ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม


    อุไรวรรณ อยากเรียนถามว่าเมื่อเห็นแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างไรคะ เห็นแล้ว แล้วต้องทำอย่างไรต่อไปคะ ถึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ขอย้อนกลับไปนิดหนึ่ง สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เพราะว่าชาวพุทธมีหลายระดับ ไม่ใช่ชาวพุทธที่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ได้ศึกษามามากแล้วในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นชาวพุทธเล็กๆ ชาวพุทธที่เริ่มต้น ชาวพุทธที่กำลังสนใจธรรม จะเติบโตเจริญขึ้นในด้านสติปัญญา หรือว่าในการประพฤติปฏิบัติตามแนวของพุทธศาสนาอย่างไร ก็คงจะไม่พ้นจากมงคล คือ สิ่งซึ่งนำความสุข ความเจริญ ความไม่มีภัยมาให้ เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงการที่จะมีศรัทธาที่จะอ่านบ้าง ฟังบ้าง สนทนาบ้าง พิจารณาบ้าง ซึ่งตำรับตำราพุทธศาสนามีมาก นอกจากพระไตรปิฎกซึ่งอ่านยาก สำหรับคนซึ่งยังไม่ได้มีพื้นฐานจะอ่านพระไตรปิฎกทันทียังไม่ได้ ต้องมีการศึกษาตามลำดับ คือ การศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งยุคนี้สมัยนี้ ก็เป็นสมัยที่ไม่ใช่เป็นกาลสมบัติ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสติปัญญามากที่จะไปอ่านพระอภิธรรมโดยตรง เป็นสิ่งซึ่งจะเข้าใจไม่ได้ทันที ต้องศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกว่ายาก เพราะเหตุว่าไม่เคยคิดมาก่อนเลย ว่าสภาพธรรมแท้ๆ ไม่เป็นตัวตน ไม่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นแต่เพียงจิตบ้าง เจตสิกบ้าง รูปบ้าง แล้วก็แตกจำนวนไปมากมาย บางท่านก็บอกว่า ท่านขอไม่ศึกษา ท่านทำสัญญากันก่อนมาฟัง ก่อนมาฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านบอกว่าสัญญากันก่อนนะ ว่าจะไม่เรียน ๒ คน นะคะ พอฟังไป ฟังไป ท่านก็มีความเข้าใจขึ้นตามลำดับในเรื่องของจิต ในเรื่องของเจตสิก ในเรื่องของรูป แล้วท่านสามารถที่จะจำ จำนวนจิต จำนวนเจตสิกได้ ดิฉันก็ได้เรียนถามท่านว่า ก็บอกว่าจะไม่เรียน แล้วทำไมเข้าใจ ท่านก็บอกว่า ท่านก็ไม่ทราบว่า การเรียนนั้นคือการฟัง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ต้องไปเข้าชั้นที่จะต้องสอบ หรือว่าพยายามที่จะดูหนังสือตำรับตำรา ไม่ให้ตกหล่นเลย แต่ว่าการศึกษาเพื่อเข้าใจ อันนี้สำคัญที่สุด แล้วขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นจะสบาย เบา ผ่องใส ไม่ใช่เป็นความกังวลที่อยากจะรู้ หรือจำเป็นจะต้องท่อง จนกระทั่งจะต้องสอบหรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าสภาพธรรมมี แล้วก็ควรที่จะได้เริ่มฟัง ค่อยๆ ฟังไปให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติธรรม ขั้นทาน ขั้นศีล แล้วก็ขั้นอื่นๆ ซึ่งเป็นมงคล เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดที่จะทำให้ชีวิตมีความเจริญในด้านจิตใจ เพราะเหตุว่าความเจริญจริงๆ นั้น ไม่ใช่ความเจริญทางด้านวัตถุ ถ้าคนที่มีความเจริญทางด้านวัตถุมาก แต่มีกิเลสมาก จะไม่ใช้คำว่า “อารยะ” หรือ “อริยะ” ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ

