อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


        ผู้ถาม ในเมื่อเราไม่เห็นธรรมที่เป็นรูปธรรม นามธรรมเกิดดับ เราพิจารณานัยอื่นได้ไหม

        สุ. อนุญาตไม่ได้ อนุญาตธรรมใดๆ ไม่ได้เลย ไม่มีตัวตนที่จะไปอนุญาตหรือไม่อนุญาต ไม่ได้อนุญาตให้เห็นก็เห็น ไม่ได้อนุญาตให้คิดก็คิด

        ผู้ถาม อย่างเช่นสามัญลักษณะ ไม่ใช่อนุญาต

        สุ. ขอประทานโทษ ผู้ที่ฟังใหม่จะได้ยินคุณสุกิจใช้คำว่า “สามัญลักษณะ” บ่อยๆ สามัญคือทั่วไป ลักษณะทั่วไป ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดทั่วๆ ไปคือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ยังไงก็ตามนี่เป็นความเข้าใจ ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “สามัญลักษณะ” ด้วยค่ะ

        อ.คำปั่น คำว่า “สามัญลักษณะ” คือลักษณะที่ทั่วไปของสภาพธรรม ซึ่งคำว่า “สามัญ” ก็คือทั่วไป และก็ลักษณะ จะมาใช้แทนกันกับคำว่าไตรลักษณะนั่นเอง ซึ่งก็หมายถึงอนิจจัง (สภาพที่ไม่เที่ยง) ทุกขัง (สภาพที่เป็นทุกข์) แล้วก็อนัตตา (สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน) อันนี้คือความหมายของสามัญลักษณะ

        สุ. โดยศัพท์สามัญ หมายถึงทั่วไป แต่คุณคำปั่นก็ให้ความหมายเพิ่มเติมว่าลักษณะทั่วไปของธรรมที่เกิดทั้งหลายคืออะไร เพราะถ้าเราจะบอกว่าลักษณะทั่วไปของธรรมทั้งหลาย ก็จะไม่ทราบว่าลักษณะทั่วไปคืออย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่าสามัญลักษณะๆ ทั่วไปแก่สภาพธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกิดขึ้นก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณะๆ สามคือไม่เที่ยง และก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงสามัญลักษณะจะหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ เพราะ ฉะนั้นจะมีครบทั้ง ๓ ลักษณะคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สำหรับสภาพธรรมทั้งหมดทุกประเภทที่เกิดๆ แล้วก็ดับ ลักษณะที่เกิดดับอย่างเร็วมาก เป็นสภาพของความเป็นทุกข์ที่แท้จริง เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะมีใครบังคับยับยั้งไม่ให้สภาพธรรมนั้นดับไปได้ เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นเองก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และก็ไม่ใช่ตัวตน

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220


    หมายเลข 11033
    24 ม.ค. 2567