อรกานุสาสนีสูตร (ชีวิตที่เล็กน้อยและสั้นมาก)


    สำหรับเรื่องของชีวิตของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์ เป็นชีวิตที่เล็กน้อยและสั้นมาก เมื่อเป็นชีวิตที่สั้น เล็กน้อย ก็ควรจะหาประโยชน์จากชีวิตนี้ให้มากที่สุดที่จะมากได้ และที่จะเป็นชีวิตที่มีค่าได้ ก็ด้วยการเจริญกุศล ขัดเกลาเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าจะมีชีวิตอยู่ด้วยการประกอบอกุศลกรรม เป็นต้นว่า การฆ่า ก็ไม่ใช่ชีวิตที่มีค่าเลย

    ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรที่คำนวณอายุของชีวิตไว้ว่าไม่มากเลย

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อรกานุสาสนีสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่ออรกะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็อารกะศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคน เธอแสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า ดูกร พราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อยรวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

    ดูกร พราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมาย่อมแห้งหายไปได้เร็วไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

    ดูกร พราหมณ์ เมื่อฝนตกหนักหนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็วตั้งอยู่ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อยรวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

    ดูกร พราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็วไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน … ฯ

    ดูกร พราหมณ์ แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยวพัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน… ฯ

    ดูกร พราหมณ์ บุรุษมีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปโดยง่ายดาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนก้อนเขฬะ ฉันนั้นเหมือนกัน … ฯ

    ดูกร พราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกระทะเหล็ก ไฟเผาตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับไปรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ

    ดูกร พราหมณ์ แม่โคที่จะถูกเชือด ที่เขานำไปสู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้

    ที่ฆ่า ใกล้ความตาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือด ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๖ หมื่นปีเด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงควรแก่การมีสามี ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลาย มีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ เย็น ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อรกศาสดานั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน ตั้งอยู่นาน มีอาพาธน้อยอย่างนี้ จักแสดงธรรมให้สาวกฟังอย่างนี้ว่า ดูกร พราหมณ์ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก พึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบ ก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว จะไม่ตายไม่มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นานก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ย่อมอยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาวร้อยหนึ่ง ฤดูร้อนร้อยหนึ่ง ฤดูฝนร้อยหนึ่ง

    คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๐๐ ฤดู ย่อมอยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน

    คนที่มีอายุถึง ๑,๒๐๐ เดือน ย่อมอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน

    คนที่มีอายุครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน ย่อมอยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี

    คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร ๗๒,๐๐๐ เวลา คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ เวลา

    พร้อมๆ กับดื่มนมมารดาและอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ใน ๒ ประการนั้น อันตรายแห่งการบริโภคอาหาร มีดังนี้ คือ คนโกรธย่อมไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนป่วยไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร เพราะไม่ได้อาหารจึงไม่บริโภคอาหาร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดอายุประมาณแห่งอายุฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี วัน การบริโภคอาหาร และอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ของมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ด้วยประการดังนี้แล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้วแด่เธอทั้งหลาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือนร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

    ท่านผู้ฟังบริโภคอาหารเท่าไร เป็นระยะเวลาที่สั้น ที่ท่านควรระลึกว่า มีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ นับได้หลายนัย หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่ทรงแสดงไว้ คือ การบริโภคอาหารแต่ละครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เมื่อเป็นอกุศล ก็ทรงแสดงว่าเป็นอกุศล สภาพธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ทรงแสดงว่าเป็นธรรมที่เป็นกุศล แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ที่ได้รู้ ได้เข้าใจแล้ว ก็ยังคงมีอกุศลธรรมและอกุศลกรรม ตามกำลังการสะสมของกิเลสที่เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงว่า ควรละเว้นอกุศลกรรม ก็แล้วแต่การสะสมกุศล อกุศล และความเข้าใจในเหตุในผลของธรรม ที่จะเป็นปัจจัยทำให้ท่านละเว้นอกุศลกรรมได้หรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล


    หมายเลข 4017
    9 ต.ค. 2566