อัตตสัญญาหรือมิจฉาทิฏฐิ


    วรศักดิ์   ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด ก็เลยยังไม่รู้ว่า ทิฏฐิเจตสิกกับอัตตสัญญาที่ทรงจำว่าเป็นตัวตน จะมีความใกล้เคียงกันมากเพราะว่าสติปัฏฐานไม่เกิด จากการเรียนรู้บัญญัติ เรื่องราว ก็พอจะเข้าใจ แต่พอพิจารณาแล้วก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวเดียวกันหรือเปล่า ถ้าจะอธิบายถึงอัตตสัญญา คือจำในความเป็นตัวตน ส่วนทิฏฐิเจตสิก คือ การยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน การยึดถือกับการจำว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวเดียวกันหรือครับ

    ท่านอาจารย์    ความเห็นผิด

    วรศักดิ์   สมมติว่าทุกคนที่ฟังธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์เข้าใจแล้ว จะมีทิฏฐิไหมครับ   

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเจตสิกเกิดหรือไม่เกิดคะ เพราะเหตุว่ากิเลสมี ๓ ระดับ ที่เป็นอนุสัย ไม่ได้เกิดทำกิจการงานร่วมกับจิต อย่างเวลาที่นอนหลับสนิท คนที่ไม่ใช่พระโสดาบันก็มีอนุสัยกิเลสครบ ยังไม่ได้ดับไปเลย แต่เวลาตื่นขึ้น แล้วแต่ว่าทิฏฐิเจตสิกจะเกิดหรือไม่เกิดทำกิจการงาน ถ้าเกิดก็คือเกิดร่วมกับจิต ทำกิจเห็นผิด ขณะนั้นมีความเห็นในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั่นเป็นสักกายทิฏฐิ แต่ถ้าไม่เกิดมีแต่โลภะ ก็เป็นความติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็ต้องแยก ๒ อย่าง คือ โลภะไม่ใช่ทิฏฐิ

    วรศักดิ์   ถึงแม้เราจะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตาก็ตามหรือครับ   เรายังมีทิฏฐิเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ต้องแยกก่อน ถ้าเป็นกุศลจิต ไม่มีทิฏฐิเจตสิกแน่นอน แล้วเวลาที่เป็นอกุศลจิต ก็ต้องแยกว่า ขณะนั้นเป็นโทสะ หรือเป็นโมหะ หรือเป็นโลภะ ถ้าเป็นโทสะ ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ถ้าเป็นโมหะ ทิฏฐิเจตสิกก็เกิดร่วมด้วยไม่ได้ ทิฏฐิเจตสิกจะเกิดร่วมเฉพาะกับขณะที่มีความติดข้องในความเห็นนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นไม่มีความติดข้องในความเห็น แต่มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นโลภะที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    วรศักดิ์   ติดข้องในความเห็นนั้นใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    วรศักดิ์   แล้วอธิโมกข์ด้วยหรือเปล่าที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ปักใจเชื่อมั่นอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ อธิโมกข์เกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต ที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้

    วรศักดิ์   อย่างนั้นก็แสดงว่า ที่ปักใจเชื่อ

    ท่านอาจารย์ ปักใจในอารมณ์

    วรศักดิ์   ก็แสดงว่า ปักใจในอารมณ์จะมีทิฏฐิประกอบด้วยก็ได้ หรือไม่มีก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเรียนว่า จิตนี้เกิดกับเจตสิกกี่ประเภท

    วรศักดิ์   ครับผม เพราะว่าเท่าที่เราฟังธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์มา ก็มีความเข้าใจในขั้นเรื่องราวว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็เลยคิดว่า ทิฏฐิเจตสิกตัวนี้คงจะเจือจางไปแล้ว หรืออาจจะไม่มีเลย เพราะว่าฟังอาจารย์แล้ว แล้วก็คิดว่าเข้าใจคล้อยตามอาจารย์บ้างตามสมควร

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดขณะที่เป็นกุศล นี่แน่นอน แล้วขณะที่เป็นโทสะก็ไม่เกิด ในขณะที่เป็นโมหะก็ไม่เกิด ในขณะที่เป็นโลภะติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยที่ไม่มีความเห็นเกิดด้วย ในขณะนั้นก็เป็นโลภะ แต่ไม่ใช่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นความติดข้องในทิฏฐิ ในความเห็น

    วรศักดิ์   แต่จะเป็นอัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของสัญญา ความจำ เพราะฉะนั้นวิปลาส จึงมีจิตตวิปลาส สัญญาวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส


    หมายเลข 8245
    7 ก.ย. 2558