ความเพียรที่เป็นบารมี


     

    ท่านอาจารย์    วันนี้ขอให้เป็นการสนทนาธรรม เพราะว่าบางคนก็คงได้เคยฟังธรรมมาแล้วจากรายการวิทยุหรือที่ต่างๆ ถ้ายังมีข้อข้องใจหรือสงสัย เราก็ควรได้สนทนาให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น เพราะว่าเวลาที่ฟังธรรม คงจะไม่มีโอกาสได้ซักถาม เพราะว่าต้องฟังไปเรื่อยๆ แต่เวลาที่เรามีโอกาสพบปะสนทนากัน สิ่งไหนเป็นที่สงสัย จะได้สนทนาให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น ถ้าเป็นเรื่องการฟังก็เฉยๆ ไม่มีการซักถาม ก็คงจะได้ประโยชน์น้อยค่ะ

    วันชัย วิริยบารมีเป็นอย่างไรครับ และทำไมถึงต้องเรียกวิริยบารมี เพราะยังมีผู้ฟังหลายท่านยังไม่เข้าใจกุศล หรือบุญกุศลที่เกี่ยวกับทางพระพุทธศาสนา บางท่านก็ยังรออายุเท่านั้นหรือเท่านี้ ถึงจะมาศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา หรือบางทีก็ติดข้องกับธุรกิจบางอย่าง หรือต้องรอให้มีสิ่งชักจูงจริงๆ ถึงจะหันมาพึ่งทางพระพุทธศาสนาได้ และจริงๆแล้วที่ว่า วิริยบารมีมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือต้องรออายุเท่านั้นเท่านี้หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์    ถ้าพูดถึงพระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทราบว่า เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งละเอียดกว้างขวางมาก เพราะว่าทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา บางคนเกิดมาตายไปก่อนอายุ ๔๕ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ตั้งแต่เช้าจนถึงใกล้เวลาพักผ่อน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า พระธรรมต้องมีมากทีเดียว  และการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากเป็นก็เป็นได้ แต่ต้องเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมาก ใช้คำว่า “บารมี” แสดงให้เห็นว่า เราต้องให้เข้าใจคำนี้จริงๆ เพราะมิฉะนั้นเราก็เคยพูดบ่อยๆว่า พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป นี่อย่างเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้าเป็นยิ่งด้วยศรัทธา ก็ต้องมากกว่านั้นอีก ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะ ก็ต้องมากยิ่งกว่านั้นอีก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมีเหตุที่สมควร ไม่ใช่ว่าใครก็ตามนึกอยากจะเป็นก็ได้ และเมื่อได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเห็นพระมหากรุณาที่ได้ทรงแสดงพระธรรมสำหรับพวกเราในยุคนี้ด้วย เพราะเหตุว่าคำสอนที่ผู้ได้รับฟังจากพระโอษฐ์ก็ได้สืบทอดต่อๆมา จนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎก และยังไม่สูญสิ้นไป เพราะฉะนั้นเราก็ยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรมแท้ๆ จากที่ได้ทรงแสดงแล้ว แล้วก็จารึกไว้ เพราะฉะนั้นจะเห็นพระมหากรุณาว่า แม้จะปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมก็ยังอยู่ เป็นศาสดาแทนพระองค์

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆฟัง ค่อยๆพิจารณาให้เป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ฟังแล้วก็จะไปจำจำนวนเลข หรือเป็นผู้ที่ได้กุศลเยอะๆ แต่เป็นผู้ที่ฟังให้เข้าใจจริงๆว่า ธรรมคืออะไร พระธรรมคืออะไร  แล้วถึงจะเห็นพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณของพระผู้มีพระภาคได้

    เพราะฉะนั้นขอเริ่มจากคำว่า “บารมี” เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจคำนี้ เราก็ใช้คำนี้โดยได้ยินได้ฟัง คนไทยต้องเคยได้ยินคำว่า “บารมี” แต่จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

    “บารมี” ผู้ที่เป็นผู้รู้บาลี ท่านก็ได้แปลว่า หมายความว่าธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง แสดงให้เห็นว่า พวกเรามีแม่น้ำกว้างใหญ่ขวางหน้า เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีบารมี จะข้ามจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ฝั่งนี้คืออะไร ฝั่งนี้ก็คือฝั่งของคนที่มีกิเลสทั้งนั้น ถ้าไม่มีกิเลสไม่เกิด เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้วต้องเป็นคนที่มีกิเลส พระชาติสุดท้ายที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระองค์หมดกิเลสแล้ว แล้วถึงได้ประสูติ และตรัสรู้นะคะ แต่ต้องยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนที่เกิดไม่ว่าใครทั้งหมดต้องมีกิเลส

    เพราะฉะนั้นการที่เราเกิดมาและกิเลสในวันหนึ่งๆ มาก แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยสนใจกิเลสของตัวเองเลย เห็นกิเลสของใครคะ เห็นกิเลสของคนอื่น บางคนก็จะมีเรื่องราวของกิเลสของคนอื่นทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะพูดถึงใคร ก็พูดถึงแต่กิเลสของคนอื่น แต่กิเลสของตัวเองไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น อย่างนั้นจะมีประโยชน์ไหมคะ การเห็นกิเลสของคนอื่น แต่ไม่เห็นกิเลสของเรา

