เครื่องอยู่ที่ประเสริฐ


    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ไม่ว่าใครจะมีสุข ก็ยังน่าสงสาร เพราะไม่พ้นจากทุกข์ที่จะต้องเกิดอีก ด้วยเหตุนี้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง เวลาที่เมตตา ขณะนั้นก็มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดี ถ้าโกรธแล้ว หวังดีไม่ได้เลย เป็นหวังร้าย แต่เวลาที่กรุณาก็คือเมื่อบุคคลนั้นมีความทุกข์ สำหรับคนทั่วไป เป็นสภาพธรรม ถ้าเรายังไม่รู้ว่า ทุกข์จริงๆ คือ การเกิดดับ เราคงไม่เมตตามหาเศรษฐี หรือคนที่กำลังเสวยสุข มีความสุข ใช่ไหมคะ หรือไม่กรุณาเขา เมตตาคือความเป็นเพื่อน แต่กรุณา เวลาบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีความทุกข์ เราไม่คิดถึงทุกข์ของการเกิดดับปกติทั่วไป เขากำลังเดือดร้อน น้ำท่วม ป่วยไข้ หิวข้าว บาดเจ็บ เห็นใจไหมคะในทุกข์ที่กำลังมีกับบุคคลนั้น ขณะนั้นที่เข้าใจ และเห็นใจในความทุกข์ ต้องการที่จะช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ ไม่เบียดเบียนเขา เพราะเขากำลังเป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นจากตัวอย่างที่ว่า น้ำก็ท่วม ค่าเรือก็ขึ้นราคาแพง ก็แสดงว่า ขาดความเข้าใจ และความเห็นใจในความทุกข์ของคนที่ถูกน้ำท่วม ก็ขาดความกรุณา เพราะไม่เห็นใจ ไม่เข้าใจในความทุกข์ แต่ถ้ามีความเห็นใจในความทุกข์ เขาไม่มีน้ำ เอาน้ำไปให้ เขาไม่มีอาหาร เอาอาหารไปให้

    เพราะฉะนั้นเมตตาทั่วๆ ไป คือ ความเป็นเพื่อน บุคคลนั้นยังไม่ได้มีความทุกข์เดือดร้อน แต่เวลาที่เขามีความทุกข์เดือดร้อนแล้ว ต้องการให้เขาพ้นจากทุกข์ ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความเห็นใจในความทุกข์ แต่ต้องไม่โศกเศร้า และเป็นทุกข์ ถ้าขณะใดที่โศกเศร้าเป็นทุกข์ ขณะนั้นไม่ใช่กุศลเลย กำลังถูกทำร้ายด้วยอกุศล ด้วยโทสะ ด้วยความขุ่นเคือง ด้วยความไม่พอใจในสภาพอย่างนั้นที่เขากำลังประสบอยู่

    เพราะฉะนั้นการรักษาจิตด้วยปัญญา จึงสามารถเห็นความต่างของกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นสามารถจะกรุณาได้ด้วยความผ่องใสที่มีโอกาสได้ช่วยคนที่กำลังเป็นทุกข์ แทนที่จะพลอยโศกเศร้าไปกับเขา ซึ่งความโศกเศร้าไม่มีประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่มีคำสอนสักคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทำให้คนเกิดอกุศล เป็นทุกข์ หรือแม้แต่โศกเศร้าเสียใจ

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นความต่างของกุศลธรรม และอกุศลธรรม

    ข้าศึกใกล้ของกรุณา ก็คือโทมนัส มาเร็วเลยค่ะ ปะปนกันจนกระทั่งแยกไม่ออก บางคนถึงกับพลอยร้องไห้ไปด้วย

    พรหมวิหาร ธรรมที่อยู่อย่างประเสริฐ คือ ด้วยเมตตา เมื่อควรเมตตา มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดี กรุณา เมื่อเขาประสบทุกข์ มุทิตา เมื่อเขาได้ดีมีสุข ไม่ใช่ไปหวังร้าย คนนี้ไม่ควรได้ดีมีสุขเลย แต่เขาได้ดีมีสุข เพราะบุญที่เขาได้กระทำแล้ว อนุโมทนาในบุญที่ได้กระทำแล้ว แต่ในความประพฤติที่ไม่ดีของคนนั้นก็ไม่ใช่ไปมุทิตาหรือพลอยยินดีด้วยกับความที่เป็นอกุศลนั้น สำหรับอุเบกขา คือ ไม่หวั่นไหว ซึ่งยาก

    เมตตา มีความรักหรือความผูกพัน เป็นข้าศึกใกล้ แยกเกือบไม่ออกว่า นี่เมตตา หรือนี่โลภะ อย่างแม่รักลูก บางคนก็อาจจะคิดว่า เมตตามาก แต่ใครจะรู้ดีว่า เมตตาหรือรัก ถ้าเมตตาแล้วเสมอกันหมด ไม่ว่าใคร นั่นคือเมตตาจริงๆ ไม่ว่าลูกหรือไม่ใช่ลูก เพื่อนหรือไม่ใช่เพื่อน ใครก็ตามแต่ เสมอกัน นั่นคือเมตตา ไม่เลือกสัตว์บุคคล

    กรุณาก็เช่นกัน ไม่เลือกว่าเขาเป็นใคร จะต้องสงสาร จะต้องช่วยเหลือ ถ้าไม่ใช่เพื่อน ก็ไม่สงสาร ไม่ช่วยเหลือ นั่นก็ไม่ใช่กรุณา แต่ว่าเพราะเพื่อน เพราะความผูกพัน แล้วในขณะที่ช่วยเหลือก็ยังมีความรู้สึกเศร้าหมอง เพราะไม่เข้าใจความต่างกันว่า ถ้าเป็นกรุณาจริงๆ ไม่เศร้าหมองเลย แต่ถ้าเป็นโทมนัส เพราะผูกพัน เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกที่เสียใจ เศร้าหมอง ถ้าไม่มีความผูกพัน ใครจะตาย ใครจะเป็น เดือดร้อนไหมคะ ไม่เดือดร้อนเลยทั้งสิ้น

    และสำหรับอุเบกขา ต้องด้วยความเห็นถูกว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน จึงไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ช่วยได้ช่วย เป็นเมตตา ช่วยไม่ได้ต้องเสียใจหรือเปล่า หรือว่าเป็นกรรมของแต่ละคนซึ่งจะต้องมีสิ่งนั้นเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ เวลาที่กรรมที่ทำให้ลูกป่วยไข้ แม่ขอป่วยไข้แทนได้ไหม เวลาที่แม่ป่วยไข้ ลูกขอป่วยไข้แทนได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นให้รู้ความจริงว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้วไม่ช่วย ไม่ใช่ แต่ขณะที่ช่วย จิตใจก็ไม่หวั่นไหวด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะพลอยเศร้าหมองไปกับความทุกข์ยากของคนอื่น ซึ่งต้องแยกอย่างละเอียด และต้องรู้ด้วยว่า ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต


    หมายเลข 8721
    19 ก.พ. 2567