ไม่พอเพื่อจะละ


    อ.อรรณพ การฟังธรรมไม่ใช่เพราะอยากรู้ หรือแค่จำ แต่ฟังเพื่อเข้าใจความจริง ตามพระธรรมคำสอน


    อ.กุลวิไล ทั้งๆ ที่ฟังอย่างนี้ ก็ยังเห็นถึงความที่เป็นผู้ว่ายาก แล้วก็ไม่รู้ในธรรมตามความเป็นจริง ติดข้องในสิ่งที่ว่างเปล่า

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ความไม่รู้ละเอียดมาก ไม่รู้ไปหมดทุกอย่างในแสนโกฎกัปมาแล้ว เพียงฟังก็ยังรู้ได้ว่า ไม่พอที่จะละความเป็นเรา เพราะว่าสะสมความไม่รู้ และยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดเลย ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ผู้ที่จะศึกษาธรรมต้องตรง และจริงใจ บางคนฟังธรรมเพราะอยากรู้ แต่ไม่ใช่เพื่อที่จะเข้าใจว่า ไม่มีเรา

    พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้อยาก จะได้รู้มากๆ เข้าใจมากๆ การฟังธรรมจึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดในการที่จะขัดเกลา คำใดที่ไม่เข้าใจ ศึกษาให้ถ่องแท้ ให้เข้าใจคำนั้น ไม่ใช่ไปอยากรู้คำนั้น อยากรู้คำนี้ทั้งหมด นั่นคือความอยาก แต่เข้าใจแค่ไหน เช่นที่ได้ฟังกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง ๒ อย่าง คือสิ่งหนึ่งมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้แน่นอน จะใช้คำอะไรหรือไม่ใช้ก็ได้ จะอุปมาว่าอะไรก็ได้ ฟังอุปมาแล้วจะจำหรือไม่จำก็ได้ แต่ให้รู้ว่าสิ่งนั้นกำลังมี ได้แก่อะไรบ้าง ซึ่งมีแต่ไม่ใช่สภาพรู้

    สาระทั้งหมดทรงอุปมาเพราะเหตุว่า ผู้ฟังมีหลายอัธยาศัย ฟังอย่างนี้ยังไม่เข้าใจ จึงต้องฟังอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง แต่ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อจำ แล้วไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจ เพียงแต่เปิดตำรา ลืมไปแล้วว่าอุปมาว่าอย่างไร ดูสิอุปมาว่าอย่างไร ก็ไปหาคำตอบ แต่นั่นไม่ใช่การที่จะเข้าใจธรรม การที่จะเข้าใจธรรม ฟังธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพื่อประโยชน์คือได้รู้ความจริง ซึ่งมีโอกาสจะรู้ได้ ต่อเมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น คำของคนอื่นไม่ใช่การรู้จริง ที่จะทำให้สามารถเข้าใจจริงๆ แต่เป็นคำที่ชวนให้เข้าใจว่า จะต้องศึกษา จะต้องติดตาม จะต้องรู้จำนวน จะต้องเข้าใจอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ความจริงไม่ใช่ ฟังแล้วเป็นผู้ตรง ธรรมมีแน่นอน แต่ไม่เคยรู้มาเลย ว่าไม่ใช่เรา ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่มีจริง ไม่ใช่เรา ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่เราก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดคือเป็นเรา แม้แต่คำว่าไม่ใช่เรา ก็ต้องรวมถึงไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จะยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่หมายความว่าโต๊ะ เก้าอี้ไม่ใช่ตัวเรา ก็ไม่ใช่เรา แต่หมายความว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ สักอย่างเดียว จะทำๆ ยังไม่ได้ทำเลย เกิดแล้ว ไม่ได้มีใครสามารถจะไปทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะว่าขณะนี้มีธรรม ซึ่งพอคิดว่าจะทำ ก็เลยไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว ไม่ได้ทำก็เกิด ตามเหตุตามปัจจัย

    คำใดที่จะทำให้ละความติดข้อง เพราะไม่รู้ เพราะความที่ค่อยๆ เข้าใจความละเอียดขึ้น ก็ค่อยๆ ไปชำระหรือขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งมีมากมาย ให้ค่อยๆ เป็นความเข้าใจถูกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่หวัง เราฟังเรื่องธรรมมากเลย อาจจะหลาย ๑๐ ปี ตายแล้วไปเป็นงู จำได้ไหม ฟังมาเท่าไร แต่สิ่งที่เข้าใจต่างหากที่สะสม พอได้ยิน ได้ฟังว่า สิ่งที่มีจริงเกิดขึ้น และดับไป สามารถที่จะเข้าใจได้ เป็นความจริงไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น

