บ้านธัมมะ ม.ค. ๒๕๕๒ ตอนที่ 33


    สนทนาธรรมที่บ้านธรรม เชียงใหม่

    ๑๓-๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดมีตั้งแต่น้อยที่สุดจนถึงมาก เช่นความยินดีติดข้องเพียงเล็กน้อยนิดหน่อย กับความยินดีติดข้องมากๆ นี่ก็ต่างกันแล้ว ยินดีติดข้องจนกระทั่งสามารถเอาสิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตน ก็ต้องมีกำลังแล้ว ยินดีในของของตนมาก หรือของของตนนั้นยินดีเพียงเล็กน้อย ก็ต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นสภาพธรรมก็ต้องมีหลายระดับ

    ผู้ฟัง ขอเปลี่ยนคำถามนิดหนึ่ง คือได้ฟังพระสูตรมาว่า พระผู้มีพระภาคแม้จะประทับอยู่กับพุทธบริษัททั่วทั้งจักรวาล ก็ชื่อว่า อยู่ผู้เดียว อยู่พระองค์เดียว แต่อย่างเรานั่งฟังธรรมอยู่ที่บ้านธรรม อย่างไรก็เหมือนนั่งกันหลายคน ซึ่งรู้สึกว่าค้านกับความเป็นจริงที่ต่างกันระหว่างพระผู้มีพระภาคกับปุถุชนอย่างเรามากเลยครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อยู่คนเดียว หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ไม่มีความคิดว่าอยู่คนเดียว มันเหมือนเห็นหลายคนมากเลยครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้อยู่คนเดียว หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตามความเป็นจริงต้องอยู่คนเดียว

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้อยู่คนเดียว หรือเปล่า

    ผู้ฟัง แต่เดี๋ยวนี้ ความจริงไม่ได้อยู่คนเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ความจริงซึ่งเป็นสภาพธรรมทีละอย่างซึ่งเกิดดับ จึงมีหลายๆ คน มีสิ่งของหลายอย่าง เพราะคิดถึงสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง เหมือนไม่ได้อยู่คนเดียว แต่อยู่กับสิ่งต่างๆ ตามความคิดนึก แต่ถ้าเป็นผู้อยู่ผู้เดียว ก็คือผู้ที่มีปัญญา สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ เฉพาะสภาพธรรมนั้นเท่านั้นที่มี สภาพธรรมอื่นไม่มี เพราะไม่ได้ปรากฏ และเพราะเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นหมดแล้วทุกอย่าง อย่างที่เรากำลังนั่งอยู่ เราจำได้ว่า มีตัวเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ยังเป็นแขนเรามี ขาเรามี นั่งอย่างนี้ก็เป็นเรานั่ง แต่ตามความเป็นจริง เห็นเป็นเรานั่ง หรือเปล่า หรือเป็นธรรมที่เพียงเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ทั้งโลกด้วย ทั้งจักรวาลด้วย ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากขณะนั้นเป็นเห็นกับสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ถ้าขณะนั้น อยู่คนเดียว หรือเปล่า ไม่มีใครเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นที่กล่าวว่าไม่มีอะไรปรากฏ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว จนไม่มีอะไรปรากฏจริงๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ เพราะว่าจิตเห็นเกิดเมื่อไร ก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเท่านั้น จะไม่มีอย่างอื่นเลย เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้แต่ไม่รู้ ก็เข้าใจว่าเราเห็น แล้วก็เห็นคนอื่นด้วย แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้ารู้ว่า ขณะนั้นไม่มีแม้แต่เราค่ะ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่มีรูปหนึ่งรูปใดเลย นอกจากรูปที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปใด แล้วเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย จึงไม่มีเรา จะกล่าวว่า อยู่คนเดียว ก็คือด้วยความรู้ที่ถูกต้อง จึงให้รู้ว่า ไม่มีสิ่งที่ยั่งยืน และขณะนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าขณะนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ขณะนี้เป็นอย่างนั้น หรือเปล่า เป็นอย่างนั้นแต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใช่ไหมคะ กำลังเห็นนี่มีปอดไหม มีฟันไหมคะ

    ผู้ฟัง ถ้าเฉพาะเห็น ไม่มีครับ

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นไม่มี แน่ๆ เลย ที่เคยเป็นเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่เหลือเลย นั่นจึงจะตรงกับความหมายว่า ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้ามีความรู้อย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อไร คือ อยู่ผู้เดียว

