ไตรสิกขา


    ถาม   ผมสนใจเรื่อง “ไตรสิกขา” อยากจะเรียนถามเรื่อง “จิตสิกขา” คือ การศึกษาเรื่องจิต ท่านบอกว่า มีการศึกษาให้รู้จักอารมณ์ของจิต ก็อยากเรียนถามอาจารย์ว่า การศึกษาให้รู้จักอารมณ์ของจิตเป็นอย่างไร และให้รู้จักจิตที่เป็นไปตามอารมณ์นั้นคืออย่างไร และการควบคุมรักษาจิตของตนให้มีความสงบ มีวิธีการอย่างไรบ้างครับ ๓ ข้อ

    ท่านอาจารย์    มีคำอะไรบ้างที่ทุกคนได้ยิน ลองหยิบมาเป็นคำๆ ที่ยังไม่เข้าใจตามที่กล่าวถึง

    “ไตรสิกขา” ก็ยังไม่ทราบใช่ไหมคะ “ไตร” แปลว่า ๓ “สิกขา” ก็คือศึกษา แปลว่าการศึกษา ๓ อย่างพร้อมกัน

    นี่คือเราจะต้องแปล หรือเข้าใจสิ่งที่ใครก็ตามพูด ไม่ใช่คิดว่าเข้าใจ ไม่พอเลย คิดว่าเข้าใจนั้นไม่ถูก ได้ยินคำไหนต้องเข้าใจให้ชัดเจนในคำนั้น แม้แต่คำว่า “ไตรสิกขา” “ไตร” ทุกคนก็รู้ว่า จะใช้คำว่า “ไตร” หรือ “ตรี” ก็หมายความถึง ๓ แล้วสิกขา คือ ศึกษา โดยมากแต่ก่อนนี้เราก็คิดว่า ศึกษา คือ การไปโรงเรียน หรือการฟังตามมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เราเกิดความรู้ ต้องศึกษา ไม่ศึกษาแล้วก็ไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นคำนี้เพียงแต่ยังไม่ถึงคำถามจริงๆ เอาแต่เพียงคำแรกว่า “ไตรสิกขา” เราก็ต้องเข้าใจว่า ได้แก่อะไร

    “ไตรสิกขา” ในที่นี้ คือการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไตรสิกขาที่ว่ามี ๓ คือ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งมีอีกคำหนึ่งที่อาจจะเพิ่มมาทำให้ละเอียดขึ้น คือ “อธิ” เติมคำว่า “อธิ” ข้างหน้า อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา  

    บางคนอาจจะคิดว่า คงเป็นเรื่องง่าย  สิกขา ๓ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง แต่ความจริงแล้วต้องอาศัยความเข้าใจตั้งแต่ต้นเป็นลำดับ จึงจะสามารถเข้าใจสิกขา ๓ นี้ได้จริงๆ โดยถูกต้อง แม้แต่คำถามที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือ เรื่องอารมณ์ ขอเชิญทวนคำถามอีกครั้งได้ไหมคะ ไตรสิกขากับอารมณ์

    ผู้ฟัง    คือศึกษาให้รู้จักอารมณ์ของจิต คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อนค่ะ ที่ว่า ไตรสิกขา คือศึกษาให้รู้อารมณ์ของจิตคืออย่างไร เราจะหยิบมาเป็นคำๆก่อน คือ ไตรสิกขานี่เราเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่ไปนั่งตามโรงเรียน หรือไม่ใช่การศึกษาอย่างอื่น แต่ศึกษาในขณะนั้นเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าใครสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมขณะนี้ได้ ผู้นั้นประกอบด้วยไตรสิกขา คือ ทั้งศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า “ไตรสิกขา” ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ผลของการศึกษา หรือความเข้าใจอันนี้ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่น แต่ไตรสิกขา คือ ขณะที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปซึ่งเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นผู้ใดกำลังประจักษ์แจ้ง ผู้นั้นมีไตรสิกขา คือ ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา


    หมายเลข 8049
    6 ก.ย. 2558