การอบรมเจริญพรหมวิหาร ๔


    เป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็มีความรู้ว่าทั้ง ๔ อย่างต่างกัน คือ เมตตา มีความปรารถนาดี มีความเป็นมิตร ต้องการให้คนอื่นมีความสุข กรุณาก็เวลาที่คนอื่นมีความทุกข์  ก็เห็นใจ เข้าใจ แล้วก็ช่วยเหลือให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์  แต่เวลาที่มีกรุณา หมายความว่า ขณะนั้นต้องเป็นกุศล ซึ่งคนที่ยังมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็จะมีอกุศลเกิดสลับได้ เพราะว่าบางคนกรุณาคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่ว่ามีความสำคัญตน ได้ใช่ไหมคะ หรือว่ามีความถือตัวก็ได้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความละเอียดขึ้น เป็นกุศลอย่างหนึ่ง แล้วกุศลอย่างอื่นก็ควรเจริญด้วย ไม่ใช่ว่าในขณะนั้นก็คิดถึง อย่างคนขอทานแล้วก็มีคนบอกว่าเขาก็ให้เงินขอทาน แต่ด้วยความคิดว่าเขามีเงินมีทองมีทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็อยากช่วยคนที่ด้อยกว่า แต่จริงๆแล้วขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตอย่างละเอียดที่ว่า แม้ให้ก็จริง แต่มีการสำคัญตนในขณะที่ให้หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ก็คือขณะนั้นไม่มีอกุศลด้วย ไม่มีอกุศลเกิดสลับ แต่ก็เป็นเรื่องที่ถึงมี ก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง ทุกอย่างที่เป็นจริงต้องยอมรับตามความเป็นจริง คือ เปลี่ยนไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งยังไม่ได้ดับสนิท ไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมนั้นจะเกิดในระดับใด ก็เกิดขึ้นเป็นไปในระดับนั้น

    มุทิตาก็เวลาที่มีผู้ที่ได้ดีมีสุข เราก็พลอยยินดีด้วย แต่ไม่ใช่โลภะ เพราะว่าถ้ายินดีเกินไป ขณะนั้นก็เป็นโลภะแล้ว พ้นขีดของความอนุโมทนาในผลของกุศลที่เขาได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าได้ดี มีสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ ทุกอย่างต้องมาจากกุศลกรรม ต้องเป็นผลของกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าใครได้ขณะนั้นเราก็รู้ว่ามาจากเหตุ คือกุศลกรรม ก็ยินดีด้วยในผลที่เขาได้รับแม้แต่ว่าจะเพียงชั่วคราว เพราะทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไป สามารถที่จะรู้ถึงเหตุในอดีตได้ ว่าทำให้เกิดสิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกุศลก็ยินดีด้วยคือ ไม่ริษยา

    อุเบกขาก็คือว่าไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งที่น่ายินดียินร้าย ถ้าเราไม่สามารถที่จะช่วยได้ ก็ไม่เดือดร้อน

     


    หมายเลข 4632
    26 ส.ค. 2558