บ้านธัมมะ ม.ค. ๒๕๕๒ ตอนที่ 30


    สนทนาธรรมที่บ้านธรรม เชียงใหม่

    วันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ แต่ยังมีกุศลยิ่งกว่าทาน และศีลด้วย เพราะเหตุว่าในขณะนี้ใครให้อะไรใคร หรือเปล่า ก็ไม่มี ก็ไม่มีกาย วาจา ที่จะไปกระทำทุจริตใดๆ แต่ก็ยังเป็นกุศลในขณะที่ฟังธรรม และเข้าใจ เพราะฉะนั้นในขณะใดที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งเพียงแค่ทาน สามารถจะสละวัตถุให้บุคคลอื่นได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญา จะสละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา และเป็นของเราได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกุศลที่สูงที่สุด ก็คือปัญญา เพราะเหตุว่าสามารถมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท จะได้ยินคำใด ภาษาใดก็ตาม แต่คำนั้นหมายถึงสภาพธรรมอะไรตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำ แล้วก็จำ แล้วก็พูดตามกันเหมือนเข้าใจ แต่ความจริงยังไม่ได้เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นเวลาถามว่า มีสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ขณะนั้นรู้อะไร ต้องมีคำตอบ เพราะเหตุว่าอวิชชาไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่ปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ลักษณะนั้น เพราะสติรู้ตรงนั้น ที่ใช้คำว่า “ระลึกได้” หมายความว่า กำลังรู้ลักษณะตรงลักษณะที่ปรากฏ เพราะปกติเราหลงลืม พูดเรื่องเห็น แต่ไม่ได้รู้ตรงเห็น พูดเรื่องแข็ง ก็ไม่ได้รู้ตรงลักษณะที่แข็ง แต่พูดเรื่องแข็ง ต้องกระทบกายปสาท ก็กล่าวไป แต่ว่าไม่ได้รู้ตรงลักษณะที่แข็ง

    เพราะฉะนั้นระลึกได้ ที่ใช้คำว่า “สติ” ที่แปลว่า “ระลึกได้” หมายความว่า ไม่ใช่ไประลึกเรื่องอดีตเก่าๆ สนุกสนาน โกรธแค้น หรือว่าอะไรที่ผ่านมา แต่ระลึกรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นความเข้าใจธรรมก็มีหลายระดับ สติที่กำลังฟังเรื่องราว จึงสามารถเข้าใจคำที่ได้ยินว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นธรรม ไม่ใช่ของใคร ไม่เป็นตัวตน นั่นคือกำลังเป็นสติขั้นฟังเข้าใจเรื่องราวที่กำลังได้ยิน เป็นปริยัติ จะพูดเรื่องสติปัฏฐานโดยละเอียดโดยลึกซึ้งอย่างไรก็ตาม การที่สามารถเข้าใจถึงความลึกซึ้ง และความละเอียดในขั้นฟัง นั่นคือปริยัติ ซึ่งขณะนั้นเป็นกุศลจิต ต้องมีสติเจตสิกเกิดระลึกรู้ในความหมาย ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็เหมือนพอระลึกที ก็ต้องยาว แต่เจตสิกทุกเจตสิกเกิดดับเร็วมาก เพราะว่าเกิดพร้อมจิต และดับพร้อมจิต

    เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นเจตสิกแต่ละเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน และกำลังทำกิจการงานหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลเจตสิก หรืออกุศลเจตสิก ต่างคนก็ทำหน้าที่ตรง เจตสิกนี้ไม่สามารถไปทำกิจหน้าที่ของเจตสิกอื่นได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรม เป็นกุศล ขณะนั้นจะไม่มีใครรู้ว่า มีทั้งศรัทธา มีทั้งหิริ มีโอตตัปปะ มีตัตรมัชฌัตตตา มีอโลภะ อโทสะ มากมายถึง ๑๙ ประเภท เกิดแล้วดับแล้วพร้อมจิตอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะพูดเรื่องสติ แล้วบอกว่า ขณะที่กำลังฟังเข้าใจเป็นกุศลจิต ขณะนั้นมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะกำลังรู้ และเข้าใจตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าคิดเรื่องอื่น ขณะนั้นจะไม่เข้าใจธรรม อย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ก็มีเสียงดัง ทั้งๆ ที่กำลังฟังธรรม ก็เลยพลาดไป ไม่ได้ยินคำที่ควรจะได้ยิน ก็เป็นขณะที่น่าเสียดาย เพราะเหตุว่าถ้าได้ยินคำนั้น ก็จะมีความเข้าใจในคำนั้น แต่เมื่อไม่ได้ยิน เพราะว่าจิตขณะนั้นรู้อย่างอื่น ก็ทำให้ไม่ได้เข้าใจคำนั้น เพราะขณะนั้นสติไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้รู้ตรงสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง นี่ก็เป็นสติขั้นฟัง แต่ขั้นฟังแม้จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากเท่าไรก็ตาม ก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นโสภณธรรม ที่เป็นสติ ที่เป็นหิริ โอตตัปปะ เพราะเป็นฝ่ายกุศล

