สนทนาธรรมที่วัดวังตะกู ๒


    ผู้ฟัง   คุณกำลังจะบอกให้เราได้เข้าใจกันว่า สภาพธรรมที่ตรงและถูกต้อง เกิดจากขบวนการธาตุรู้แห่งจิต ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์    ในทางพระพุทธศาสนาละเอียดมาก คือ ต้องทราบว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่ว ๑ ขณะจิตที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าจิตที่เกิดทุกขณะมีพลัง หรือมีสัตติในการที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีที่จิตนั้นดับลง เวลาที่พระคุณเจ้าสวดพระอภิธรรม จะมีคำว่า เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย จนถึงนัตถิปัจจโย สิ่งที่มีแล้วปราศไป เพราะฉะนั้นจิตในขณะนี้มี เกิดแล้วดับ การดับคือการปราศไปของจิตขณะนี้ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าจิตขณะนี้ยังไม่ดับ ยังไม่ปราศไป จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีจิตเพียง ๑ ขณะ ทีละ ๑ ขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ตายอีก แสนโกฏิกัปมาแล้ว

    เพราะฉะนั้นจิตทำหน้าที่เกิดขึ้น เมื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีก แล้วก็เกิดอีก ดับอีก เพราะฉะนั้นเป็นขณิกมรณะ หมายความถึงความตายจริงๆทุกขณะ ไม่ใช่สมมติมรณะ คือ ความตายที่เราใช้กัน เวลาที่เกิดมาแล้วก็ตายไป นั่นเป็นสมมติมรณะ และไม่ใช่สมุจเฉทมรณะ คือ การตายจริงๆ ไม่เกิดอีกเลยของพระอรหันต์ ซึ่งเราใช้คำว่า “ปรินิพพาน”

    เพราะฉะนั้นการที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องศึกษาพระธรรม แล้วก็เริ่มความเห็นถูก แต่ไม่ใช่มีเราจะไปประจักษ์หรืออยากจะทำเพื่อที่จะให้เห็น แต่ต้องเป็นการอบรมปัญญา คือ ความเข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นเริ่มเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้เข้าใจถูกต้องแล้ว

    ผู้ฟัง   หมายถึงการศึกษาพระธรรม ต้องไม่มี “ตัวกู” “ของกู” อยู่ในการศึกษา

    ท่านอาจารย์    ถ้าพูดว่า ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรา ก็เป็นแต่ความคิด เพราะเหตุว่าขณะนั้นปัญญายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา สภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา คือ สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม ถ้าปัญญาสามารถรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้ถูกต้อง แยกขาดจากกัน ก็จะค่อยๆละความเป็นเรา จนกว่าจะดับหมดเมื่อเป็นโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น รู้แจ้งนิพพาน จึงสามารถดับความสงสัย ความไม่รู้ ความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง   มีคำถามอีกคำถามหนึ่งว่า สภาพธรรมที่ตรงและถูกต้องจะเกิดได้กับสัญญาหรือไม่ คือ สัญญาจะทำให้เกิดสภาวะหรือสภาพธรรมที่ปรากฏตรงและถูกต้อง

    ท่านอาจารย์    สัญญาเป็นอีกคำหนึ่ง ซึ่งคนไทยใช้ผิด ถ้าเป็นสภาพปรมัตถธรรม สภาพธรรมของสัญญาเจตสิก เป็นสภาพจำ เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะว่าจิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ขณะ

    ผู้ฟัง   ตัวอย่างเช่น

    ท่านอาจารย์    ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิต ๑๐ ดวงซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย  ทำหน้าที่เห็น ขณะนี้มีจิตเกิดดับสลับกัน จิตที่เห็นดับไปแล้ว แล้วจิตที่ติดข้องในสิ่งที่เห็นก็เกิดสืบต่อคนละขณะ

    เพราะฉะนั้นชั่วขณะที่เพียงเห็น ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ขณะ

    ผู้ฟัง   แล้วเราจะเข้าใจว่า ในจิตที่เกิดดับนั้นมีองค์ประกอบด้วยสภาพรู้หรือธาตุรู้กับสัญญา ถูกต้องหรือไม่ครับ

    ท่านอาจารย์    ต้องมีเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด ไม่ใช่เฉพาะสัญญา

    ผู้ฟัง   ไม่ใช่ธาตุรู้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์    ไม่ใช่เฉพาะสัญญาเจตสิก


    หมายเลข 8698
    11 ก.ย. 2558