อณูของความดี


    อ.อรรณพ ความดีเป็นเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยที่ประเสริฐกว่าการบูชาด้วยอามิสทั้งปวง แต่ความดีก็ต้องค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากอณูเล็กๆ ของความดี จนกว่าจะมากพอที่จะเป็นเครื่องบูชาได้ และอณูของความดีที่แท้จริงก็คือความเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏทีละหนึ่งในขณะนี้นั่นเอง

    จากการสนทนาธรรมที่พุทธยา ๒๒ ตุลาคม. ๒๕๕๔

    ท่านอาจารย์ ที่มากันนี้ เราก็มีเครื่องบูชาสักการะมาด้วยใช่ไหคะ คิดลึกๆ ถ้าสิ่งที่นำมาบูชา ย่อยออกมาเป็นอณูเล็กที่สุดมาประกอบกัน และอณูนั้นเป็นความดีที่จะบูชา จะดีกว่าเพียงนำดอกไม้มาไหมคะ

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างคิดละเอียดได้ จะทำให้รู้ว่า บูชาพระคุณเท่าไรก็ยังไม่พอ เครื่องสักการะก็เพียงนำมา แต่ก็ต้องประกอบด้วยส่วนที่เล็กที่สุด เพราะฉะนั้น ก็คือความดีทุกขณะที่จะเกิดขึ้น

    นี่คือการบูชาที่ดีกว่าอามิสบูชา และพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีไม่ใช่เพื่ออามิสบูชา แต่เพื่ออนุเคราะห์ให้กุศลธรรมเกิดจนกระทั่งสามารถรู้ความจริงได้

    ถ้าจะคิดถึงว่า ขณะนี้เรามีประทีปที่เราจุดบูชาด้วย กว่าจะเป็นประทีปนี้มาจากไหน ถ้าไม่มีอะไรเลยสักนิดเดียวจะมาเป็นประทีปอย่างนี้ได้ไหมคะ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่กุศลจิตจะเกิดจนกระทั่งสามารถเข้าใจความจริงนั้น หรือรู้ความจริงได้ ก็ต้องมาจากทีละเล็กทีละน้อย กิเลสทั้งหลายสะสมขณะที่เห็น ที่ได้ยินแต่ละขณะ วาระที่เห็นบ้าง ที่ได้ยินบ้าง ฉันใด แทนอกุศลประเภทต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้เสียงชัดเจน ไม่เคยรู้ ไม่เคยสนใจ แต่เวลานี้ เสียงนี้คือธรรม เริ่มเข้าใจใจลักษณะของเสียง เราเป็นเสียงหรือเปล่า เสียงเป็นเราหรือเปล่า เสียงของเราหรือเปล่า ไม่ใช่ค่ะ เสียงก็ยังคงเป็นเสียง เกิดเพราะสมุฏฐานที่ทำให้เสียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นใคร หรือเป็นของใครได้เลย จึงเป็นธรรมแต่ละอย่าง ทุกอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใด

    เพราะฉะนั้น ก็เกิดมาปรากฏชั่วคราว เดี๋ยวก็หมด แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ทุกขณะเป็นอย่างนั้น

    นี่คือค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ยังไม่หวังที่จะประจักษ์การเกิดดับ ยังไม่หวังที่จะหมดกิเลส เพียงแต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจถูกต้อง ก็เริ่มเข้าใจถูกต้องขึ้น ขณะที่เข้าใจ ละความหวัง ละความต้องการ เพราะว่าบางคนศึกษาธรรม ฟังธรรมด้วยความต้องการจริงๆ อยากจะรู้มากๆ เหมือนกับว่า รู้ชื่อมากๆ แล้วจะเข้าใจธรรม แต่ความจริงคำเดียวเข้าใจหรือเปล่าในลักษณะของสิ่งที่มีจริง เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นชื่อมากๆ ยาวๆ ก็เป็นเรื่องของความจริงนั่นแหละ ที่มีอยู่จริงๆ นั่นแหละ เช่นจะกล่าวว่า เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็ดับไป ก็ยังขยายต่อไปอีกได้ว่า ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เสียงจะปรากฏได้ไหม

    นี่คือเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ หรือบังคับบัญชาให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดได้เลย เพียงไม่มีโสตปสาท เสียงปรากฏไม่ได้เลย แม้ว่ามีเสียง ก็ไม่ปรากฏ แต่เสียงก็ปรากฏกับความไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะเริ่มเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ซึ่งภาษาบาลีก็จะใช้คำว่า ปัญญา แต่ถ้าไม่กล่าวถึงปัญญา ไม่นึกถึงคำว่า “ปัญญา” ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องกั้น อยากจะเรียกชื่อว่า “ปัญญา” ใช่ไหม แต่ความจริงเข้าใจถูกเมื่อไร ก็เป็นปัญญาเมื่อนั้น โดยไม่ต้องเรียกว่า ปัญญา

    เพราะฉะนั้น ที่สำคัญคือเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ซึ่งพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้


    หมายเลข 8873
    19 ก.พ. 2567