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การฟังเรื่องธรรมยังไม่ใช่การรู้จัก หรือการเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ที่กำลังมีในขณะนั้น จนกว่าความเข้าใจมั่นคงจากการฟังเข้าใจ ทำให้สามารถรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เช่น แข็ง ถ้าพูดเรื่องแข็ง มีใครรู้ตรงลักษณะที่แข็งบ้าง ไม่มี เพราะไม่ใช่สติสัมปชัญญะ กำลังเป็นสติขั้นฟังเข้าใจ แต่เมื่อมีการฟังเข้าใจ เกิดรู้ตรงแข็ง ไม่ใช่เราเลย ทรงแสดงว่า เพราะสติอีกขั้นหนึ่ง คือ สติที่สามารถระลึกได้ รู้ตรงแข็ง เราใช้คำว่า “ระลึกได้” เหมือนยาว แต่ความจริง สติเกิดแล้วสั้นมาก แล้วก็รู้ตรงนั้นเลย แต่ถ้าจะอธิบาย ก็คือว่า เพราะระลึกได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม เป็นปัจจัยให้สตินั้นรู้ตรงแข็ง ไม่ใช่มีใครไปเตือน หรือใครไปบอกว่า รู้ตรงแข็ง ก็ไม่ใช่ แต่เพราะเหตุว่าจากการฟังที่มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น เพราะฉะนั้นสติจึงเกิดรู้ตรงแข็งได้ ด้วยความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ว่า เป็นธรรม จะรู้ตรงแข็งไหม ก็เหมือนทุกวัน ใช่ไหมคะที่ผ่านไป กระทบแข็งก็ผ่านไป ไม่รู้อะไรเลย แต่ขณะใดก็ตามซึ่งเหมือนเดิมแต่เกิดรู้ตรงแข็ง ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เริ่มรู้จักลักษณะธรรมที่แข็ง ไม่ใช่เพียงได้ยิน แล้วรู้ว่า แข็งเป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้สติสัมปชัญญะ จะแปลใช้ศัพท์อย่างไรก็ตาม แต่ต้องหมายความว่า เป็นขั้นของสติที่ไม่ใช่เพียงรู้ในขณะที่กำลังฟัง ระลึกได้ให้เข้าใจสภาพที่กำลังฟัง แต่มีลักษณะจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้สติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน ที่ใช้คำว่า “ปัฏฐาน” หมายความว่า สิ่งนั้นเป็นที่ตั้งของสติที่ระลึกรู้ในความเป็นจริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นในขณะที่สติสัมปชัญญะขณะนั้นเกิด เป็นปกติ เพราะไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ให้สติเกิด หรือไม่ให้สติเกิด ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ ถ้ากำลังรู้ตรงลักษณะหนึ่งลักษณะใด ขณะนั้นมีความเข้าใจเกิดขึ้นว่า ต่างกับขณะที่ไม่ได้รู้ตรงลักษณะ

    ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงสามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสติที่กำลังรู้ที่ลักษณะที่มีจริงๆ จึงใช้คำว่า “ปัฏฐาน” ที่ตั้งของสติ เพราะว่าเป็นสภาพที่มีจริง ที่จะให้ปัญญารู้ความจริงในสิ่งนั้นได้ จึงเป็น สติปัฏฐาน และสติสัมปชัญญะ เพราะมีปัญญาที่รู้ด้วยว่า ขณะนั้นไม่ใช่เหมือนเดิมที่หลงลืมสติ แม้จะพูดเรื่องธรรม แต่ก็ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของธรรม

    ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมจึงไม่เผิน และไม่ใช่พูดตาม ไม่ใช่แปลคำ โดยไม่รู้ว่า สภาพที่แท้จริงนั้นคืออะไร ถ้าเข้าใจอย่างนี้ต้องถามคนอื่นไหมคะ กำลังรับประทานอาหารมีสติสัมปชัญญะ หรือเปล่า ต้องถามคนอื่น หรือเปล่า และคนอื่นจะตอบเราได้อย่างไรว่ามี หรือเปล่า นอกจากตัวเองที่จะรู้เองว่า ขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะ หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่มีการฟังธรรม จะไม่มีการรู้ตรงลักษณะนั้นเลย เพราะว่าอะไรคะ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ทำให้รู้สึกว่า ที่เข้าใจนี่เข้าใจผิด แต่เมื่อมาฟังท่านอาจารย์ รู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เผินไม่ได้ เหมือนอย่างที่อาจารย์ธิดารัตน์บอกว่า ใหม่ทุกวัน

    ผู้ฟัง ขออนุญาตลองดูว่า เข้าใจถูกไหม เพราะฉะนั้นคำว่า “สติ” ที่เราพูดธรรมดาๆ ไม่ใช่สติที่มีความหมายอย่างเดียวกับในทางพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ สติ ภาษาไทย