    การที่ฟังธรรมแล้ว เพิ่มความเป็นตัวตนที่ต้องการรู้ ต้องการอย่างนั้นต้องการอย่างนี้ บางคนฟังธรรม ธรรมจริงๆ แต่เบื่อ พูดยาวไป เข้าใจสิ่งที่เขาพูดหรือเปล่า ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงขณะนั้นเกิดแล้ว เพราะเหตุปัจจัย และความเบื่อก็มีจริงๆ ก็ไม่ใช่เรา คือไม่ว่าอะไรทั้งหมด ก็ต้องมาสู่คำที่ได้ยินเป็นครั้งแรก คือธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหลายทั้งหมดไม่เว้นเลย เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา จะถามว่าจะทำอย่างนี้ หรือจะให้ทำอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ความเข้าใจธรรม ความเข้าใจธรรมต้องรู้ว่า ธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของใคร ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย ฟังอุปมาก็ฟัง ค่อยๆ เข้าใจตามอุปมา จำได้ไหม ๕ ขันธ์แต่ละขันธ์อุปมาว่าอะไรบ้าง จำได้ดีหรือไม่ จำได้ดีไหม กิเลสซ่อนเร้นละเอียดยิบ ปัญญาเท่านั้นสามารถที่จะรู้แล้วละ แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่รู้โลภะ และความไม่รู้ ก็สามารถที่จะพาไป จนกว่าจะดับ รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม วิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาระดับนั้นก็ยังมีโลภะ ซึ่งจะต้องละศีลพรตปรมาส ความผิดแม้นิดเดียว ที่มีเพียงความต้องการหรือจดจ้อง ก็ลืมว่าเป็นอนัตตา เกิดแล้ว แต่ละคำลึกลงไป ที่จะให้มีความเข้าใจที่มั่นคง ไม่ใช่ไปเก็บรวบรวมเอาไว้เยอะๆ เล่มนั้น เล่มนี้จดไว้กี่คำ และเป็นสมุดกิเล่ม ไม่ใช่อย่างนั้น จะกี่เล่ม ก็คือว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม อยู่ในพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ๔๕ พรรษาทั้งหมด แต่ว่าเราจะเข้าใจคำเดียวได้ลึกซึ้งแค่ไหน เพราะถ้าเข้าใจคำเดียว การที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม มีจริง เกิดขึ้น และดับไป สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วดับ ก็เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ที่เกิดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นปัจจุบัน แต่เดี๋ยวนี้ดับแล้ว เป็นอดีตทันที และส่วนที่เป็นอนาคต ซึ่งยังไม่เกิด ก็เกิดเป็นปัจจุบันทันที ใครไปบังคับ ไม่มีเลยสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมด เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

    ความไม่รู้มี แต่ปัญญาความรู้สามารถรู้จักความไม่รู้ ว่าความไม่รู้ที่มีนี้ ไม่ใช่เรา ไม่หลง จะมีตัวตนพยายามที่จะไปให้รู้ขึ้น หรืออะไรอย่างนี้ ไม่รู้ทันโลภะ เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สามารถที่จะเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า ที่กำลังฟัง ด้วยความต้องการหรือเปล่า ด้วยความเป็นตัวตนหรือเปล่า ฟังแล้วไม่พอ ต้องไปทำอย่างโน้น ให้รู้อย่างนี้หรือเปล่า นั่นคือด้วยความต้องการทั้งนั้น แต่ว่าฟังแล้วเข้าใจ ใครเข้าใจ ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาเท่านั้น ที่จะละกิเลส เราไปทำวิธีใดๆ ก็ละกิเลสไม่ได้ทั้งหมด

    อ่านหนังสือทั้งคืน ปรมัตถธรรม พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เข้าใจหรือไม่ แต่อยากอ่าน อยากเข้าใจ แล้วจะเข้าใจได้อย่างไร แต่เพียงคำเดียวที่ได้ฟัง มั่นคงขึ้นแต่ละครั้ง เช่นคำว่าธรรม ฟังแล้วก็มั่นคง ไม่ว่าอะไร โกรธก็เป็นธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม แล้วไม่ใช่เรา เป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง เปลี่ยนได้ไหม แม้ความขุ่นใจนิดนึงก็หยาบกระด้าง ปฏิฆะกระทบกระทั่งจิต ซึ่งปกติธรรมดา ถ้าเป็นความไม่รู้ ไม่รู้ใช่ไหมว่ามีความไม่รู้ เพราะไม่ได้ประทุษร้ายแบบโทสะ โมหะไม่ใช่โทสะเป็นสภาพที่ไม่รู้ ไม่สามารถที่จะรู้ กำลังฟัง โมหะก็ไม่รู้ จะให้ไปนั่งที่ไหน ทำอย่างไร โมหะก็ไม่รู้