    ผู้ฟัง หมายถึงปัญญาที่รู้ความจริงของโลกทางหนึ่งทางใดที่ปรากฏ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    ผู้ฟัง อีกคำถามหนึ่ง คือ ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ก่อให้เกิดความสบายแก่การพิจารณาทางใจ แต่สำหรับธรรมบางประการที่เราศึกษาแล้วรู้สึกว่ายากมาก ก็ยังไม่เกิดความสบายในการพิจารณาทางใจ ท่านอาจารย์ช่วยเกื้อกูลส่วนนี้ด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา อยู่คนเดียว ไม่มีญาติพี่น้องเลย เหงาไหมคะ ว้าเหว่ไหมคะ คิดถึงไหม อาลัย อยากมี อยากพบ อยากเห็น หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นปัญญา ขณะนั้นจะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น นี่เป็นความต่างกัน เพราะเหตุว่าขณะที่มีปัญญา รู้ความจริง ปีติไหมคะ ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง แม้แต่เราก็ไม่มี แต่ถ้าไม่มีปัญญา อย่าพูดถึงแม้แต่ไม่มีคนอื่นเลย แค่เราไม่มี ก็คงจะใจหาย ไม่เหลืออีกเลย ไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    นี่คือความต่างกันของปัญญากับอวิชชา คือ ความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่า เพียงเรารู้แค่นี้แล้วจะปีติ บางคนก็บอกว่า เข้าใจแล้วน่าจะเบาสบาย ปีติ แล้วทำไมไม่เหมือนจะเป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุว่าปัญญาขณะนั้นเทียบกับอกุศลซึ่งติดตามมาอย่างรวดเร็ว อะไรมากกว่ากัน

    ผู้ฟัง อกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเป็นปีติในความรู้ถูก ในความเห็นถูกได้ไหม ไม่ปรากฏเลย เพราะว่าน้อยมาก แล้วก็เป็นช่วงขณะสั้นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ก็อกุศลท่วมทับเยอะครับ ก็ไม่ปรากฏลักษณะของปัญญาที่เล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้จริงๆ ไม่ได้กลัว ไม่ได้ตกใจ ไม่ได้หวั่นไหว ปีติไหมคะ พ้นจากการเป็นทาสของความไม่รู้สิ่งที่มีตลอด แต่ไม่เคยรู้เลย พ้นจากความติดข้องใดๆ ซึ่งเคยติดข้องไว้มาก เป็นอิสระจากความเป็นทาสของความต้องการ และความติดข้อง จะรู้สึกสบายกว่าเวลาที่ติดข้องไหมคะ เพราะว่าเวลานี้สิ่งที่คนยังมีกิเลสต้องการ คือ ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของโลภะ โลภะทำให้ต้องการ โลภะทำให้ติดข้อง โลภะทำให้แสวงหา แต่ถ้าไม่มีโลภะ ขณะนั้นพ้นจากความติดข้อง ความเป็นอิสระอย่างนั้น ถ้าไม่เคยมี ก็จะไม่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่า ไม่ต้องเดือดร้อน และพ้นจากความติดข้องได้ แม้แต่เพียงขั้นเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง มีผู้สนใจอยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ขอเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องการฝึกนั่งสมาธิควบคู่กับการฟังธรรมให้รู้แจ้ง คือไม่ได้ยึดมั่นในการนั่งสมาธิ เพียงแต่พอมีเวลาว่างบ้างที่จะนั่งเวลาจิตฟุ้งซ่าน แต่ก็พยายามจะฟังธรรมให้รู้แจ้ง ขอความกรุณาช่วยแนะนำให้ด้วย เพราะเป็นผู้กำลังตั้งใจ และพยายามเข้าถึงในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยใจที่ตั้งมั่น ขอขอบพระคุณมาก จากเด็กใหม่ลำพูน

