ปัตตกัมมสูตร ๓


    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แลย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

    อริยสาวกทำงานได้ไหม หรือคนที่จะเป็นพระอริยสาวกต้องอยู่ในป่า แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แล ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ท่านผู้ฟังที่มีโภคทรัพย์แต่ไม่ใช้ ไม่บริโภคให้เป็นประโยชน์แก่ตน การที่ท่านบำเพ็ญบุญกุศลมาแล้ว ก็ได้รับผลของบุญกุศลด้วยการที่ได้โภคสมบัติต่างๆ แต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ บุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาแล้วก็เป็นหมัน ไม่ได้อำนวยประโยชน์สุขอะไรให้เลย มีเงินทองมากมายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นผลของบุญกุศลที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่บริโภค ไม่ใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ เงินทองนั้นจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่ใช้ แต่ว่าผู้ที่เป็น พระอริยสาวก ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยด้วยความขยันหมั่นเพียร นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    คนอื่นติเตียนท่านได้ไหม ในเมื่อเป็นโภคทรัพย์ที่ท่านหามาได้โดยธรรม ท่านย่อมจะเลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน บริวารให้เป็นสุข เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข ถ้าไม่ใช้อย่างนี้ น่าติเตียนไหม ท่านที่มีทรัพย์ก็จะได้รู้ว่า ควรใช้ทรัพย์อย่างไรจึงจะถูกต้องและเป็นประโยชน์

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กระทำตนให้สวัสดี นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    นอกจากจะบริโภคแล้ว ยังต้องเตรียมคิดป้องกันอันตรายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากไฟ จากน้ำ จากโจร จากพระราชา หรือว่าจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ซึ่งต้องเป็นการใช้โภคทรัพย์ในการป้องกันอันตรายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตน นี่ก็เป็นการใช้ทรัพย์ในทางที่ควรแก่เหตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ญาติพลี สละเพื่อสงเคราะห์ญาติ อติถิพลี เป็นการต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี อุทิศแก่ผู้ตายไปแล้ว ราชพลี แก่ประเทศ (คือ เสียภาษี) เทวตาพลี อุทิศแก่เทวดา

    เป็นชีวิตปกติธรรมดา มีญาติ มีแขก มีเรื่องที่จะต้องกระทำบุญอุทิศแก่บุคคลที่ตายไปแล้ว เป็นชีวิตตามปกติที่ท่านดำเนินไปโดยควรแก่เหตุ และเป็นผู้ที่ได้บริโภคทรัพย์แล้วโดยควร

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลสเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม

    ดูกร คฤหบดี โภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ ส่วนโภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ

    เป็นชีวิตประจำวันที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณา และจะได้ใช้โภคทรัพย์ของท่านให้เป็นประโยชน์

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    โภคทรัพย์ทั้งหลาย เราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยง เราได้เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามีผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว

    อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เราได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว โดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ ฯ

    พระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงพระสูตรนี้ เพื่อให้เห็นสภาพธรรมของจิตใจตามความเป็นจริงว่า ทุกท่านที่เป็นสัตว์โลกนั้นปรารถนาอะไร เหตุที่ให้ได้สมความปรารถนานั้นคืออะไร และเมื่อได้สมความปรารถนาแล้ว ควรใช้โภคทรัพย์นั้นอย่างไร จึงจะเป็นทางที่สมควร

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญเหตุมาแล้ว เป็นผู้ที่ได้รับผลของกุศลกรรมในอดีตสมความปรารถนาในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ท่านก็ควรที่จะได้ใช้โภคทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ที่สมควรตามที่ได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วย

    ขณะที่ใช้ทรัพย์ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้ทุกประการ


    หมายเลข 4029
    14 ต.ค. 2566