กุศลวิบากไม่เที่ยง


    ถ้าเป็นของกุศลกรรม ย่อมทำให้ได้รับกับอารมณ์ที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ไม่เที่ยง อย่าลืมนะคะ เพราะฉะนั้นชั่วขณะเล็กน้อยที่ได้รับผลของกุศลกรรม แล้วก็หมดไป แล้วก็ได้รับผลของของอกุศลกรรมเมื่อถึงโอกาสที่อกุศลกรรมจะให้ผล

    ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุพรหมสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ได้ยินว่าเทพบุตรนั้น อันเหล่าเทพอัปสรห้อมล้อมแล้ว ไปยังสนามกีฬานันทวัน

    นี่ก็เป็นที่เพลิดเพลินมาก ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ใครๆก็ย่อมจะไปเที่ยว ไม่ว่าจะในมนุษย์หรือในสวรรค์ เพราะฉะนั้นที่เที่ยวของมนุษยโลกก็อย่างหนึ่ง ที่เข้าใจว่าในโลกมนุษย์มีที่ๆน่าเพลิดเพลิน มีอิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ก็อย่างหนึ่ง แต่ว่าบนสวรรค์ที่เที่ยว ที่เพลิดเพลินก็เป็นสวนนันทวัน

    เทพบุตรนั้นนั่ง ณ อาสนะที่จัดไว้ ใต้ต้นปาริฉัตร เหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ก็นั่งล้อมเทพบุตรนั้น เหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ก็ปีนขึ้นต้นไม้ ถามว่า ก็ต้นไม้แม้สูง ๑๐๐ โยชน์

    ท่านผู้ฟังที่อยากจะคิดคำนวณว่า บนสวรรค์จะกว้างใหญ่สักเท่าไร ต้นไม้สูง ๕๐๐ โยชน์ ก็พิสูจน์เวลาที่ถึงที่นั่น ไม่ใช่ที่นี่

    ถามว่า ก็ต้นไม้แม้สูง ๑๐๐ โยชน์ ก็น้อมลงมาถึงมือด้วยอำนาจจิตของเหล่าเทวดา มิใช่หรือ

       นี่คือความสุขในสวรรค์ ไม่ต้องลำบากเลย แม้ว่าจะต้องการดอกไม้ ต้นไม้ก็น้อมกิ่งลงมา เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามว่า เหตุใดเทพธิดาเหล่านั้นจึงต้องปีนขึ้นเล่า น่าสงสัยใช่ไหมคะ อยู่บนสวรรค์แล้วก็ต้องมีเรื่องสนุก ตามที่เคยสนุกในสังสารวัฏ

    ตอบว่า เพราะเทพธิดาเหล่านั้นสนใจแต่จะเล่น

    อยู่เฉยๆไม่เป็น ในโลกมนุษย์นี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครนั่งเฉยๆ อยู่เฉยๆ ทุกคนก็แสวงหาที่เที่ยว ที่จะสนุก แม้ว่าจะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์แล้ว ก็สนใจแต่จะเล่น

    แต่ครั้นปีนขึ้นไปแล้ว ก็ขับเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ ทำดอกไม้ทั้งหลายให้หล่นลง

    ในขณะนี้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ย่อมมีเทพธิดาซึ่งกำลังทำอย่างนี้อยู่ คนละโลก

    เหล่าเทพธิดานอกนี้ คือ ที่ไม่ได้ปีนขึ้นเก็บดอกไม้เหล่านั้น ก็เก็บดอกไม้เหล่านั้นมาทำเป็นพวงมาลัยขั้วเดียวกัน เป็นต้น ครั้นนั้น เหล่าเทพธิดาที่ปีนขึ้นต้นไม้ก็ทำกาละ คือ จุติด้วยอำนาจอุปัทเฉทกกรรมประหารครั้งเดียวเท่านั้น ไปบังเกิดในอเวจีนรก เสวยทุกข์ใหญ่

    สำหรับอุปัจเฉทกกรรมหรืออุปฆาตกกรรมย่อมมีในมนุษย์และในสวรรค์บางเหล่า กับเทพธิดาหรือเทพบุตรบางพวก เพราะฉะนั้นสำหรับเทพธิดาที่กำลังปีนต้นไม้เล่นและขับเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ ทำดอกไม้ทั้งหลายให้หล่นลง มีอุปัจเฉทกกรรมเกิดขึ้น ตัดรอนความสุขที่กำลังสุขอย่างยิ่งในสวนนันทวัน ไปเกิดในอเวจีนรก เสวยทุกข์ใหญ่

