การทำสมาธิเป็นความสงบหรือไม่


    ส.   บางท่านยังเข้าใจเรื่องของความสงบของจิตไม่ถูกต้อง จึงพยายามเจริญสมาธิ แล้วเข้าใจว่า ขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนั้นเป็นความสงบ แต่ท่านไม่ได้เปรียบเทียบเลย ลักษณะความสงบของจิต ต้องเป็นขณะที่ปราศจากความยินดียินร้าย และต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะสภาพของความสงบที่กำลังสงบในขณะนั้นว่า ในขณะนั้นไม่ใช่ความติด ไม่ใช่ความพอใจในสมาธิที่กำลังจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด บางท่านก็เข้าใจว่า ขอไปสู่สถานที่สงบเงียบ แล้วความสงบก็จะได้มั่นคงขึ้น มีแต่ความหวังว่า เมื่อไปแล้วจะสงบมั่นคงขึ้น แต่ลืมคิดว่า ความสงบจะมั่นคงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของความสงบเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่มีในชีวิตประจำวันเสียก่อน เพื่อที่เปรียบเทียบลักษณะของอกุศลธรรมกับกุศลธรรมว่าต่างกัน ถ้าขณะนี้อกุศลจิตเกิด จะทำอย่างไร จะให้สงบ หรือจะปล่อยไป หรือว่าจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน

    ในชีวิตประจำวันที่ยุงกัด เคยคิดอยากจะฆ่าไหมคะ ถ้าคิด ขณะนั้นสงบไหม ท่านที่ต้องการความสงบ อย่ารีบร้อนที่จะไปสู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็จดจ้องทำสมาธิ แล้วเข้าใจว่าเป็นความสงบ แต่ในชีวิตประจำวันขณะที่นึกอยากจะฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย บางท่านไม่ฆ่ายุงก็อาจจะฆ่ามด ขณะที่กำลังจะฆ่า ขณะนั้นสงบไหมคะ นี่คือตามความเป็นจริง ถ้าท่านต้องการเจริญความสงบแล้วขอให้ระลึกถึงความสงบตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีได้ ก่อนจะไปถึงความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิถึงขั้นฌานจิต ซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคงเหลือเกิน จนกระทั่งสภาพของจิตในขณะนั้นประกอบด้วยความสงบและสมาธิที่มั่นคงจริงๆ หยั่งจริงๆ ลงสู่ความสงบพร้อมด้วยสมาธิที่มั่นคง แต่ชั่วขณะเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน จะได้รู้ลักษณะของความสงบ

    เวลาที่ท่านได้ยินเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามในชีวิตประจำวันที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แล้วเล่าสู่มิตรสหายฟัง ขณะนั้นสงบไหม ขอให้คิดถึงสภาพของจิต ถ้าจะเล่าเรื่องร้าย ขณะนั้นจิตสงบไหมขณะที่กำลังเล่า ถ้าจะเล่าเรื่องที่สนุกสนานร่าเริงใจในทางอกุศลธรรม ขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะ ความยินดีเพลิดเพลิน ในขณะนั้นสงบไหม ท่านที่ต้องการเจริญกุศลไม่เพียงขั้นทาน และขั้นศีล แต่ต้องการเจริญความสงบของจิตด้วย ก็ควรรู้ลักษณะที่แท้จริงของความสงบว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบ ในชีวิตประจำวัน ถ้าในชีวิตประจำวันท่านไม่เพิ่มความสงบขึ้น จะมีหวังที่ว่า เมื่อท่านระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบและอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบบ่อยๆ สมาธิจะประกอบกับความสงบมั่นคง หยั่งลงลึกและดื่มด่ำกับความสงบถึงขั้นอุปาจารสมาธิและอัปปนาสมาธิได้ แต่ลักษณะของสมาธิขั้นอุปจาระและขั้นอัปปนา ต้องต่างกับขณะที่เป็นขณิกะที่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสามารถจะรู้ได้ แม้ความสงบที่เพิ่มกำลังขึ้นและประกอบด้วยสมาธิขั้นใด ท่านก็สามารถรู้ชัดในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ หรือเป็นความสงบที่เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นแล้วตามความเป็นจริง


    หมายเลข 4701
    29 ส.ค. 2558