เจตนา ๒ ประเภท กับ กัมมปัจจัย


    ผู้ฟัง ที่สงสัยว่ามีเศษของกรรม ทำไมไม่มีเศษของวิบาก เพราะว่าถ้าเจตนาคือกรรม ถ้ามีเศษของกรรม ก็น่าจะมีเศษของเจตนา ในทำนองนั้น

    ท่านอาจารย์ เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ สหชาตกัมมปัจจัย หมายความถึงเจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

    เพราะฉะนั้นเจตนาซึ่งเกิดกับวิบากจิต ก็เป็นวิบากเจตสิก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนาเพราะเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลเจตนา เกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะเหตุว่าเกิดกับกิริยาจิต

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องจำแนกแม้เจตนาว่า เจตนาที่เป็นกรรม เป็นนานักขณิกกัมม ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่า “นานักขณิกกัมม” หมายความถึงกรรมที่ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสหชาตกัมม เจตนานั้นให้ผล คือ ทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกัมม แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกัมม ก็หมายความถึงกรรมที่เราเข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือ ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น


    หมายเลข 2516
    23 ธ.ค. 2566