ผู้ให้กำเนิดที่ต้องถูกฆ่า


    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นความติดข้อง อวิชชา คือ ความไม่รู้ ๒ อย่างก็ต่างกันแล้ว เพราะอวิชชาไม่สามารถจะติดข้องได้ ถูกต้องไหมคะ อวิชชาเป็นอวิชชา คือไม่รู้ จะไปติดข้องไม่ได้ หรือจะไปสำคัญตนก็ไม่ได้ เพราะว่าอวิชชาเป็นความไม่รู้ แต่ว่าตัณหา เป็นความติดข้อง เป็นความพอใจ เหมือนมารดารักลูกให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เวลานี้ทุกคนมีโลภะหรือมีตัณหาซึ่งต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวตัณหาเป็นตัวต้องการ และนำมาซึ่งความติดข้อง เมื่อได้มาแล้วก็ต้องติดข้องด้วย

    เพราะฉะนั้นใครเอาอะไรมาให้ลูกบ้างตั้งแต่เกิด ทุกคนมีมารดาบิดา เพราะฉะนั้นใครเป็นคนเลี้ยงดู ใครเป็นคนนำทุกสิ่งทุกอย่างมาให้ ก็เหมือนกับโลภะ ทำให้เกิดด้วย เพราะว่าทุกอย่างเป็นปัจจัยที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ยังต้องรักใคร่ดูแลอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงเปรียบตัณหาเหมือนกับมารดา และถ้ามีความสำคัญตนเมื่อไร เมื่อนั้นความสำคัญตนนั้นก็เหมือนบิดา ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีความสำคัญตนมากในความเป็นบิดา มารดาก็มีความรัก มีความผูกพัน มีการให้เกิดขึ้นต่างๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีโลภะแล้ว ก็มีการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นๆ ๆ ๆ ไม่มีวันจบเลย แต่ว่าเวลาใดที่มีความรู้สึกสำคัญตน ความสำคัญตนนั้นใหญ่ไหมที่ว่า เป็นบิดา คือ ใหญ่ ที่จะแสดงความเป็นใหญ่ นั่นคือบิดา

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นท่านจึงทรงแสดงถึงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมที่ควรจะต้องละ อุปมาเหมือนบิดามารดาที่จะต้องฆ่า ซึ่งถ้าผู้ที่ศึกษาธรรมโดยไม่แยบคาย อาจจะเข้าใจผิด กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ได้ยินแล้วก็ตกใจไงคะ แม้พระภิกษุในครั้งนั้นว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า เมื่อมารดาบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด อวิชชา และอกุศลทั้งหลายที่ยังมี ก็ยังทำให้เป็นผู้มีสังสารวัฏฏ์ต่อไป

    รู้ว่ามีอวิชชามาก และรู้ว่ามีกิเลสมาก รู้จริงๆ หรือเปล่า และถ้ารู้จริงๆ หรือเริ่มเข้าใจจริงๆ แล้ว เข้าใจอย่างไรต่อไป สังขารขันธ์ปรุงแต่งหรือยังคะ ที่จะเห็นโทษของอกุศล และทำกุศลทุกโอกาส เพราะว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิด ดับแล้วก็จริง สะสมสืบต่อจนหนัก ไม่เบาเลย ทุกครั้งที่อกุศลเกิด จิตใจจะไม่สงบวุ่นวายด้วยประการต่างๆ แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้เลยว่า เป็นอกุศล บางคนเข้าใจว่า กำลังทำดี แต่ใจเดือดร้อน ขณะนั้นดีหรือเปล่าคะ กิเลสนั้นจะหมดไปได้อย่างไร ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา ไม่ใช่ด้วยความเพียงตั้งใจ แต่ต้องเป็นปัญญาที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูกจริงๆ ในสภาพธรรมแต่ละอย่างว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะตรงกันข้ามกับฝ่ายอกุศล ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้จริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ปัญญารู้อะไร เข้าใจอะไร ที่สำคัญที่สุด ที่ตรงที่สุดก็คือ ทุกอย่างเป็นธรรม


    หมายเลข 8435
    18 ก.พ. 2567