จุดมุ่งหมายคือความเข้าใจ


    อุไรวรรณ   ทำไมต้องนับถือพระพุทธศาสนาคะ

    ท่านอาจารย์    จริงๆแล้ว ที่จะเป็นชาวพุทธจริงๆ ข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องเป็นผู้ศึกษาและเข้าใจพระพุทธศาสนาถูกต้อง ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะบอกว่า เป็นชาวพุทธที่แท้จริง ก็คงจะยังไม่สมบูรณ์ และที่จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ทราบว่าจะแบ่งอย่างไร แต่ให้ทราบว่า ถึงแม้จะเป็นคนดี มีศีลธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา หรือไม่ศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ยังไม่ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง

    ผู้ที่มีศรัทธานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตั้งแต่เด็ก ก็เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศ เป็นผู้หมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ ซึ่งสมควรที่แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็จะระลึกถึงด้วยความนอบน้อมกราบไหว้ แต่เมื่อโตแล้วก็ควรพิจารณาละเอียดขึ้นว่า บุคคลที่เราถือเป็นสรณะนั้นเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้อย่างไร แล้วทรงแสดงธรรมอย่างไร เป็นประโยชน์กับพุทธบริษัทอย่างไร เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงหมดกิเลสแล้ว พระอรหันต์และพระอริยสาวกก็หมดกิเลสแล้ว แต่คำสอนของพระองค์จะเป็นประโยชน์กับพุทธบริษัทที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็ไม่มีใครสามารถได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป

    เพราะฉะนั้นต้องมีประโยชน์มหาศาล โดยต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ แต่ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ประโยชน์ที่ได้รับจากพระธรรมก็ไม่ทราบว่า ได้รับส่วนไหน อย่างไร เพราะเหตุว่ายังไม่มีความเข้าใจพระธรรมเลย

    เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า ทำไมต้องนับถือพระพุทธศาสนา จริงๆแล้วก็ไม่ได้บังคับ ไม่ได้หมายความว่า “ต้อง” ใครไปบอกใครว่าต้องนับถือศาสนาอะไร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของความคิด ซึ่งความคิด ความเห็น ความ เชื่อ ทุกคนมีอิสรเสรี ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่า ถ้าจะมีกฎหมายบังคับ ก็อาจจะบังคับความประพฤติทางกาย ทางวาจาเท่านั้น แต่ไม่มีกฎหมายที่จะบังคับใจใครได้ว่า จะให้นับถือศาสนาอะไร

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่ “ต้อง” นับถือพระพุทธศาสนา แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนมีโอกาสฟังคำสอนของทุกๆศาสนา แล้วมีการเปรียบเทียบ พิจารณาว่า ศาสนาไหนเป็นศาสนาที่จะเป็นประโยชน์กับตน

    สำหรับประโยชน์ของพระพุทธศาสนา คือทำให้รู้จักตัวเอง รู้จักโลก รู้จักทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่ใช่สอนให้งมงาย หรือให้เชื่อ แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงเคารพธรรม เพราะเหตุว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมให้เป็นอย่างอื่นได้ อย่างสภาพธรรมที่แข็ง พระพุทธเจ้าจะเปลี่ยนให้เย็น หรือให้ร้อน หรือให้หวาน ให้เปรี้ยว ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพียงฟังอย่างนี้ ไม่ทราบชาวพุทธจะหันกลับไปนับถือศาสนาอื่น เพราะว่าง่ายดี หรือยังคงสนใจที่จะเข้าใจว่า อนัตตาคืออะไร เพราะเหตุว่าตั้งแต่เกิดมาก็มีตัว มีคนนั้นมีคนนี้ แต่พระธรรมทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นจะเชื่อใคร เชื่อตัวเองหรือเชื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงว่าต้องเชื่อว่า เมื่อพระองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วต้องเห็นอย่างนั้น แต่ทรงแสดงความละเอียด ความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่งบุคคลนั้นสามารถเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามพระองค์ได้

    ประโยชน์ก็คือทำให้ละคลายความไม่รู้ ความเห็นผิด แล้วกิเลสก็จะค่อยๆลดน้อยลง เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตน ไม่มีเรา แล้วไม่มีของเรา

    อุไรวรรณ   จุดมุ่งหมายของการนับถือพระพุทธศาสนาคืออะไรคะ

    ท่านอาจารย์    เพื่อเข้าใจพระธรรมค่ะ สั้นที่สุด เพราะว่าทุกอย่างที่ฟัง ทุกคนฟังเพื่ออะไร อย่างวันนี้ทุกคนมาที่นี่ ก็เพื่อฟัง ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่อาจเคยฟังมาแล้ว แล้วก็ยังสงสัย หรือไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย ก็เข้าใจยิ่งขึ้น

