สักกายทิฏฐิคือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน


    ผู้ฟัง รู้สึกว่าความเข้าใจในขั้นการฟังธรรม ไหนๆ พุทธบริษัทที่ศึกษาธรรมแล้ว เหมือนกับสภาพธรรมรวมๆ กันอยู่ แล้วก็ไม่รู้ว่าตรงไหนที่เป็นกุศล ตรงไหนที่เป็นอกุศล ความเข้าใจของผู้ศึกษาควรเข้าใจที่ละเอียดมากกว่านี้หรือแค่นี้ก็พอ

    ท่านอาจารย์ ที่เราก็พูดกัน ทุกคนตายแล้วเกิด ใช้คำนี้ แต่ความเข้าใจของเรา เราเข้าใจถูกไหมในเรื่องจิต ในเรื่องเจตสิก ในเรื่องสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกแม้เราจะกล่าวอย่างนั้นก็ไม่ได้กล่าวด้วยความเห็นผิด เพราะเหตุว่าเรามีความเข้าใจถูก แต่เป็นเรื่องของคำ เป็นเรื่องของภาษา แต่ถ้าในพระไตรปิฎกจะมีคำที่แสดงว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล” เพื่อที่จะให้บุคคลที่เคยยึดถือว่ามีสัตว์ มีบุคคล ได้รู้ว่าไม่มีสัตว์ที่ตายแล้วเกิด เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วคือจิต เจตสิก รูป สำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็แสดงอย่างนั้น แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก จะใช้คำว่าเราตายแล้วเกิดก็ได้เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ไปมีความเชื่อว่ามีเรา เพราะว่าเราศึกษาแล้ว เรามีความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นจิตอะไรที่กำลังกล่าวอย่างนั้น ก็แล้วแต่เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก อย่างที่บอกแล้วว่าเหมือนในความมืด จะเห็นอะไร สิ่งใด เกิดแล้วหมดแล้วเหมือนในความมืด จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ และค่อยๆ รู้ว่าในขณะนั้นมีสภาพธรรมอะไรโดยสติสัมปชัญญะเกิดระลึก จึงรู้จริงๆ ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้นเป็นธรรมอย่างนั้น เริ่มเข้าใจถูก เริ่มเห็นถูกได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ก็ต้องแล้วแต่บุคคลที่สนทนากันว่าเป็นใครที่สนทนา

    ผู้ฟัง ควรที่จะเข้าใจในระดับใด และระดับใดที่เป็นในทานก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าจะรู้ตรงลักษณะก็จะต้องเป็นความรู้อีกระดับหนึ่งซึ่งสะสมการฟังมาพอสมควร แล้วก็เริ่มรู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าอย่างนั้นเราจะกล่าวถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งคือคนที่มีความเชื่ออย่างอื่น มีความเห็นอย่างอื่น แล้วพูดว่าสัตว์ตายแล้วเกิด เราตายแล้วเกิด ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือไม่ อีกสถานการณ์หนึ่ง ไม่รู้เรื่องจิต ไม่รู้เรื่องเจตสิก ไม่รู้เรื่องรูป ไม่รู้อะไรเลย แต่กล่าวว่าสัตว์หรือเรานี่ตายแล้วเกิด ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม หรือว่าเป็นจิตเจตสิก รูปซึ่งเกิดดับ ก็ย่อมคิดว่าคำว่าสัตว์ บุคคล เขาก็ต้องมีความยึดถือว่าเป็นสัตว์อย่างนั้นจริงๆ เป็นคนอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งไปเกิดใหม่ ตรงนี้ก็จะเป็นความเห็นผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สักกายทิฏฐิอยู่ตรงไหน เห็นไหม เราเรียกแต่ชื่อ สักกายทิฏฐิคือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ในขณะที่รู้ว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวตน มีแต่จิต เจตสิก รูป แต่ขณะนั้นไม่รู้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเขาก็มีความเชื่อ มีการยึดมั่นว่ามีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ ขณะนั้นก็มีความเห็นว่ามีสัตว์มีบุคคลจริงๆ ขณะนั้นก็ต้องเป็นสักกายทิฏฐิ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118


    หมายเลข 8761
    27 ม.ค. 2567