ทิฏฐิสามัญและมิจฉาทิฏฐิในชีวิตประจำวัน


    ขณะนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องธรรม คือ ทิฏฐิเจตสิก เพราะเหตุว่าความเห็นผิดต้องมี ถ้าไม่มีความเห็นผิดเราไม่ต้องฟังธรรมเพื่อที่จะอบรมเจริญความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความเห็นผิดมีมากมาย คือ มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นสามัญทิฏฐิเพราะเหตุว่าทั่วไปกับสัตว์โลกในขณะที่ไม่มีความเห็นผิดอื่นคือเจตสิกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ได้เกิดร่วมด้วยกับโลภะในขณะนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบจริงๆ ว่าขณะไหนบ้างในชีวิตประจำวันที่พอจะเห็นว่าเป็นความเห็นผิดอื่นที่นอกไปจากสักกายทิฏฐิ ขณะที่อาหารกำลังอร่อย และรับประทานอาหารด้วยความรู้สึกโสมนัส ดีใจ ชอบอาหารนั้นขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ที่ไม่ได้มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกว่าขณะใดเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย และขณะใดมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยในเรื่องของความเข้าใจผิดความเห็นผิด ซึ่งก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าความเห็นผิดอย่างนี้เพิ่มขึ้น มีกำลังเพิ่มขึ้น คือไม่รู้ในเหตุ ไม่รู้ในผล เข้าใจว่าสิ่งที่ได้รับไม่มีเหตุเลย เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย ทำไมเป็นอย่างนี้ไปได้ ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้มั่นคงเพิ่มขึ้น คนนั้นจะทำทุจริตกรรมได้มากขึ้นไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวันจริงๆ ที่กล่าวถึงจิตประเภทใดก็ขอให้เริ่มที่จะเข้าใจถูกในจิตประเภทนั้นๆ ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คงจะมีความเห็นผิดอีกหลายอย่าง ซึ่งสามารถที่จะฟังแล้วก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นความเชื่อในความคิด ในความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทราบว่ายังมีความเห็นผิดอื่นๆ ไหมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่จะยังสงสัยว่าเป็นความเห็นผิดหรือไม่ เพราะว่าความเห็นผิดที่ชัดเจนก็มี แต่ว่าบางคนที่มีความเห็นผิดจะไม่เข้าใจเลยว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิด นี่ก็แสดงให้เห็นโทษ แม้ว่าความเห็นผิดมี แต่ผู้ที่กำลังเห็นผิดไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นผู้ที่เห็นผิด

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118


    หมายเลข 8757
    27 ม.ค. 2567