ความรู้ขั้นปริยัติคืออย่างไร


    จรัญ   ผู้ที่ฟังธรรม และมีความเข้าใจในสภาพธรรมในขั้นการฟัง จะต่างกับผู้รู้แจ้งธรรมอย่างไร ทั้งๆที่ต่างก็รู้ธรรม และเห็นความเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เหมือนๆกัน

    ท่านอาจารย์    ปัญญาระดับปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธไม่เหมือนกัน

    จรัญ   อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยแสดงว่า ปัญญาขั้นที่ต่างกัน ต่างกันอย่างไร ระหว่างขั้นปริยัติกับขั้นอื่น

    ท่านอาจารย์    ขณะนี้อะไรปรากฏ

    จรัญ   แข็งครับ

    ท่านอาจารย์    ปริยัติใช่ไหม ถ้าอยากจะรู้ว่า ปริยัติคืออย่างไร ปัญญาขั้นปริยัติคืออย่างไร ก็ถามว่า ขณะนี้อะไรปรากฏ ถ้าตอบว่า แข็ง นั่นแหละคือปริยัติ

    จรัญ   ถ้าตอบว่า สภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์    เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็จะต้องหมายความว่าขณะนั้นทำไมตอบอย่างนี้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็ถามต่อไปอีกว่า ที่ตอบอย่างนี้เพราะอะไรจึงตอบว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    จรัญ   เพราะว่าจำได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์    นี่ก็ปริยัติ ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะเข้าใจว่า ความรู้ระดับปริยัติคืออะไร ก็คืออย่างที่ตอบ

    นิภัทร ในสมัยพุทธกาล การศึกษาธรรม ไม่มีหนังสืออ่าน หนังสือมีใช้แล้วสมัยนั้น แต่ไม่นิยมเอามาเขียนภาษาธรรม การศึกษาธรรมสมัยนั้นก็ฟังโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากพระอรหันต์ จากพระสาวกทั้งหลายที่ท่านรู้ ฟังโดยตรงเลย ไม่ผ่านตำรา ไม่ผ่านตัวหนังสือ ฟังเสียงตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่ผู้ฟัง แล้วผู้ฟังก็เข้าใจได้ทันทีว่า หมายถึงอะไรที่พระพุทธองค์ตรัส ถ้าเราอ่านแต่ตำราอย่างเดียว ยึดติดแต่ตำราอย่างเดียว โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของเรา ก็ทำให้เราห่างเหินจากความจริง ถ้าเราเข้าใจความจริงจริงๆ จากสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของเราแล้ว ก็ตรงกับที่ท่านว่าไว้ แต่เราจะเอาตำราเป็นเครื่องทดสอบ เราจะพลาดนะครับ ถ้าเราจะเอาปริยัติไปพิสูจน์ความจริง ก็เป็นเพียงชื่อ เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่ได้พิสูจน์ อย่างที่ท่านอาจารย์ถามคุณจรัญ

