พุทธประวัติ ๕ คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค


    ท่านพระอุตตระก็กล่าวว่า "คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ท้าวสักกะก็อนุโมทนาแล้วกล่าวว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ เมื่อ พระเทวทัตหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสกับ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตน โดยกาลอันควรฯ ลฯ (ข้อความต่อไปเหมือนที่ท่านพระอุตตระ แสดงแล้ว) เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกชั่วกัปป์ แก้ไขไม่ได้

    อสัทธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภและความเสื่อมลาภ ยศและความเสื่อมยศ สักการะและความเสื่อมสักการะ ความเป็นผู้ปรารถนาลามกและความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

    เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้นแล้ว (ครอบงำย่ำยี คือ ไม่หวั่นไหว)

    เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยี ความเสื่อมลาภ (แม้ความเสื่อมลาภมีก็ไม่หวั่นไหว)

    เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยียศ (ถึงมียศก็ไม่หวั่นไหว)

    เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยี ความเสื่อมยศ (เมื่อมียศแล้วเสื่อมยศก็ไม่หวั่นไหว)

    เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยีสักการะ (ถึงมีสักการะ ก็ไม่หวั่นไหว)

    เป็นการดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยีความเสื่อมสักการะ (ขณะใดที่เสื่อมสักการะ ก็รู้ว่าเป็นโลกธรรม เป็นอนิจจัง แม้ในขณะนั้นก็ไม่หวั่นไหว)

    เป็นการดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้ปรารถนาลามก (ความเป็นผู้ปรารถนาลามก มีคำอธิบายว่า เป็นผู้มีความประพฤติชั่ว แต่ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้ จึงเป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก ที่จะปกปิดความประพฤติชั่วนั้น ต้องการให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นผู้ประพฤติดี)

    เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว (ถ้าเป็นมิตรก็ยากที่จะเลิกคบกันได้ และถ้ามิตรนั้นเป็นมิตร ชั่ว จะเลิกง่ายหรือ เลิกยากก็อยู่ที่แต่ละท่าน)

    ข้อความในพระสูตรนี้ ไม่ใช่สำหรับภิกษุเท่านั้น อุบาสก อุบาสิกา ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีความคุ้นเคยสนิทสนมกับมิตรชั่วแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ายากหรือง่ายที่จะครอบงำความเป็นผู้มีมิตรชั่ว คือไม่เป็นไปกับผู้ที่เป็นมิตรชั่วนั้น การคบมิตรชั่วนั้น มีแต่จะนำทุกข์โทษมาให้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงประโยชน์ว่า เมื่อครอบงำธรรม ๘ ประการนั้นได้แล้ว อาสวะก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาว่าจะครอบงำ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ สักการะ ความเสื่อมสักการะ ความเป็นผู้ปรารถนาลามก และ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

    ท้าวสักกะก็ได้กล่าวต่อไปว่า ข้าแต่ท่านพระอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่ ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอุตตระจงเล่าเรียนธรรมบรรยายนี้ จงทรงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ ด้วยว่าธรรมบรรยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์

    แม้ท้าวสักกะก็ได้กล่าวว่า ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทไหนไม่ ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะกล่าวธรรม ก็ล้วนเอามาจากข้าวเปลือกกองใหญ่นั้นทั้งนั้น แล้วแต่จะเอามาด้วยตระกร้า ด้วยกอบมือ หรือว่าด้วยภาชนะใด


    หมายเลข 358
    19 ก.ย. 2566