ทบทวนปัจจัย - นิสสยปัจจัย


    ปัจจัยที่ ๔  คือโดยนิสสยปัจจัย   ได้แก่  สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยนั้นเป็นปัจจัยแก่ปัจจยุปบันนธรรม   โดยเป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันนธรรม   

    คำว่า  “นิสัย”   หมายความถึงที่อาศัย  เพราะฉะนั้นจิตและเจตสิกทั้ง ๒ อย่าง   ต่างก็เป็นนิสสยปัจจัยแก่กันและกัน  เพราะเหตุว่าต้องอาศัยกัน

    ในภูมิที่มีขันธ์ ๕   เช่นในภูมินี้  จิตของทุกท่าน ต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น   ไม่สามารถที่จะเกิดข้างนอกรูปร่างกายได้เลย   เพราะฉะนั้นในขณะที่โลภมูลจิตดวงที่ ๑   ซึ่งเป็นโสมนัสสหคตัง   ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง   อสังขาริกัง   เกิดขึ้น   ลองพิจารณาดูว่า  อะไรเป็นนิสสยปัจจัย   เป็นที่อาศัยเกิดของโลภมูลจิตดวงนี้   

    ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมดว่า  จิตประเภทใดอาศัยรูปใดเกิด   แต่ถ้ากล่าวถึงโลภมูลจิต   ทุกคนมีโลภมูลจิต   แต่ควรที่จะได้รู้ด้วยว่า   เวลาที่โลภมูลจิตเกิด   อาศัยรูปใดเป็นนิสสปัจจัย   เป็นที่เกิด  เป็นที่อาศัยเกิด   พอที่จะทราบได้เองใช่ไหม ?   ทางตาในขณะที่เห็น  จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท   เพราะฉะนั้นจักขุปสาทเป็นนิสสยปัจจัย  ที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณ

    สำหรับโลภมูลจิต   เวลาที่เห็นแล้วชอบนี้   โลภมูลจิตมีรูปใดเป็นนิสสยปัจจัย  เป็นที่อาศัยเกิด   รูปใด ?   เป็นที่อาศัยเกิดของโลภมูลจิต   

    โลภมูลจิตเกิดที่ไหน ?   ต้องเกิดในตัวใช่ไหม ?   

    เพราะฉะนั้นที่เกิดมีอยู่ ๖   จักขุปสาท ๑   เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต  ๒ ดวง  ที่กำลังเห็น   โสตปสาท ๑   เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง  ที่กำลังได้ยิน   ฆานปสาท ๑   เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง  ที่กำลังได้กลิ่น   ชิวหาปสาท ๑   เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง  ที่กำลังลิ้มรส   กายปสาท ๑   เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง  ที่กำลังรู้กระทบสัมผัส   เวลาที่เห็นหรือได้ยิน  แล้วเกิดชอบพอใจ  โลภมูลจิตนั้นเกิดที่รูปไหน  ต้องมี

    ถาม   หมายความว่าเกิดที่อายตนรูปไหนใช่ไหมครับ   หมายความว่าขณะที่เป็น   ตาเห็นก็เกิดในจักษุ

    สุ   แต่โลภมูลจิต   เฉพาะขณะเดียวที่เกิดขึ้น   มีรูปใดเป็นนิสสยปัจจัยเป็นที่อาศัยเกิด   รูปเดียว   คือรูปใดคะ

    หทยวัตถุ

    นี่เป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ   ที่จะเห็นได้ว่า   การที่สภาพธรรมแต่ละอย่าง  แต่ละประเภทจะเกิดขึ้น   ถ้าสามารถจะรู้ ถึงที่เกิดด้วย  ก็จะเห็นความต่างกันว่า  จริง  เห็นทางตา   แล้วก็เกิดความพอใจขึ้น   แต่ว่าโลภมูลจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท   แต่เกิดที่หทยวัตถุ   

    เพราะฉะนั้นหทยวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยของโลภมูลจิต   แล้วโลภมูลจิตเป็นนิสสยปัจจัยของหทยวัตถุหรือเปล่า ?   