    ที่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ก็เพื่อจะให้คนที่ได้ไปเฝ้าฟังพระธรรมนั้นเกิดปัญญา คือ ความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่พระปัญญาของพระผู้มีพระภาคมีมาก แล้วไม่สามารถถ่ายทอดให้บุคคลอื่นเกิดความเข้าใจ แต่เมื่อทรงแสดงธรรมแล้ว ผู้ที่ได้ฟังก็ศึกษา แล้วมีความเข้าใจ  มีปัญญาเพิ่มขึ้นสืบต่อกันมาจนกระทั่งสามารถทำให้บุคคลอื่นที่ได้ยินได้ฟัง ได้สนทนา ได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ก็คือเพื่อความเข้าใจค่ะ

    ประทีป   เมื่อเข้าใจพระธรรมแล้ว เป็นยังไงต่อครับ

    ท่านอาจารย์    คงไม่แล้ว เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้มีความรู้มากในพระพุทธศาสนา แล้วมีความสำคัญตนว่าเก่ง หรือเป็นผู้ได้รับลาภ  ยศ สรรเสริญ นั่นเป็นจุดประสงค์ที่ผิด แต่จุดประสงค์ที่ถูกก็คือ เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว พร้อมจะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเห็นคุณค่าของพระธรรมว่า เป็นพระธรรมที่บริสุทธิ์ที่จะทำให้ผู้ได้เข้าใจแล้ว พยายามขัดเกลากิเลสจนกระทั่งสามารถอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะเราจะเห็นได้ว่า คนที่บอกว่าเป็นชาวพุทธ มักจะถูกติว่า เป็นชาวพุทธแล้วทำไมโกรธมาก หรือทำไมตระหนี่ หรือทำไมประทุษร้ายคนอื่น หรือเวลาที่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ความเป็นชาวพุทธหายไปไหนหมด ที่ว่า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร” ก็ดี หรือพรหมวิหาร ๔ ก็ดี ชาวพุทธกี่คนที่ปฏิบัติตามนี้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การเข้าใจพระพุทธศาสนากับการประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้มากก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจพระธรรมถูกต้องยิ่งขึ้น แต่ถ้าความเข้าใจพระธรรมยังน้อย ยังไม่ถูกต้อง กิเลสที่มีกำลัง แม้จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร” แต่บุคคลนั้นก็กลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม แม้ว่าศึกษาธรรมหรือเป็นชาวพุทธ

    เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาตน แล้วก็เห็นกิเลสของตนโดยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด เปรียบเสมือนกระจกเงาซึ่งจะติดตามทุกคนไปทุกหนทุกแห่ง พร้อมที่จะส่องให้เห็นสภาพของจิตว่า จิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร

    นี่คือประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบในการศึกษาธรรม คือ เมื่อเริ่มศึกษา ก็เริ่มเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามทุกโอกาส จนกว่ากิเลสจะค่อยๆเบาบางลง

    ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ศึกษาแล้ว และมีความเข้าใจธรรมแล้ว จะรู้ได้ว่า คำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นทำให้ผู้ฟังที่ศึกษาแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้าใจความต่างกันของ “อวิชชา” ความไม่รู้ กับ “วิชชา” แล้วสามารถมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ความต่างกันของคนตาบอดกับคนตาดีนั้นคืออย่างไร ทั้งๆที่ทุกคนในขณะนี้ไม่ใช่คนตาบอด แต่เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังไม่ชื่อว่า มีตาปัญญา เพราะเหตุว่าแม้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีใครบ้างที่สอนว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง แล้วกำลังปรากฏชั่วขณะที่มีจักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ การเห็นก็เกิดขึ้น

    แม้ว่าจะทรงแสดงพระธรรมไว้ตลอด ๔๕ พรรษา ผู้ที่เริ่มศึกษาก็ยากเหลือเกินที่จะมีปัญญาเหมือนผู้ที่ศึกษามาก่อนแล้วเป็นเวลา ๒๐ ปี ๓๐ ปี หรือเป็นเวลาหลายกัปมาแล้ว อย่างผู้ได้ฟังพระธรรมแล้วสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ข้อความธรรมไม่เปลี่ยน เพราะเหตุว่าธรรมคือธรรม มีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ผู้ที่ได้อบรมปัญญามามากแล้ว เพียงฟังสั้นๆ สามารถเข้าใจลักษณะของธรรม และเข้าใจความหมายของธรรมว่า เมื่อเป็นธรรม จึงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชาติที่เป็นธาตุแต่ละธาตุ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมจึงต้องอาศัยกาลเวลา และผู้ศึกษาต้องมีศรัทธาเห็นประโยชน์ และเมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้ได้ว่า ก่อนศึกษาไม่เคยมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถึงมีแสงสว่าง มีรูป มีการเห็น แต่ปัญญาก็ไม่ได้รู้สภาพสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาและการเห็นอย่างถูกต้อง

    ด้วยเหตุนี้พระธรรมจึงทำให้ผู้ได้ศึกษาเข้าใจแล้ว สามารถเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้ แล้วก็รู้ว่า ผู้ที่ตรัสรู้นั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


    หมายเลข 8715
    11 ก.ย. 2558