    เพราะธาตุนี้มีจริงๆ เกิดเมื่อไรต้องไม่รู้ จะเป็นปัญญาไม่ได้ ตรงข้ามกับปัญญา ธาตุที่เข้าใจถูก พอได้ยิน ได้ฟัง ที่เข้าใจก็มีจริง ความเข้าใจก็คือ เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง เพิ่มขึ้น ยิ่งขึ้นละคลายความไม่รู้ และความต้องการ ที่เป็นอุปสรรคของการที่จะไม่เข้าใจธรรมก็คือ โลภะ มีความอยากมาก ความไม่รู้มีอยู่เป็นประจำ ถ้าเราไม่กล่าวถึงจิตแต่ละหนึ่งขณะโดยละเอียด แต่เป็นประจำก็คือว่า ตราบใดที่ยังไม่เป็นผู้ที่ดับกิเลส ความไม่รู้มีอยู่ในจิตทุกขณะ ก็จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เรา แต่ฟังก็รู้ว่า แม้ขณะที่นอนหลับ ก็ต้องมีอกุศล มีความไม่รู้ และความไม่รู้ก็ต้องเป็นความไม่รู้นั่นแหละ เพราะฉะนั้นลืมตาตื่นขึ้นไม่รู้ ไม่ใช่เรา คือต้องฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น แล้วปัญญาต่างหาก ที่ทำหน้าที่ละความไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้กว่าความไม่รู้ และกิเลสอื่นจะหมด ก็เพราะปัญญารู้เพิ่มขึ้น ทุกคนมีความไม่รู้ แต่ไม่ปรากฎ ปรากฏแต่ความติดข้อง ใช่ไหม เห็น ไม่รู้เลยว่าไม่รู้ ว่าไม่ใช่เรา แต่ติดข้องอยากเห็น หรือว่าพอใจในสิ่งที่เห็น แม้อริยสัจก็กล่าวถึงโลภะ เป็นธรรมที่ต้องละ ถ้ายังไม่ละ ก็คือว่าไม่มีทางที่จะถึงธาตุหรือธรรม ซึ่งไม่มีโลภะ นิพพานก็คือธรรม ซึ่งไม่มีความติดข้อง ไม่มีโลภะ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ฟังเพื่อเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าความไม่เข้าใจมีอีกเยอะ ไม่ใช่มีความเป็นตัวตน พยายามจะไปทำให้เข้าใจ การฟังธรรมจึงแยบคาย ละเอียด ลึกซึ้ง ไตร่ตรองเพื่อละความเป็นเรา เพราะว่ากิเลสมีมาก ละอื่นยังไม่ได้ จะไม่ให้มีเรา จะไม่ให้มีโลภะ จะไม่ให้มีโทสะ จากการฟังไม่ได้ แต่รู้ว่าเริ่มเข้าใจถูกต้อง เริ่มเข้าใจถูกต้อง

    แต่ปัญญาระดับนี้ ยังไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์จริงๆ ว่าเดี๋ยวนี้ใช้คำว่าธรรม เป็นจริงๆ มีจริงๆ เกิดจริงๆ ดับจริงๆ แต่ปัญญายังไม่เข้าใจทีละหนึ่ง รวมกันอย่างนี้ แล้วจะให้เข้าใจอะไร ทั้ง ๕ ขันธ์รวมกันหมดแล้ว จะให้เข้าใจอะไร แต่ถ้าทีละหนึ่ง ค่อยๆ เห็นความเป็นทีละหนึ่ง ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพนั้น ทีละหนึ่ง ถึงจะรู้ว่า เห็นเดี๋ยวนี้มีจริง เกิดแล้วเห็นเท่านั้นเอง เกิดแล้วเห็นเท่านั้นเอง กว่าคำนี้จะเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ คลาย สิ่งที่ถูกปกปิดไว้แน่นหนามาก เหนียวแน่นมาก อาศัยพระธรรมแต่ละคำให้ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่มีการที่ว่าจะศึกษาธรรมด้วยความอยากรู้ เมื่อไรจะเข้าใจอย่างนี้ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ จะถึงธรรมไหม ถ้าไม่ถึงก็พยายามไปขวนขวายหาชื่อ หาคำ แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้น โลภะหรือเปล่า และจะเข้าใจได้หรือไม่ ว่าไม่ใช่เรา


    หมายเลข 11381
    19 มี.ค. 2567