เมื่อฟังแล้วพิจารณา จนเป็นความเห็นถูกของเราเอง


    ผู้ฟัง ช่วยอธิบายการที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ควรเป็นความเข้าใจในระดับใด

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมไม่รีบร้อน ไม่รีบร้อนเลย แต่หมายความว่าเมื่อได้ยินคำอะไร จากความไม่รู้ความเป็นจริง หรือความจริงของสภาพธรรมนั้น ต้องฟังแล้วก็ต้องพิจารณา ต้องไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูกของเราเอง ไม่ใช่ไปจำว่าข้อความนั้นมีปรากฏอย่างนี้ๆ แต่ว่าความเข้าใจของเราเป็นอย่างไร เช่น ในเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น โลภะมีจริง ทิฏฐิความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิมีจริง กุศลมีจริง ทั้งหมดจริง และเราก็จะผ่านข้อความไปเร็วๆ ทั้งหมดก็คืออย่างนี้อย่างนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ความรู้อะไรของเราเลย คงไม่ลืมที่ว่าขณะใดก็ตามที่เรากำลังกล่าวถึงเรื่องของธรรมทั้งๆ ที่ตัวธรรมก็มีจริงๆ กำลังเป็นจริง เช่น ข้อความที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมด แต่ว่ายังอยู่ในความมืด เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ในขณะที่สภาพธรรมนั้นมี เช่นขณะนี้จักขุวิญญาณ จิตเห็นทุกคนมี และเราก็กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท อยู่ในความมืดหรืออยู่ในความสว่าง เจตสิกทั้ง ๗ ไม่ว่าจะเป็นผัสสเจตสิก หรือเวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนา สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ อยู่ในความมืด หรือว่าสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะนั้น ค่อยๆ รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าทุกคนเข้าใจถูกว่าอวิชชาเป็นความมืดสนิทที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม แม้ว่าสภาพธรรมมี ถ้าเราทุกคนอยู่ในความมืดเวลานี้ เราจะรู้ไหมว่าในความมืดมีอะไรบ้าง ไม่รู้เลย แต่จากการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็รู้ว่าในความมืดนั้นมีอะไร มีจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังรู้ในขณะนี้ แต่จิตก็ยังมืดสำหรับผู้ที่สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะของจิต เจตสิกทั้งหมดก็ยังมืดไม่ได้แสดงลักษณะที่ต่างๆ กันของเจตสิกนั้นๆ เลย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่รีบร้อนเลย แต่ต้องพิจารณาเข้าใจความละเอียดของสภาพธรรมนั้นว่าเราอยู่ในระดับไหน เรากำลังอยู่ในระดับที่ฟังเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ตัวสภาพธรรมจริงๆ ยังไม่ได้ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ที่จะแสดงว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้นตามที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นในขณะนี้หรือในขณะไหนก็ตาม ได้ยินคำว่า “ธรรม” ได้ยินคำว่า “จิต” ได้ยินคำว่า “เจตสิก” ได้ยินคำอะไรก็ตามทั้งหมดที่เราได้สนทนากันมาแล้วเป็นความเข้าใจของเราจริงๆ ว่าเป็นธรรมโดยนัยต่างๆ เวทนาโดยนัยของเวทนา โดยนัยของเหตุหรืออะไรก็ตาม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118


    หมายเลข 8756
    27 ม.ค. 2567