มนสิการเป็นอย่างไร


    ส.   พอได้ยินคำว่า “มนสิการ” อยากเข้าใจใช่ไหมว่า ทำไม คืออะไร ถ้าแปลก็แปลได้ และเดี๋ยวนี้เป็นมนสิการ ซึ่งมนสิการมี ๒ อย่าง คือ พิจารณาด้วยความแยบคาย ภาษาบาลีจะใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ ถ้าพิจารณาโดยไม่แยบคายก็อโยนิโสมนสิการ  ภาษาเริ่มเป็นเครื่องกั้นว่า เรารู้ เราเข้าใจคำนี้หรือเปล่า หรือเพียงแต่เข้าใจคำแปลหรือความหมายของภาษาเท่านั้น แต่ขณะนี้จะรู้ได้ว่า ทุกคนฟัง ไม่มีแต่ได้ยิน แต่คิดด้วย และถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า มนสิการเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิตทุกประเภท

    เพราะฉะนั้น มนสิการจึงมี แล้วแต่จิตนั้นเป็นจิตประเภทไหน ถ้าเป็นจิตที่ดี ก็เป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เราไปนั่งทำความดีอะไรเลย แต่ขณะนั้นที่กำลังเข้าใจธรรม เพราะมนสิการพิจารณาโดยแยบคาย โดยถูกต้องตามความเป็นจริง พออกุศลจิตเกิด ไม่ต้องไปติดหรือเอาภาษามาปิดกั้น ขณะที่กำลังเป็นอกุศล เพราะขณะนั้นมีสภาพธรรม คือ มนสิการเกิดขึ้นพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังโดยความไม่แยบคาย แต่พอใช้คำว่า “พิจารณา” ทุกคนเคยชินกับภาษาไทย ก็คิดว่า ต้องพิจารณายาว แต่มนสิการเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมจิตทุกประเภท ดับพร้อมจิตรวดเร็วมาก ใน ๑ ขณะมีจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งก็รวมมนสิการเจตสิกด้วย

    เพราะฉะนั้น เราไม่รู้เลยว่า ระหว่างที่เห็นจนกระทั่งคิดและพิจารณาสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นเจตสิกต่างๆซึ่งเกิดกับจิตแต่ละประเภท ขณะนี้ถ้าเราเข้าใจ เป็นเราหรือเปล่าที่ฟังและพิจารณาอย่างแยบคาย หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่มีหน้าที่พิจารณาอย่างเร็วมาก คือเกิดกับจิตทุกประเภทแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่า แม้ภาษาบาลีจะใช้คำว่า มนสิการ แต่ถ้าเราจะรู้คร่าวๆ ก็คือรู้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด มนสิการขณะนั้นใส่ใจ ถูกต้อง มีความเข้าใจในขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล เพราะโยนิโสมนสิการ แปลเป็นไทยก็คือ เพราะขณะนั้นพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังโดยความแยบคาย เหมือนกับว่าเราต้องพิจารณาเดี๋ยวนี้ ขณะที่ฟัง ไม่ใช่เลย ทุกขณะจิตและเจตสิกทำกิจของจิตและเจตสิกประเภทนั้นๆ โดยไม่มีใครอีกต่างหากที่ต้องไปทำ

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เพราะเหตุว่าแม้นามธรรมก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะจิต ยังมีเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นแล้วทำหน้าที่นั้น แต่ด้วยความไม่รู้ เราก็บอกว่า เราจะพิจารณา หรือเราจะพากเพียร แต่ความจริงให้ทราบว่า ส่วนใหญ่ของจิตจะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่ใช่เป็นอเหตุกะ คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ประเภท จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยไม่ต้องมีเราต่างหากที่ไปทำวิริยะ นี่คือความไม่เข้าใจ คิดว่า เราจะทำวิริยะ เราจะทำมนสิการ แต่ความจริงสภาพธรรมเหล่านี้ทำกิจการงาน โดยที่ไม่มีใครไปบังคับ แต่ตามการสะสม แล้วก็ทำแล้วทุกขณะ มนสิการก็ทำกิจใส่ใจ ถ้าเป็นทางตาก็ใส่ใจสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นทางหู ก็ใส่ใจในเสียง ในเรื่องราว ในความหมายของเสียง แล้วถ้าเข้าใจขณะใด เราก็ใช้ภาษาไทยว่า พิจารณาถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ

    เพราะฉะนั้น ภาษาไม่ควรเป็นเครื่องกั้น แต่ควรจะรู้ว่า ภาษาหนึ่งใช้คำหนึ่ง อีกภาษาหนึ่งก็ใช้อีกคำหนึ่ง ภาษาบาลีจะไม่มีคำว่า พิจารณาโดยแยบคาย แต่ภาษาไทยก็ไม่ใช้คำว่า โยนิโสมนสิการเลย แต่ทั้ง ๒ คำนี้หมายความถึงสภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์ และขณะใดที่เป็นอกุศล ก็รู้ว่า เพราะขณะนั้นมนสิการเป็นอกุศล ถ้าขณะใดเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ขณะนั้นมนสิการก็พิจารณาโดยแยบคาย จิตขณะนั้นจึงเป็นจิตที่ดีงาม ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา  อย่าให้ภาษาเป็นเครื่องกั้น

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็ฟังออก คำไหนเป็นภาษาบาลี คำไหนเป็นภาษาไทย และไม่ควรพอใจเพียงคำแปล แต่ต้องรู้ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีจริงๆ


    หมายเลข 4691
    29 ส.ค. 2558