พิจารณาสังขารหมายความว่าอย่างไร


    ส.   อย่างคำว่า “สังขาร” เคยเข้าใจว่า หมายความถึงรูปร่างกาย พิจารณาสังขาร เพราะฉะนั้น เวลานี้สังขารหมายถึงร่างกายกับวิญญาณ อันนี้ก็ไม่ตรง เพราะขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์  ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ สังขารกับวิญญาณแยกกัน

    เพราะฉะนั้น สังขารไม่ใช่วิญญาณ และสังขารก็ไม่ใช่รูปด้วย เพราะว่าขันธ์มี ๕ รูปขันธ์  ทุกอย่างที่ไม่ใช่สภาพรู้ทั้งหมด เสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป ทุกอย่างที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม ซึ่งสมัยนี้ยุคนี้จะใช้คำนี้กันมาก แต่ไม่ตรงตามพระพุทธศาสนาเลย ทุกอย่างที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็บอกว่ากำลังจะเป็นรูปธรรม ไม่ทราบความนิยมทำไมไปเอาคำที่ไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องมาใช้ ทางธรรมแล้ว รูปธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง แต่สภาพนั้นไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งใดก็ตามซึ่งมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งนั้นเป็นรูปหรือรูปธรรม เพราะเหตุว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว เป็นรูป

    เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ รูปธรรม ได้แก่สภาพธรรมทุกอย่างที่ไม่ใช่สภาพรู้ ขันธ์หนึ่งแล้ว เวทนาขันธ์เป็นความรู้สึก คนไทยใช้บ่อย คือ เวทนา ออกเสียงว่า เวด ทะ นา แล้วเราก็แปลว่า สงสารเหลือเกิน เรายึดถือรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา เรายึดถือความรู้สึก ไม่ว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็พลอยวุ่นวายเดือดร้อนกังวลว่าเป็นเราทั้งหมด ก็เป็นขันธ์ที่ ๒ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์  

    สัญญาขันธ์ สัญญาที่นี่ก็เป็นภาษาบาลีอีก ถ้าเราเริ่ม้ข้าใจภาษาบาลีให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย เราจะฟังพระธรรมเข้าใจขึ้นอีก สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำ แต่ในภาษาไทยเราต้องมีการร่าง มีการเซ็นต์ให้จำกันแม่นๆ แต่ว่าจริงๆแล้ว ขณะใดก็ตามที่เห็นสิ่งใด จำสิ่งนั้นทันที เพราะฉะนั้น พอเห็นอีกทีก็จำได้ นี่เป็นขันธ์หนึ่งคือ สัญญาขันธ์

    สำหรับสังขารขันธ์ ไม่ใช่รูป ได้แก่ โลภะบ้าง โทสะบ้าง สติบ้าง วิริยะบ้าง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เป็นสังขารขันธ์ ซึ่งไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา และสภาพธรรมอื่นที่เกิดกับจิตเป็นสังขารขันธ์

    ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น ที่จะบอกว่า พิจารณาสังขาร ความเข้าใจของเราถูกต้องหรือยัง มิฉะนั้นเราก็จะใช้คำผิดอีก และจะผิดตั้งแต่ต้น ถ้าเข้าใจถูก ก็เข้าใจถูกตั้งแต่ต้น จิตก็คือจิต ความรู้สึกก็คือความรู้สึก แยกออกจากกันได้ เป็นแต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้น แม้แต่จะพิจารณาสังขาร ก็ต้องพิจารณาว่า เข้าใจคำนั้นถูกต้องหรือยัง


    หมายเลข 4698
    29 ส.ค. 2558