จิตนิ่งเป็นยังไง


    ศุกล  คราวที่แล้วมีการสนทนาธรรม มีผู้ร่วมสนทนาพูดถึง “จิตนิ่ง”  ปฏิบัติให้จิตนิ่ง เพื่อให้รู้ธรรมต่างๆ ถ้าจิตไม่นิ่ง ก็ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่เป็นหลัก อยากจะขอความกรุณาจากท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์    ก็ต้องถามว่า เอามาจากส่วนไหนในพระไตรปิฎก

    ศุกล  จริงๆแล้วจิตนิ่งจะเป็นไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์    ก็ไม่ต้องไปสนใจค่ะ ถ้าปัญญาแล้วก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ศุกล  เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า “จิตนิ่ง” นี่ใช้ไม่ได้เลยใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    ต้องอธิบายมาให้เข้าใจว่า จะทำจิตนิ่งนั้น จิตนิ่งเป็นอย่างไรถึงจะทำ ถ้าตอบไม่ได้ก็คือไปทำสิ่งที่ไม่รู้

    ศุกล  คนที่พูดก็บอกว่า เวลากำลังปฏิบัติเพื่อจะให้จิตนิ่ง

    ท่านอาจารย์    แล้วจิตนิ่งเป็นอย่างไร ต้องถามเขา

    ศุกล  จริงๆแล้ว จิตนิ่ง มีไหมครับ

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาสนใจเลยค่ะ เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ว่า ปัญญารู้อะไร ไม่ใช่ไปสนใจเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องของปัญญา เสียเวลา ถ้าเราจะไปสนใจเรื่องอื่น เราไม่มีทางที่จะมีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะเรามัวแต่เรื่องนี้ เรื่องโน้น เรื่องนั้น ไม่มีวันจบ แต่เรื่องที่มีอยู่แล้วในพระไตรปิฎกที่เป็นคำสอนที่จะทำให้ปัญญาของเราเกิด รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วเราไม่สนใจเรื่องนี้ แล้วเราไปยกเรื่องอื่นขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ไม่มีวันจบ แล้วเรื่องที่ควรเป็นสาระประโยชน์ก็ไม่ได้

    ศุกล  ต่อไปนี้ถ้ามีการสนทนานอกประเด็น ก็ต้องรีบตัดบทไปก่อน

    ท่านอาจารย์    ก็แล้วแต่คนนั้นว่าเขาต้องการอะไร ถ้าเขาต้องการจิตนิ่ง แล้วจิตนิ่งเป็นอย่างไรที่ต้องการ ทำไมถึงต้องการจิตนิ่ง ต้องมีเหตุผล คือ เรื่องของปัญญาแล้วเป็นเรื่องของเหตุผลทั้งหมด ตอบได้ อธิบายได้

    ศุกล  เขาอาจใช้คำพูดผิดหรือเปล่าไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์    ไม่เป็นไร ให้เขาเข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตนิ่งที่เขาต้องการคือจิตประเภทไหน อย่างไร ทำไมถึงต้องการจิตนิ่ง นิ่งแล้วเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร

    คุณหญิงชวนชม   หมายความว่าดูตัวเองเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์    ถ้าสมมติว่าคนหนึ่งตระหนี่มาก แล้วเขาก็เกิดกุศลจิต บริจาคเงินช่วยเหลือเด็กยากจนขาดอาหาร เราพลอยยินดีที่คนนี้มีกุศลจิต ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีเลย ขณะนั้นเรายินดีในกุศล จิตของเราเป็นกุศล


    หมายเลข 8123
    7 ก.ย. 2558