    ไม่มีใครทำได้ นอกจากกรรม ซึ่งขณะไหน เมื่อไรย่อมได้ทั้งสิ้น ทุกคนควรจะเห็นว่า สิ่งซึ่งไม่คาดฝันว่าจะเกิด กรรมก็ยังกระทำให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเหตุการณ์ประจำวัน อุบัติเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น

    เมื่อเวลาล่วงไป เทพบุตรก็นึกรำพึงว่า ไม่ได้ยินเสียงเทพธิดาเหล่านั้น ดอกไม้ก็ไม่หล่น เขาไปไหนกันหนอ ก็เห็นว่าไปเกิดในนรก เกิดรันทดใจเพราะความโศกในของรัก จึงดำริว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เหล่าเทพธิดาก็ไปตามกรรม

    คือยังเห็นหลัดๆ ยังสนุกสนาน ยังเพลิดเพลิน ยังขับเพลง แต่ว่าเพียงอุปัจเฉทกกรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เหล่าเทพธิดาก็ไปตามกรรม

    ตัวเราจะมีอายุสังขารเท่าไรกันเล่า เทพบุตรนั้นดำริว่าในวันที่ ๗ เราก็จะพึงทำกาละ พร้อมกับเหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ส่วนที่เหลือ พากันไปเกิดในนรกนั้นเหมือนกัน รันทดระทมเพราะความโศกที่รุนแรง เทพบุตรนั้นก็ดำริว่าในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก นอกจากพระตถาคตแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถดับความโศกของเรานี้ได้ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวคาถา

    ตามข้อความสุพรหมสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    สุพรหมเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์

    ทุกคนลองพิจารณาดู ถ้าเห็นอย่างนี้จะสะดุ้งสักแค่ไหน

    จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์

    ถ้าเห็นนรกจริงๆ จะรู้ว่าอกุศลกรรมทั้งหลายไม่ควรกระทำเลย เพราะเหตุว่าจะต้องได้รับผลที่เป็นทุกข์มาก เทพบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โปรดตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

    ข้อความที่ว่า จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม กิจที่ไม่เกิดขึ้น คือ จุติกิจที่ยังไม่เกิดขึ้น

    สำหรับทุกคนในขณะนี้ คือ กิจที่ยังไม่เกิดขึ้น เห็น กำลังเห็นเป็นกิจหนึ่งของจิตที่กำลังเกิดอยู่ ได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นกิจที่เกิดขึ้น แต่ว่ากิจหนึ่งที่ยังไม่เกิดในภพนี้ในชาตินี้ คือ จุติกิจ กิจสุดท้ายที่จะทำให้เคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่า ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น คือ จุติจิตของตนเองยังไม่เกิด ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม คือ จุติจิตของคนอื่นที่เกิดแล้ว ซึ่งมองเห็นอยู่ชัดๆ ว่าหนีไม่พ้น จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ว่าเมื่อเห็นจุติจิตของคนอื่นก็คือจุติจิตของคนอื่นเกิดขึ้นแล้ว กิจนั้นของบุคคลนั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่สำหรับตัวผู้ที่มีชีวิตอยู่ เป็นกิจที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีความหวาดเสียว มีความสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ก็กราบทูลว่า โปรดตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

    มีหนทางไหมที่จะพ้นจากความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ซึ่งก็มีหนทางเดียว ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เรายังไม่มองความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง

    ข้อความในพระไตรปิฎก สุพรหมสูตรมีว่า

    สุพรหมเทวบุตรเมื่อกล่าวดังนี้แล้วก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    เมื่อจบธรรมเทศนา เทพบุตรนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

    แสดงให้เห็นว่า หลงลืมสตินานมากไหมคะ ระหว่างที่อยู่ที่สวนนันทวัน กำลังเพลิดเพลิน ฟังเพลงขับ และดูดอกไม้ที่กำลังร่วงหล่นลงมา แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมก็ระลึกได้

    นี่คือผลของสะสมสั่งสมกุศลที่จะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าได้ฟังบ่อยๆ และระลึกบ่อยๆ จนกระทั่งชิน จนกระทั่งชำนาญ ถึงแม้ว่าจะเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเวลาที่จะเพลิดเพลินมากมายทีเดียว แต่เพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาให้สำรวมอินทรีย์ คือ  ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นนั่นเอง ย่อมระลึกได้ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูก และได้สะสมอบรมอุปนิสัยมาเป็นอันมาก ก็ทำให้สภาพธรรมปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้นก็ต้องปัญญาและความเพียร ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจ แต่จะต้องมีการสะสมอบรมระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    หมายเลข 3852
    17 ส.ค. 2558