    อ.นิภัทร อยากจะเข้าใจธรรม แต่อยากจะฝึกสมาธิใช่ไหมครับ จะฝึกนั่งทำไม นั่งก็นั่งไปเลย ไม่ต้องฝึก มีใครไปฝึกนั่งบ้าง นั่งมาตั้งแต่เกิด เด็กนั่งได้ก็นั่งแล้ว ไม่ต้องฝึก นั่งเลย ไม่เกี่ยวกับฝึกนั่งสมาธิ สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว แม้แต่หลับก็ยังมีเอกัคคตาเจตสิกเกิด สิ่งที่เราจะต้องรู้ ก็ไม่ใช่ไปฝึกนั่งสมาธิ ไปฝึกหาสิ่งที่ไม่มี สิ่งที่มีนั่นไม่หา สิ่งที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ ได้กลิ่นอยู่เดี๋ยวนี้ รู้รสอยู่เดี๋ยวนี้ ถูกต้องสัมผัสอยู่เดี๋ยวนี้ คิดนึกอยู่เดี๋ยวนี้ คำว่า “รู้แจ้ง” แจ้งอะไร รู้แจ้งโลกนี้ โลกนี้คืออะไร โลกนี้ในพระธรรมวินัยของพระอริยะก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่า โลกนี้ โลกนี้ในวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แจ้งโลกนี้ ก็คือรู้แจ้งที่นี่ รู้แจ้งต้องมีสิ่งที่ให้รู้แจ้ง ไม่ใช่รู้โดยไม่มีสิ่งที่จะให้รู้ รู้แจ้งอะไร ก็รู้แจ้งตา มีรูปธรรมปรากฏ คือ วัณณรูป และจักขุปสาทก็เป็นรูป เป็นปสาทรูป แล้วก็มีจักขุวิญญาณก็เป็นจิต เป็นนาม รู้ หรือยังว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้ รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้ว ความเป็นตัวเป็นตนก็ไม่มี ความเป็นตัวเป็นตนนั้นเป็นเรื่องหลังจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส คิดนึกแล้ว ต่อจากนั้นก็มาคิดเอา คิดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มาคิดทีหลัง แต่ความรวดเร็วของธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ เร็วจนกระทั่งติดกัน แยกไม่ออก เราก็สำคัญว่า การเห็นกับคนนั้นคนนี้เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ เห็นก็อย่างหนึ่ง รู้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ก็อีกอย่างหนึ่ง คนละทวาร คนละทางเลย ไม่ใช่ทางเดียวกัน ตาเห็นอย่างเดียว คือ เห็นสีเท่านั้น เห็นวัณณรูป เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นอย่างอื่นไม่ได้ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นคน เห็นสัตว์ ก็เห็นไม่ได้ คน สัตว์ เก้าอี้ สิ่งของต่างๆ เป็นเรื่องที่คิดขึ้นภายหลัง เป็นทางมโนทวาร เป็นทางใจ เราก็พยายามที่จะศึกษาอย่างนี้ ไม่ต้องไปฝึกนั่งสมาธิ นั่งสมาธิ นั่งเท่าไร ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ แต่ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงประทับนั่งที่โพธิบัลลังก์แล้วได้ตรัสรู้ ไปเอาท่านมาเปรียบทำไมครับ เราไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ไม่เคยสั่งให้พระภิกษุนั่ง ไม่เคยสั่งว่า เธอต้องนั่งเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมงนะ มีไหม อยู่ที่ไหน ไม่เคยมี เธอจงนั่งฝึกสมาธินะ อย่างนี้ไม่มี มีที่ท่านว่า เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ เพราะว่าผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง มี ท่านพูดไว้อย่างนี้ แต่คำว่า “สมาธิ” ในที่นั่นหมายถึงอะไร คือ สมาธิในมรรค ๘ สัมมาสมาธิ มักจะเกิดโดดๆ โดยไม่มีมรรคอื่นเกิดร่วมด้วย ไม่มี สมาธิเกิด สติก็เกิด สัมมาทิฏฐิก็เกิด สัมมาสังกัปปะก็เกิด สัมมาสติก็เกิด สัมมาสมาธิก็เกิด เกิดพร้อมกัน ๕ มรรคเกิดพร้อมกัน และเมื่อครบจนถึงสามารถบรรลุมรรคผลได้เมื่อไร ที่เรียกว่า มรรคประชุมกันพร้อมเมื่อไร ก็ได้บรรลุมรรคผลทันที

    อันนั้นไม่ต้องไปคิด เราคิดแต่ว่า ถ้าเราเข้าใจธรรม รู้จักธรรมที่เกิดขึ้นทำหน้าที่แต่ละขณะ แต่ละทวาร เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่วัน ๒ วัน เดือน ๒ เดือน ปี ๒ ปี ต้องเนืองๆ บ่อยๆ เป็นประจำ เพราะว่ามีอยู่ตลอด ตัวเราอยู่ตราบใด ธรรมเหล่านี้ก็มีอยู่ตราบนั้น ไม่ต้องไปเที่ยวหาที่ไหนเลย

    เพราะฉะนั้นท่านผู้นี้บอกว่า เวลาจิตฟุ้งซ่าน แต่ก็พยายามฟังธรรมให้รู้แจ้ง จิตฟุ้งซ่านก็เป็นธรรม รู้ หรือเปล่าว่า จิตเป็นธรรม จะไปฟังธรรม จะไปฟังเสียงเฉยๆ ก็ไม่ได้ ขณะที่ฟังพระปัญจวัคคีย์โกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน นั่งฟัง แต่ท่านไม่ได้นั่งฝึกสมาธิ ขณะที่ฟัง เสียงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสธัมมจักกัปปวตนสูตร พระโกณฑัญญะ และพระปัญจวัคคีย์อีก ๔ รูปก็ได้ยิน ได้ยินเป็นธรรม ท่านพูดตรงเลย ได้ยินเป็นธรรม คิดนึกขณะนั้นก็เป็นธรรม ก็เป็นธรรมอยู่ตลอด ฟังจบก็รู้แจ้งเลย ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่า นั่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งโดยเฉพาะ จะรู้แจ้ง ไม่ใช่ สมาธิที่รู้แจ้งต้องเป็นสัมมาสมาธิ


    หมายเลข 6077
    18 ธ.ค. 2566