ที่กล่าวว่าน้อมไป ไม่ใช่เราน้อม


        ผู้ถาม อย่างรูปารมณ์ ตามความคิดเห็นก็คือน้อมไป ถ้าเราไปคำนึงถึงมีการเกิดดับสืบต่อ เราจะเข้าใจไม่ตรงว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัจจุบันขณะ แต่ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นสี ไม่ว่าจะเป็นวิถีไหนก็เป็นสี สมมุติที่ทางตา เข้าใจถูก

        สุ. การเกิดดับทำกิจการงานของสภาพธรรมคือจิต และเจตสิก ไม่มีตัวตนที่จะไปรู้ ขณะนี้สภาพธรรมทั้งจิต และเจตสิกกำลังเกิดทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นไม่มีตัวตนที่จะไปรู้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กล่าวว่าน้อมไป ไม่ใช่เราน้อม แต่หมายความว่าจากการฟังที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จิต และเจตสิกที่เข้าใจกำลังน้อมไปสู่ทำกิจจากการเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือการน้อมไปสู่การที่สติสัมปชัญญะจะเกิดเองตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่มีเรากำลังน้อมหรือว่าทำให้สติเกิดที่จะน้อม เพราะเหตุว่าการเกิดทำหน้าที่ของสภาพธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ได้ เช่นขณะนี้ผัสสเจตสิกทำกิจ สัญญาเจตสิกทำกิจ เวทนาเจตสิกทำกิจเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ไม่มีใครไปรู้ ไม่มีตัวตนอีกต่างหาก แต่ว่าสภาพความเข้าใจถูก เห็นถูกมีจริงจากการที่ฟังแล้วก็สะสม เพราะฉะนั้นขณะนั้นคือการน้อมไปของสังขารธรรมที่ใช้คำว่า “การปรุงแต่ง” เพราะเหตุว่าก่อนที่จะได้ฟังธรรม เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราก็คิดเหมือนตัวตนตามเหตุการณ์นั้นๆ ไป ไม่คิดสักนิดเดียวว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆ ที่กำลังกล่าวขวัญถึงกัน เหตุการณ์ของประเทศ หรือของบ้าน หรือของเพื่อนของมิตรสหาย ขณะนั้นทั้งหมดก็คือสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่หมายความว่ามีตัวตนหรือมีเราที่จะไปทำให้เกิดคิดอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น เวลาที่กำลังพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด คนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง พูดออกมาเป็นอกุศล อีกคนหนึ่งเรื่องเดียวกันคิด พูดออกมาเป็นกุศล ทั้งสองคนใครไปบังคับบัญชาได้ไหม ไม่ได้เลย แต่ว่าขณะนั้นเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจากการฟังทีละเล็กทีละน้อยแล้วเข้าใจขึ้น เวลากุศลจิตเกิด รู้ได้เลยว่าแต่ก่อนกุศลจิตอย่างนี้ไม่เกิดแม้เพียงคิดหรือพูด แม้แต่นึกหรือที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230


    หมายเลข 11393
    23 ม.ค. 2567