สนทนาธรรมที่วัดวังตะกู ๔


    ผู้ฟัง   จริงๆแล้วเรากำลังเหยียบย่ำและเข้าสู่ขบวนการของมหาสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานสูตร กาย เวทนา จิต ธรรม หลายท่านคงรู้สึกงงว่า แล้วเราจะนำมาทำเป็นรูปธรรมได้อย่างไร เพราะขบวนการแห่งการปฏิบัติธรรม หลายท่านมีความคิดอยู่ในใจว่า ต้องมีองค์ประกอบ องค์คุณ หรือลักษณะวิธีการ เช่น ต้องหลับตาทำสมาธิภาวนา หรือต้องเดิน ต้องย่อง ต้องยก ต้องเหยียด หรือต้องหายใจเข้าออก ขบวนการเหล่านี้จัดได้ไหมว่า เป็นขบวนการของมหาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่เลยเจ้าค่ะ

    ผู้ฟัง   ขอบใจที่ตอบ

    มีใครสงสัยไหมครับ คุณโยมท่านตอบว่า ไม่ใช่เลย แสดงว่าที่ผ่านมานั้น ผมทำไม่ผิด พวกคณะทำงานไม่ผิดแล้วครับ มีคำถามว่า ทำไมมาเจริญมหาสติปัฏฐาน มาศึกษามหาสติปัฏฐาน แต่ไม่มีการนั่งสมาธิ หรือสอนให้ปฏิบัติเลย

    ท่านอาจารย์    ขอประทานโทษเจ้าค่ะ ขณะนี้กำลังนั่ง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเลย เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับเร็วมาก ไม่มีใครไปจัดการ ถ้าจัดการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ หรือทำกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่สติที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด ไม่มีใครสามารถมีกุศลจิตได้ตลอดเวลา เดี๋ยวก็เป็นอกุศลประเภทต่างๆตามปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ แต่สติสามารถระลึกลักษณะนั้นว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา โลภะเกิดขึ้นกับใคร มีลักษณะอย่างเดียว คือ ติดข้อง จะเกิดกับเด็ก จะเกิดกับผู้ใหญ่ จะเกิดกับสัตว์ จะเกิดกับใครก็ตามแต่ ที่ไหนด้วย ในสวรรค์ก็ยังมีโลภะ ในรูปพรหมก็มีโลภะ โลภะก็เป็นโลภะ คือ เป็นธาตุหรือเป็นสภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ต้องมีการทำอะไร ถ้าทำ คือ ไม่เข้าใจธรรมจึงทำ แต่ถ้าเข้าใจก็รู้ว่า ธรรมมีปัจจัยจึงเกิด และแม้แต่สติที่ระลึกก็มีปัจจัยจึงเกิด

    เพราะฉะนั้นข้อความในพระไตรปิฎกมี ๒ คำ คือ “มีสติ” หรือ “หลงลืมสติ” คือสติไม่เกิด เพราะฉะนั้นไม่มีการไปทำอะไรเลย

    ผู้ฟัง   มหาสติปัฏฐานสูตรไม่มีกรรมวิธีครับ ไม่มีเวลา ไม่มีลักษณะอาการ ไม่มีสถานที่ ไม่มีสิ่งของที่ต้องเป็นองค์ประกอบหรือเครื่องใช้สอย แต่มันคือทุกอย่างในชีวิตทุกอย่างในลมหายใจ และทุกอย่างในเซลประสาททั้งหลายที่มี มีอยู่ในใจเราที่ทำให้เกิดขบวนการมหาสติปัฏฐาน เป็นการซึมซับกับขบวนการนั้นอย่างเรียนรู้ อย่างสัมผัส อย่างเข้าใจ และพิสูจน์ทราบกันได้ ด้วยความรู้สึกว่า ต้องทำให้มันฉลาด สะอาด สว่าง สงบ หรือมีความรู้สึกอย่างนี้ ดูแล้วก็จะไม่ตรงอีกเหมือนกัน อย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์พูดว่า ต้องไม่มีตัวเราในมหาสติปัฏฐาน ถูกหรือผิด เข้าใจอย่างนี้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์    การที่จะละความเป็นตัวตน ไม่ใช่จะละได้ทันที แม้แต่ในขณะนี้เองที่กำลังฟังเรื่องของธรรม เรื่องของนามธรรม เรื่องของรูปธรรม ต้องเป็นการรู้ตัวเองว่า เริ่มมีความเข้าใจถูกบ้างไหม ในขณะที่ฟัง เพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า เกือบจะไม่ต้องไปนึกถึงเรื่องปฏิบัติหรือเรื่องสติปัฏฐานเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ทุกอย่างเป็นสติปัฏฐาน ถ้าสติเกิดระลึก แต่ถ้าไม่รู้เลยว่า สติมีลักษณะอย่างไร ขณะที่จดจ้อง เข้าใจว่า กำลังเป็นสติ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ นั่นเป็นลักษณะของสมาธิ

    สมาธิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าไม่มีการศึกษา แล้วได้ยินคำว่า “สมาธิ” ก็สนใจทันทีอยากจะทำสมาธิ เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่มีชีวิตที่วุ่นวาย  ก็เลยไม่ชอบเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คิดว่า ถ้าไม่ต้องไปวุ่นวาย และให้จิตไม่ไปไหน ขณะนั้นก็เป็นความสบาย เป็นความพอใจในความสบาย ก็ทำเพื่อต้องการให้ใจสบาย แต่ไม่มีปัญญา เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากุศลอื่นสามารถเกิดได้โดยไม่ต้องมีปัญญา แต่สำหรับภาวนา โดยศัพท์ หมายความว่าอบรม ต้องมีปัญญาจึงจะอบรมได้ ไม่ใช่ไปทำด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการ ซึ่งผลที่ได้ก็ยังคงเป็นความไม่รู้ และยังคงเป็นความต้องการทำ เพราะคิดว่าได้

    แต่ในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องรู้แล้วละ เพราะเหตุว่าการละไม่ใช่หน้าที่ของโลภะ ไม่ใช่หน้าที่ของอกุศล แต่การละเป็นหน้าที่ของปัญญาเจตสิกซึ่งรู้ความจริง จึงละได้ ละความติดข้องได้

    เพราะฉะนั้นที่ใดที่มีโลภะ ที่นั่นจะไม่มีปัญญา แต่ที่ใดที่มีปัญญา ที่นั้นมีโลภะไม่ได้ จะไม่มีความอยากไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มฟังพระธรรม แล้วก็พิจารณา สามารถรู้ตัวเองว่า มีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

    ก่อนอื่นต้องรู้ลักษณะของสติ จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ หรืออีกประการหนึ่งก็คือว่า เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสติเป็นปัจจัย สติปัฏฐานจึงเกิด มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ หรือแม้แต่สมถภาวนา ซึ่งเป็นขณะที่มีสติสัมปชัญญะ จึงสามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต เมื่อเห็นโทษของอกุศล สติสัมปชัญญะคือปัญญา ก็สามารถรู้ได้ว่า ระลึกถึงอารมณ์ใดแล้วจิตสงบ ต้องเป็นกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นโลภะที่ต้องการอยากสงบ ถ้าเป็นโลภะที่ต้องการอยากสงบ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เกื้อกูลพุทธบริษัทตั้งแต่ในสมัยโน้นจนกระทั่งถึงกาลสมัยนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี แสดงให้เห็นว่า ความละเอียดของพระธรรมป้องกันความเห็นผิดทุกอย่าง แต่ต้องเป็นผู้ศึกษา จึงสามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเห็นผิด ขณะใดเห็นถูก ขณะใดเป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ขณะใดเป็นสัมมามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติก็จะมี ๕ องค์

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยที่ไม่เอาสมาธิมาเป็นสติ แล้วก็ไม่มีเราซึ่งอยากจะเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม แต่เป็นเรา

    เพราะฉะนั้นมีความไม่รู้เต็มที่ การเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม โดยการนึกคิดได้ โดยการเข้าใจว่า ขณะนี้เสียงดับ ขณะนี้จิตได้ยินดับ

    นี่ก็เป็นความเข้าใจ แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ว่า การที่สามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ต้องไม่ใช่เรา ต้องรู้ว่าเป็นธรรม แต่ถ้ายังเป็นเราตราบใด ก็เอาเราออกไม่ได้เลย ทำไปก็มีเราเพิ่มขึ้น เราได้ เราเห็น เรารู้ แต่ไม่ใช่การละ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นเรา

    ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียด และไม่ผ่านพยัญชนะใด โดยที่คิดว่า เข้าใจถูกต้องแล้ว อย่างคำว่า “มิจฉาสมาธิ” มีในพระไตรปิฎก สัมมาสมาธิก็มี มิจฉามรรคก็มี สัมมามรรคก็มี แต่ถ้าไม่ศึกษา เข้าใจว่า สมาธิแล้วดีทั้งนั้น เป็นสัมมาทั้งหมด ซึ่งไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นจึงไม่ไปกังวลถึงสติปัฏฐาน ถึงปัญญาระดับสูง แต่ว่าปัญญาระดับสูงจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งจะค่อยๆเจริญขึ้นจากการฟัง การพิจารณา การเข้าใจ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นสติปัฏฐานแน่นอน ถ้าสติเกิดแล้วระลึก

    ขณะนี้มีใครระลึกบ้างหรือเปล่าเจ้าคะ ไม่มี ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ผู้ฟังในครั้งกระโน้น เพียงฟัง สติปัฏฐานระลึก สามารถรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมด้วยปัญญาที่ฟังเข้าใจ แต่ไม่ใช่ด้วยไม่มีปัญญาเลย ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย แล้วก็เข้าใจว่าไปประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม  


    หมายเลข 8700
    11 ก.ย. 2558