่าต้องมีจิต ๒ ดวงนี้ เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นภวังคจิตกำลังเกิดดับสืบต่อเป็นวิบาก ให้ทราบว่า การที่วิบากจิตจะเกิดทั้งหมดต้องเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งดับไปแล้ว ขณะใดที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ทราบว่าเพราะกรรมยังไม่ให้เรามีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยังให้จิตทำภวังคกิจเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถจะเลือกตามใจชอบว่า เราอยากจะเห็น หรือว่าเราอยากจะได้ยิน หรือเราอยากจะนอนหลับ หรือว่าเราอยากจะตื่น หรือว่าคืนนี้อยากจะหลับสัก ๕ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงแล้วก็ ๘ ชั่วโมงตื่นเช้าสดชื่น เราก็เลือกไม่ได้ เพราะเหตุว่าให้ทราบว่าทั้งหมดเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่ภวังคจิต ซึ่งไม่ใช่วิถีจิต ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใดๆ เลย เพราะกรรมทำให้เป็นภวังคจิต ตราบจนกว่าเมื่อกรรมหนึ่งกรรมใด หรือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธินั่นเองจะเป็นอุปถัมภกกรรม

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะทำให้เราเบาใจ สบายใจ คือ ไม่มีตัวตนซึ่งจะไปทำอะไรได้ นอกจากศึกษาให้เข้าใจ แล้วเมื่อเข้าใจแล้วเราก็รู้ว่าทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ว่าจะหลับ จะตื่น จะป่วยจะไข้ จะสุขภาพแข็งแรง หรือมีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละขณะ เพราะเหตุว่าต้องย่อยชีวิตทั้งชาติออกเป็นชั่วแต่ละขณะจิตเดียวซึ่งเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการเกิดดับของจิตต้องเป็นไปตามปัจจัยต่างๆ ปัจจัย ๒ ปัจจัยที่กล่าวถึงบ่อยๆ ก็คือ อนันตรปัจจัย กับสมนันตรปัจจัย อนันตรปัจจัยคือจิต และเจตสิกซึ่งเกิด และดับ เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตต่อไปเกิด

    เพราะฉะนั้นจะไม่มีกระแสของจิตซึ่งว่างในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ให้ทราบว่าจิตเกิดขึ้นทำงานสืบต่อกันอย่างนี้แหละเหมือนในชาตินี้ ชาติก่อนก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส พอถึงชาตินี้หลังจุติจิตดับไม่นาน แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตจะเกิดเป็นเทวดา หรือเป็นสัตว์ที่มีอายุอยู่ในครรภ์มารดาเท่าไร ก็จะต้องหลังจากนั้นไม่นาน ก็เห็นอีก ได้ยินอีก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของจิต ซึ่งไม่ใช่ทำไม แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ว่า นี่เป็นธาตุ คำว่าธาตุ หมายความถึงสิ่งที่มีจริง และสิ่งนั้นก็มีลักษณะของตนซึ่งจะต้องเป็นอย่างนี้ คือเมื่อเป็นอนันตรปัจจัย ก็คือดับแล้วก็ทำให้จิตเจตสิกเกิดต่อ ซึ่งรูปไม่เป็นอย่างนี้ รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย ต่างกับนามธรรมซึ่งเป็นจิต และเจตสิก รูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ที่ก่อตั้งให้รูปเกิด ๑ ประเภท รูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปเกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน รูปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปเกิด เฉพาะนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัย แล้วการเป็นอนันตรปัจจัยของจิต คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไป จะเห็นได้ว่าสังสารวัฏไม่หมดสิ้น เพราะเหตุว่ามีปัจจัย จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ ทุกคนก็เตรียมได้แล้วใช่ไหม ชาติหน้าก็ต้องมีแน่ๆ แล้วจะเกิดที่ไหน จะเห็นอะไร ก็แล้วแต่กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ ซึ่งเราไม่มีโอกาสจะทราบเลย

    เพราะฉะนั้นถ้าใครบ่นกับเราว่า ฉันทำกรรมดีตลอดชาติ แล้วทำไมฉันไม่ได้รับผลดี ก็แสดงให้ทราบว่า เขาพูดเพราะเหตุว่าเขาไม่ได้คิดถึงกรรมในชาติก่อนๆ โน้น ซึ่งเกิดดับสืบต่อสะสมอยู่ในจิตตลอด จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์

    และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือสมนันตรปัจจัย หมายความว่าการเกิดดับสืบต่อของจิตต้องเป็นไปตามลำดับตามกิจการงานหน้าที่

    เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะ ๒ ปัจจัยนี้ คือ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย


    หมายเลข 8970
    23 ธ.ค. 2566