    ท่านอาจารย์    นี่คือความต่างนะคะ เพราะเหตุว่าปกติธรรมดา เราจะเข้าใจชื่อของสติ แล้วเวลาที่เป็นสติที่เป็นไปในทาน เราไม่รู้เลย เพราะว่าไม่ปรากฏ เป็นไปในศีลก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นสมถภาวนาก็ไม่ปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า ลักษณะของสติปรากฏ เพราะเหตุว่าธรรมดาเรากระทบสิ่งที่แข็ง ทุกคนตอบได้ แข็ง เผ็ด ร้อน หวาน ตอบได้หมด เสียงอะไรก็ตอบได้ เพราะว่าได้ยิน ก็เป็นวิญญาณแต่ละทาง เช่น จักขุวิญญาณกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ โสตวิญญาณกำลังได้ยินเสียง ถ้ามีกลิ่น ก็ฆานวิญญาณกำลังรู้กลิ่น ถ้ากำลังลิ้มรส ชิวหาวิญญาณก็กำลังลิ้มรส ถ้ากระทบสัมผัส กายวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นกายวิญญาณที่รู้แข็ง เป็นปกติธรรมดาที่ทุกคนตอบได้ เด็กเล็กๆก็ตอบได้ ใครก็ตอบได้ แต่ขณะใดที่สัมมาสติเกิดระลึก ต้องมีการฟัง มีความเข้าใจว่า ไม่มีตัวตนเลย แต่ว่ามีธาตุหรือสภาพธรรมที่สามารถปรากฏ ถ้าอย่างทางกาย ก็คือลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึ่งขณะนี้กำลังปรากฏ แต่ว่าปรากฏแล้วผ่านไป เร็วมาก ทางมโนทวารวิถีก็เกิดต่อ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นอะไรไป แต่ถ้าขณะใดที่เกิดระลึกที่จะไม่ต่อไปเป็นบัญญัติ แล้วก็มีความเข้าใจเล็กๆน้อยๆ ค่อยๆเกิดขึ้นว่า ลักษณะนี้ก็เป็นสภาพธรรม โดยไม่ต้องพูด แต่รู้ว่า แข็งมีจริงๆ เป็นสภาพธรรม แล้วลักษณะของแข็งก็ไม่ใช่ลักษณะที่รู้แข็ง ขณะนั้นมีสภาพธรรม ๒ อย่างที่แข็งปรากฏ คือ แข็งกับรู้แข็ง

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่รู้ว่า กำลังค่อยๆเข้าใจ เพราะเร็วมาก สั้นนิดเดียวเอง จะเข้าใจทันทีไม่ได้ แต่ต้องทีละเล็กทีละน้อยที่รู้ว่า ลักษณะรู้คืออย่างนี้ ที่กำลังรู้แข็งคืออย่างนี้ มีจริงๆอย่างนี้ นี่คือสติปัฏฐาน แต่ยังไม่ใช่เป็นปฏิเวธ เป็นแต่เพียงการเริ่มที่จะอบรมความรู้ถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ แต่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีจริงๆ คนนั้นก็จะรู้ว่า ขณะไหนหลงลืมสติ ขณะไหนมีสติ

    นี่เป็นขั้นต้น คือ ต้องรู้ความต่างของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ ซึ่งเป็นปัจจัตตัง เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้สติของใครระลึกที่ไหนหรือไม่ระลึก สติไม่เกิด คนนั้นก็รู้เอง

    จรัญ   สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพโทสะ ไม่เป็นปฏิบัติอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    ใครไม่รู้ล่ะคะ

    จรัญ   ใครไม่รู้

    จรัญ   คือ โทสะมีหลายขั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    ค่ะ เวลาที่โทสะเกิด ทุกคนรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่กุศล ลักษณะของโทสะก็อย่างหยาบกระด้าง แล้วใครไม่รู้ลักษณะของโทสะ

    จรัญ   คงจะไม่มีครับ

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะชื่อว่า ปัญญา หรือเปล่าคะ

    จรัญ   ขณะนั้นไม่ชื่อว่า ปัญญา เพราะว่าทุกคนที่ไม่เข้าใจธรรมก็รู้ได้ แล้วถ้าเป็นปฏิบัติ จะระลึกรู้สภาพโทสะอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เวลาที่โทสะเกิด สติก็รู้อาการลักษณะของโทสะว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่เรา เพราะว่าปกตินี่เราโกรธ  แต่เวลาที่สติเกิด ก็มีลักษณะของความโกรธปรากฏให้ระลึก ให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงปัญญาจะต้องเจริญจนกระทั่งว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะทุกอย่างคือเดี๋ยวนี้หมดเลยค่ะ เสียงนิดเสียงหน่อยพวกนี้เป็นธรรมทั้งหมด ทุกทาง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ


    หมายเลข 8688
    11 ก.ย. 2558