    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้ามีความหมายตรงกับพระพุทธศาสนาแล้ว สติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเป็นกุศล ทีนี้ถ้าจะยกตัวอย่างเช่น ตักอาหาร ถ้าตักอาหารธรรมดา ไม่ได้คิดถึงใคร ก็ทานของเราคนเดียว ก็เป็นอกุศล แต่ถ้าเรานึกเอื้อเฟื้อไปถึงคนอื่น มีกุศลเกิดขึ้น กิริยาตักอาหารอันเดียวกันนั้น ก็เป็นสติเกิดขึ้น ถ้าทราบมากไปกว่านั้นว่า ขณะนั้นมีเมตตาเกิดขึ้น สภาพธรรมขณะนั้นก็มีสติสัมปชัญญะขั้นฟัง ใช่ไหมคะ แต่ถ้าทราบมากไปกว่านั้นอีก คือ รู้ตรงกับสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เช่น รู้แข็ง หรือรู้ร้อน ก็จะเป็นสติสัมปชัญญะที่มีปัญญา ที่เป็นอันเดียวกับสติปัฏฐาน เข้าใจอย่างนี้ถูกไหมคะ

    อ.ธิดารัตน์ รู้สึกว่า อาจารย์อู่แก้วก็สนใจสติปัฏฐานมาก และอยากจะทราบว่า สัมปชัญญะขณะไหน ถึงจะเรียกว่า เป็นสติสัมปชัญญะที่เกิดกับสติปัฏฐาน ก็คือขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้กระทั่งที่ยกตัวอย่างมา เช่น ตักอาหาร ซึ่งจริงๆ แล้วละเอียด สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ถ้าหากว่าขณะนั้นอาการตัก ถึงแม้จะตักรับประทานเอง ถ้ามีการระลึกรู้ ลักษณะ โลภะเกิด รู้ลักษณะโลภะก็ได้ หรือรู้ลักษณะแข็ง คือ ช้อน ลักษณะนั้นปรากฏ แต่ต้องปรากฏโดยความเป็นธรรมจริงๆ ที่ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่แข็งก็เป็นแข็ง โดยไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นสภาพของนามธรรมก็เป็นนามธรรมแต่ละชนิด หรือลักษณะของจิตที่มีเมตตา บางทีเราคิดเอง เพราะว่าขณะนั้นเมตตาจริงๆ เกิด หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ต้องมีลักษณะของเมตตาปรากฏ แต่ถึงแม้ว่า ลักษณะของเมตตาไม่ปรากฏ แต่เวลาที่เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนสหายธรรม หรือตักมาโต๊ะท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วลักษณะของความนอบน้อมจะปรากฏ เพราะว่าตักมาเพื่อท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่สภาพจิตขณะนั้นว่า สภาพธรรมใดจะมีกำลัง ถึงแม้จะเป็นกุศล ซึ่งก็ละเอียดมากเลย

    ผู้ฟัง ขออนุโมทนาค่ะ แต่ความจริงยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าจะให้ชัดเจน ก็คือ สภาพธรรมทำกิจแล้วระลึก ขณะนั้นจะเข้าใจถ่องแท้ด้วยตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นการสนทนาก็เหมือนเข้าใจ แต่ยังไม่สามารถเข้าใจจริงๆ ได้ เพราะยังไม่มีสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งเลยที่ปรากฏตัวชัดๆ กับปัญญาของเรา เราก็ยังไม่สามารถรู้ชัดได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่เป็นห่วง คือ เวลาที่เราสนทนาธรรมกัน มีความรู้สึกว่า เราไม่สามารถสื่อสารถึงกันได้ เพราะเวลาเราพูดสติ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน เราก็ไม่เข้าใจว่า หมายถึงขณะไหน

    อ.นิภัทร ต้องมีฐานให้มั่นคง ปัฏฐาน คือ ฐาน คือ ความเข้าใจต้องมั่นคง สติถึงจะเกิดได้ ฐานก็ยังไม่มั่นคง ขึ้นไปก็พังซิครับ คือต้องมีฐานที่ให้สติเกิดระลึกรู้ ก็ไม่ไปจากอื่น คือ ความเข้าใจในชีวิตประจำวันนี่แหละ เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส คิดนึก ต้องให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เห็นไปเปล่าๆ ได้ยินไปเปล่าๆ ได้กลิ่นไปเปล่าๆ รู้รสไปเปล่าๆ ถูกต้องสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็งเปล่าๆ คิดนึกก็เปล่าๆ ถ้าอย่างนี้แล้ว ฐานไม่มี สติก็เกิดไม่ได้ ฐานนี่ต้องให้แน่น มั่นคง

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามคุณลุงว่า ฐานอันนี้หมายถึงว่า

    อ.นิภัทร ที่ตั้งให้สติระลึก

    ผู้ฟัง เช่นแข็งอย่างนี้ใช่ไหมคะ

    อ.นิภัทร ก็สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามทวารต่างๆ

    ผู้ฟัง ที่ฟังท่านอาจารย์อธิบายคำว่า สติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะจบไป ท่านอาจารย์ก็จะทิ้งคำถามไว้ว่า แล้วจะไม่ถามใช่ไหมว่า อันนี้ใช่ไหม อันนี้เป็นอะไร อันนั้นหมายความว่า ในผู้ศึกษา คือ ศึกษาให้เข้าใจเรื่องราวของลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นอย่างไร


    หมายเลข 6074
    8 ม.ค. 2567