ทบทวนปัจจัย - สัมปยุตตปัจจัย


    ต่อไป  ปัจจัย ที่ ๒   โดยสัมปยุตปัจจัย  หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม  ซึ่งเป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมด้วยกันในขณะที่เกิดร่วมกันเท่านั้น   เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรที่เข้ากันได้สนิท   จึงเป็นสัมปยุตตปัจจัย   

    ที่เข้ากันได้สนิท   ก็เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน ๑   ดับพร้อมกัน ๑   รู้อารมณ์เดียวกัน ๑   และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕  ต้องเกิดที่รูปเดียวกันด้วย ๑ 

    นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เข้ากันได้สนิทจริง ๆ ซึ่งเป็นนามธรรม

    ถ้าเป็นรูปธรรมกับนามธรรม  ไม่สามารถที่จะเข้ากันได้สนิท   เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์  นอกจากนั้นยังต้องหมายความถึงที่เป็นสัมปยุตตปัจจัยนั้น  ในขณะที่เกิดพร้อมกัน  ไม่ใช่ในขณะเกิดต่างขณะกัน  จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรก็ตาม   ทั้งจิตและเจตสิกนั้นเป็นสัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน   เพราะเหตุว่าเข้ากันได้สนิทในขณะที่เกิดร่วมกัน  รู้อารมณ์เดียวกัน   ดับพร้อมกัน  และเกิดที่รูปเดียวกัน

    ถ้าโลภมูลจิตดวงนี้ดับไปแล้วก็มีจิตอื่นเกิดต่อ  จะชื่อว่าสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม   

    ถ้าจิตขณะนี้เกิด  เป็นโลภมูลจิต   แล้วดับไป  แล้วจิตขณะต่อไปก็เกิดเป็นโลภมูลจิต   โลภมูลจิตขณะที่ ๑  กับโลภมูลจิตขณะที่ ๒  เป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า  เป็นหรือไม่เป็น  โลภมูลจิตขณะที่ ๑ ก็เป็นนามธรรม   โลภมูลจิตขณะที่ ๒ ก็เป็นนามธรรม  แต่โลภมูลจิตขณะที่ ๑ เป็นสัมปยุตตปัจจัยกับโลภมูลจิตขณะที่ ๒ หรือเปล่า   เป็นหรือไม่เป็น ?  ไม่เป็น

    นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า ในขณะจิตเดียวซึ่งเกิดขึ้น   ยังไม่พูดถึงขณะต่อไปเลย   เพียงในขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้น  จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัย   ต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นจริง  แต่ต้องเกิดพร้อมกัน   แต่นอกจากจะเป็นสภาพซึ่งเกิดพร้อมกันแล้ว   ยังเป็นสัมปยุตตปัจจัย   เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกันในขณะนั้น   รู้อารมณ์เดียวกันในขณะนั้น   แล้วก็ถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕   ต้องเกิดที่รูปเดียวกันในขณะนั้น  แล้วก็ต้องดับไปพร้อมกันด้วย  จึงจะเป็นสัมปยุตตปัจจัย   

    เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตดวงที่ ๑  ดับไป   เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๒ เกิด   แต่ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย


    หมายเลข 6044
    26 ส.ค. 2558