กรรมคือเจตนา


    กรรมคือเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่งในเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ชนิด สภาพธรรมที่เกิดกับจิตมี ๕๒ อย่าง ต่างกันเป็นแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ อย่าง

    เพราะฉะนั้นกรรมได้แก่ความจงใจ หรือความตั้งใจ ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า “เจตนา” แต่ภาษาไทยเราพูดว่า “เจด ตะ นา”  เราบอกว่า ฉันไม่ ”เจด ตะ นา” แต่ความจริงเจตนาเจตสิกเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เราจะรู้หรือไม่รู้ เราจะรู้อีกเยอะ แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า ขณะหนึ่งที่จิตเกิดมีสภาพเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย มากน้อยเท่าไร ซึ่งเราไม่มีทางจะรู้เลย เพราะว่าจิต เราก็ยังไม่เห็น ยังไม่รู้  เจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เราจะรู้ได้อย่างไรว่า มีจำนวนเท่าไร แต่จากการตรัสรู้ และการค่อยๆศึกษา จะทำให้เราเห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าตราบใดที่เรายังยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นของเรา จะไม่หมดความทุกข์ แต่เมื่อเห็นว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้ก็สบาย คือเราไม่มี เพราะฉะนั้นคนอื่นจะมีได้อย่างไร  ก็คือจิต เจตสิก รูป ก็คือสภาพธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นต่างๆนานา

    เพราะฉะนั้นแต่ก่อนนี้เราอาจจะมองเป็นคนนั้นไม่ดี คนนี้ดี ชื่อนั้นชื่อนี้ แต่พอที่ศึกษาธรรมแล้ว เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่มีชื่อ กุศลจิตเป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม ชั่วขณะที่เกิดแล้วก็ดับ แต่เราเรียกกุศลจิตนั้นว่า คนนั้นกำลังทำความดี แต่ความจริงก็คือสภาพของจิตประเภทหนึ่งซึ่งดี เกิดขึ้นทำความดีแล้วก็ดับไป

    ถ้าเวลาที่อกุศลจิตเกิด ตอนนี้เขาก็รบราฆ่าฟันกันเยอะรอบบ้านเรา แต่ก่อนนี้เราก็ใส่ชื่อเป็นคนชาตินั้นชาตินี้ แต่จริงๆแล้วมองให้เข้าใจลึกซึ้ง ก็คือสภาพของจิตต่างๆกัน ซึ่งเป็นอกุศลที่สามารถกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ ก็หมดความเป็นเชื้อชาติ หมดความเป็นชื่อต่างๆ เห็นแต่เพียงเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นเราก็มีปัญญาที่จะเห็นว่า ควรจะอบรมสะสมธรรมฝ่ายดี แล้วก็ควรจะขัดเกลาธรรมฝ่ายไม่ดี แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา แต่ต้องด้วยการเข้าใจธรรมมากขึ้น เห็นความจริงเพิ่มขึ้นว่าเป็นอนัตตา ทุกอย่างตามเหตุตามปัจจัย


    หมายเลข 8510
    10 ก.ย. 2558