    เพราะฉะนั้นผู้ประเสริฐจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละคลายอกุศล แล้วก็มีความเจริญทางด้านจิตใจ จนถึงระดับที่เป็นพระอริยบุคคล คือผู้เจริญในธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงขั้นนั้น พุทธบริษัทก็จะต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นมงคลทั้งหลาย แล้วก็ไม่เว้นเลย ไม่ว่าในขั้นทาน แต่ว่าแม้ในเรื่องของทาน ความเข้าใจของชาวพุทธก็ต่างกับความเข้าใจของศาสนาอื่น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในเรื่องของทาน ชาวพุทธก็จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้เพื่อหวังผล หรือว่าเพียงแต่ให้ แต่จะต้องศึกษาให้เข้าใจสภาพของจิตในขณะที่ให้ด้วย ว่าเป็นผู้ที่ผูกพันในการให้หรือเปล่า ให้ด้วยการตั้งตนไว้สูง ว่าเป็นผู้ให้ คนอื่นเป็นผู้รับ หรือเปล่า เป็นเรื่องละเอียดมาก เป็นเรื่องที่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็ ยิ่งขัดเกลาตนเองยิ่งขึ้น แล้วก็เป็นผู้ที่เข้าใจในเหตุในผล ไม่ใช่ว่าถามกันว่า ได้บุญไหม ทำอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วได้บุญไหม คือ เป็นเรื่องซึ่งโลภะเต็มตัว คือต้องการบุญ ไม่ใช่รู้ว่า บุญ คือ สภาพของจิตที่เป็นกุศล เป็นสภาพจิตที่ดีงาม ขณะนั้นไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ มีความหวังประโยชน์แก่บุคคลผู้รับเท่านั้น เมื่อสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ก็ให้ แต่ว่าเรื่องของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สภาพของทานลักษณะต่างๆ ว่า การให้ในลักษณะนี้ผลจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตใจ เช่น มีการที่จะคิดถึงบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ เป็น บุพพเจตนา มีความตั้งใจที่จะช่วย แล้วแม้แต่ขณะที่สละวัตถุให้ก็ด้วยความผ่องใส ไม่ได้ต้องการสวรรค์สมบัติ หรือว่าลาภ ยศ สรรเสริญใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเมื่อให้แล้วก็ไมใช่เป็นผู้ที่ดีใจว่า เราจะได้ผลของทาน หรืออะไรอย่างนั้น ในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะอีกเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจความละเอียดของกุศลจิตและอกุศลจิตว่า กุศลจิตจริงๆ ไม่ใช่อกุศล จะต้องไม่ใช่ในขณะที่มีมานะ มีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ให้ หรือว่าเราให้วัตถุที่ประณีต วัตถุที่คนอื่นไม่สามารถจะให้ได้

    เรื่องของอกุศลมีมาก แต่ว่าพระพุทธศาสนาทั้งหมดเป็นไปเพื่อความขัดเกลา แม้แต่ในเรื่องของทาน

    เพราะฉะนั้นชาวพุทธที่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นศึกษาไปด้วย แล้วก็ปฏิบัติธรรมด้านอื่นๆ ทั้งบารมี ๑๐ แล้วก็เรื่องของมงคลทั้งหมดที่จะเป็นไปได้ แล้วก็ในเรื่องของศีล ในเรื่องของความสงบของจิตใจ ที่จะไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่พยาบาท ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา คือ เป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการยิ่งๆ ขึ้น แต่จะมีคำหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่า “เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ไม่ใช่ใช้คำว่า “เป็นผู้ปฏิบัติธรรม” เท่านั้น แต่ใช้คำว่า “ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

    เพราะฉะนั้น ความหมายของคำนี้ คือ ธรรมเป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นขั้นที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ก็คือขั้นที่ปฏิบัติธรรมเพื่อรู้ความจริงของธรรม คือ สมควรแก่ลักษณะของธรรมที่เป็นจริง มีความเห็นชอบในลักษณะของธรรม กว่าจะถึงขั้นนี้ ต้องอาศัยการฟัง แล้วไม่ใช่ขั้นที่ชวนกันมาปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย หรือว่ามีความเป็นตัวตนว่าปฏิบัติธรรมกันมากๆ ก็ดี โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย แล้วก็ชื่นชมว่า ชาวพุทธปฏิบัติธรรมกันมาก แต่ว่าปฏิบัติถูกหรือผิด ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมหรือไม่

    นี่เป็นสิ่งที่ละเอียดมากที่จะต้องพิจารณาว่า ในบางกาลชาวพุทธก็ปฏิบัติธรรมขั้นทาน ในลักษณะความเข้าใจในเรื่องทานของชาวพุทธอย่างถูกต้อง ปฏิบัติธรรมในขั้นของศีลด้วยความเข้าใจในเรื่องของศีล ในลักษณะการเป็นชาวพุทธอย่างถูกต้อง เพราะเหตุว่าบางคนรักษาศีล หลายท่านที่เคยรักษาอุโบสถ ท่านก็มาบอกว่า เพราะชาติหน้าท่านอยากจะสวย นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่การรักษาอุโบสถศีลอย่างถูกต้องในลักษณะตามแบบของชาวพุทธจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นชาวพุทธจริงๆ แล้ว ต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในด้านของทาน ในด้านของศีล ในด้านความสงบของจิต ก็ไม่ใช่เพื่อหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงจะเป็นการขัดเกลา แล้วก็เป็นการปฏิบัติของชาวพุทธจริงๆ จนถึงขั้นสูงสุดคือปฏิบัติธรรมตามควรแก่ธรรม


    หมายเลข 8717
    25 ก.ย. 2566