    ชีวิตประจำวันจริง ๆ   ถ้าจะศึกษาเรื่องของปัจจัย  ก็มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาศึกษาได้มากทีเดียวว่า   เมื่อหทยวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิต   แล้วโลภมูลจิตเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดหทยวัตถุหรือเปล่า ?  ไม่เป็น  เพราะเหตุว่าหทยวัตถุเป็นที่เกิดเท่านั้นเอง   ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตจะต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด

    เวลาเห็น   ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา  ถ้าไม่มีจักขุปสาท  ไม่พบเห็นสิ่งนั้น  ย่อมไม่ชอบในสิ่งนั้นจริง  แต่เวลาที่โลภมูลจิตเกิด  ไม่ใช่จิตเห็นซึ่งเกิดที่จักขุปสาท  เพียงแต่อาศัยจักขุปสาท   เป็นทวารที่จะให้เกิดความพอใจ  เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตเกิดที่หทยวัตถุ  ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท   

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วและความเป็นปัจจัยของจิตที่ต่างขณะกัน  ว่าแม้แต่การที่จะอาศัยรูปเกิดขึ้น   ก็อาศัยรูปที่ต่างกันด้วย 

    อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารหรือเป็นทาง  แต่ว่าโลภมูลจิตเกิดที่หทยวัตถุ   แต่ถ้าเป็นจักขุวิญญาณต้องมีจักขุปสาทเป็นนิสสยปัจจัย  คือ เป็นที่อาศัย

    เพราะฉะนั้นถ้าจะทราบความหมายในภาษาบาลีเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ   เช่นคำว่า  “นิสสย”   หมายความถึงที่อาศัย  เพราะเหตุว่าภาษาไทยเราอาจจะใช้คำว่านิสัย  สำหรับ  นิสสย   แต่ในทางธรรมแล้ว  “นิสสย”  หมายความถึงที่อาศัย  แม้แต่ทางพระวินัยนี้  พระภิกษุที่บวชก็จะต้องถือนิสสัยกับพระอุปัชฌาอาจารย์   เพราะเหตุว่าจะต้องอาศัยคำสั่งสอนของท่านที่จะอบรม  จนกว่าจะเห็นสภาพของการเป็นภิกษุใหม่  นั่นก็เป็นความหมายในทางธรรม 

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงนิสสยปัจจัย   ก็รู้ได้ว่าจักขุปสาทที่มี เป็นที่อาศัย ที่เกิดของจักขุวิญญาณ  แต่ว่าสำหรับโลภมูลจิตแล้วเป็นนิสสยปัจจัยแก่นามธรรม  คือ เจตสิก  แต่ไม่เป็นนิสสยปัจจัยแก่รูปธรรม  เพราะเหตุว่าจักขุปสาทเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย  โสตปสาท  ฆานปสาท  ชิวหาปสาท  กายปสาท  เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย   แม้หทยวัตถุก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย   ไม่ใช่จิตตชรูป

    มีข้อสงสัยในเรื่องของนิสสยปัจจัยไหม   

    อย่าลืมว่า  การที่จะอาศัยเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม   แต่ว่าถ้ากล่าวถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๑   เป็นนิสสยปัจจัยหรือเปล่า ?  เป็น   เป็นนิสสยปัจจัยของอะไร ?  ของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย  พร้อมกันนั้นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมดับโลภมูลจิต  ก็เป็นนิสสยปัจจัยของเจตสิกด้วย   

    นี่คือปฏิจจสมุปบาท  โดยนัยของปัจจยาการ  ที่แสดงถึงว่า  เมื่ออาศัยเกิดแล้วโดยปัจจัยอะไรด้วย


    หมายเลข 6046
    26 ส.ค. 2558