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดแก่ทุกคนที่มีโอกาสได้ฟัง ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร ชาติไหน อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้มีโอกาสฟังพระธรรมแล้ว พระธรรมสำหรับทุกคนจริงๆ ที่จะไตร่ตรองให้เข้าใจว่า เรายังเป็นผู้มีกิเลส จึงได้เกิดมา เมื่อเกิดมาแล้วยังมีกิเลสขวางกั้น เหมือนกระแสน้ำที่กว้างใหญ่กว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งที่ดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น “บารมี” หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องทำให้ถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือการสิ้นกิเลสได้ กิเลสก็เป็นสิ่งที่ทุกคนคงจะไม่ชอบ ถ้าเกิดกับคนอื่นแล้วเราเห็น แต่เวลาเกิดกับตัวเอง รู้สึกอย่างไรคะ นิดๆหน่อยๆ คงไม่เป็นไร ซึ่งความจริงไม่ควรจะเห็นอย่างนั้นเลย กิเลสเหมือนกันหมด ไม่ว่าของใคร กิเลสที่เรา หรือกิเลสที่เขา หรือกิเลสที่ใคร ก็เป็นกิเลส

    โลภะ คือ ความติดข้อง ต้องการ  ยึดมั่น มีกันอยู่ทุกคน คนที่ไม่มีโลภะ คือ บุคคลเดียว คือ พระอรหันต์เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะรู้อริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะเหตุว่ากิเลสที่จะดับมากมายมหาศาล จะดับกิเลสทีเดียวหมดเป็นพระอรหันต์ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะต้องดับกิเลสเป็นขั้นๆ ขั้นแรกคือจะต้องดับความไม่รู้ ความเห็นผิด ความติดข้องในความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งถ้าไม่มีการฟังพระธรรม เราก็อาจจะไม่รู้ว่า เราเห็นผิดหรือเปล่า หรือเราเห็นผิดมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าฟังพระธรรมละเอียดขึ้น ก็จะเห็นว่า แม้นิดแม้หน่อยที่ผิดก็ต้องผิด เช่น การไม่เชื่อเรื่องกรรม หรือผลของกรรม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็เป็นความเห็นผิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นความเห็นผิดมีมาก แต่ขณะใดก็ตามที่ใครกำลังเห็นผิด คนนั้นจะไม่เข้าใจเลยว่า เขากำลังเห็นผิด ต่อเมื่อใดมีความเห็นถูกเกิดขึ้น เขาก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึง “บารมี” ก็มีถึง ๑๐ แต่ที่จะพูดถึงตามที่คุณวันชัยต้องการในขณะนี้ก็คือ “วิริยบารมี”

    วิริยะ คือ ความพากเพียร ทุกอย่างที่จะสำเร็จ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ และก็นึกให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้นจึงต้องมีวิริยะ มีความเพียรที่จะกระทำสิ่งนั้นให้เกิด ให้สำเร็จได้ วิริยะที่ทรงแสดงไว้ในโอวาทปาติโมกข์ คือ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ขันติคือความอดทน วิริยะก็ต้องมีด้วย ถ้าไม่มีวิริยะ เราจะอดทนได้ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นธรรมที่แสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในชีวิตของเรา ไม่ว่าในทางโลก และในทางธรรม ก็คือความพากเพียร หรือความอดทน ความขยันหมั่นเพียรนั่นเอง ในทางโลกก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และในทางธรรมก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ด้วย เช่น ในขณะนี้เหมือนกับทุกคนนั่งเฉยๆ แต่ความจริงมีวิริยะ มีความเพียรที่จะฟัง

    เพราะฉะนั้นเราเองต้องเข้าใจความหมายว่า ความเพียรมี ๒ อย่าง คือ เพียรที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง และเพียรที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นความเพียรที่เป็นอกุศล พวกเราก็ทำกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน เพราะว่าขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในกุศล แม้ความเพียรที่เกิดในขณะนั้นก็ต้องเป็นความเพียรฝ่ายอกุศลด้วย แต่ความเพียรที่จะเป็นบารมี ต้องเป็นความเพียรทางฝ่ายกุศล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ง่ายเลย ให้เราเพียรทำอะไรเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ เราเพียรได้ วันหนึ่งทั้งวันก็ทำได้ อีกครึ่งคืนก็ทำได้ แต่ถ้าจะให้เพียรในทางกุศล จะทำอย่างนั้นได้หรือเปล่า

    ก็จะเห็นได้ว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่สะสมมายังไม่มากพอที่จะเท่ากับทางฝ่ายอกุศล ถ้าเห็นอย่างนี้จริงๆ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเพียรทางฝ่ายกุศลขึ้น

    ความเพียรขั้นต้นของการเจริญกุศลก็คือ ต้องเพียรฟังพระธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่วันนี้วันเดียว แต่ว่าวันอื่นๆต่อไปด้วย


    หมายเลข 8483
    10 ก.ย. 2558