อยากหรือตั้งใจ


    ถาม   ท่านอาจารย์อธิบายจุดตรงนี้ เวลาที่เกิดความทุกข์ยากหรือความไม่สบายขึ้นมา ส่วนมากเราจะไม่เห็นว่า เป็นวิบากของเรา เราจะไปขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ซึ่งเป็นความจริง ถึงแม้ว่าเราจะเรียนรู้แล้วว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเป็นผลของกรรมของเราเอง จุดนี้เคยฟังท่านอาจารย์หลายครั้ง และเคยพิจารณาเข้ามาในตัวเองว่า ความยากที่จะเข้าใจสภาพธรรมตรงที่เกิด เป็นสิ่งที่ยากจริงๆ อย่างเมื่อกี้ตอนทานข้าวคุยกันเรื่องทำบุญ แม้แต่คำว่า “อยาก” กับ “ตั้งใจ” เราก็ยังแยกแยะไม่ได้เลยว่า อะไรคืออยาก อะไรคือตั้งใจทำบุญ จนกว่าเราจะประสบกับสิ่งนั้นจริงๆว่า ขณะที่อยาก บางทีก็ไม่ได้ทำอย่างที่ท่านอาจารย์อธิบาย แต่ถ้าเราตั้งใจจริงๆแล้ว ถึงจะลำบากเราก็ต้องทำให้ได้ แม้แต่จะเข้าใจข้อความเล็กๆน้อยๆตรงนี้ก็เข้าใจได้ยากอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้พิจารณาตรงนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมนี่จริง ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้  แต่ก็ยากจะเข้าใจ เพราะเหตุว่าเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก และถ้าเราไม่ได้พิจารณาจริงๆ เพียงคำว่า “อยาก” บางคนก็บอกว่า เป็นโลภะ แต่ก็มีอยากอีกอย่างหนึ่ง คือ อยากจะกระทำให้สำเร็จที่เป็นกุศลก็ได้ แต่ขณะนั้นเป็นฉันทะ เป็นความพอใจที่จะกระทำ แต่ไม่ใช่ความอยาก

    เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกระหว่าง “อยาก” กับ “พอใจ” ที่จะกระทำ แล้วยังเจตนาจริงๆที่ตั้งใจจะทำด้วย ไม่อย่างนั้นก็ปนกันหมดเลย

    อย่างที่ยกตัวอย่างว่า มีคนหนึ่งที่มีเงินทอง มีทรัพย์สมบัติมาก แต่เขาบอกว่า   ถ้าเขาถูกล็อตเตอรี่แล้วเขาจะทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือความอยากหรือความตั้งใจ อยากทำบุญแต่ต้องถูกสลากกินแบ่ง กับความตั้งใจที่ว่าจะถูกหรือไม่ถูกก็ตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้น ความตั้งใจก็ไม่ใช่เพียงแต่ความอยาก แล้วก็อยาก แล้วก็อยาก เพราะไม่ถูกสลากกินแบ่งสักที

    ผู้ฟัง อย่างนี้แสดงว่าความตั้งใจเกิดจากความเข้าใจธรรม เกิดจากการสละได้

    ท่านอาจารย์    แล้วแต่กาลค่ะ  เพราะฉะนั้นเราจะเห็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาทั้งหมดว่า เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น  แต่เรารู้ตามความเป็นจริงถูกต้องว่า อย่างนี้คืออย่างนี้ อย่างนั้นคืออย่างนั้น


    หมายเลข 8255
    8 ก.ย. 2558