ลักษณะของปัญญา


        ผู้ถาม คนที่มีปัญญาสามารถจะสร้างเครื่องบินให้บินในอากาศได้ ทั้งจรวด เพราะมีปัญญา ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา พอบอกให้ทำก็เลยทำไปเลยเพราะขาดปัญญา

        สุ. คนที่สร้างเครื่องบินได้มีปัญญาหรือเปล่า

        ผู้ถาม มีปัญญาคือเขาเรียนรู้มา ทำมาอันนี้ผิด อันนี้ถูก มีเครื่องอะไรประกอบ ตอบไปอย่างนั้นเองยังไม่ได้เห็นตำรา

        สุ. อันนี้คงจะต้องกล่าวซ้ำเพื่อให้พิจารณาว่าปัญญาในภาษาไทยไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะว่าในภาษาไทยเราๆ ก็คิดว่าคนที่เรียนหนังสือเก่ง สามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ที่คนอื่นคิดว่าน่าอัศจรรย์ แต่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นเพียงแต่จำสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีความคิดนึกที่จะประดิษฐ์จากความจำ แต่ว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัญญา ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และไม่รู้สภาพที่เห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ ไม่ใช่ตัวตนเพราะแม้แต่คำว่า “ธรรม” ตั้งต้นด้วยคำว่า “ธรรม” ก็จะลืมความหมายของคำว่าธรรมไม่ได้ ธรรมเป็นธรรม ไม่ได้กล่าวว่าธรรมเป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมในขณะนี้ ใครทำให้เกิดขึ้นได้มีไหม

        ผู้ถาม ตอบไม่ได้

        สุ. ต้องคิด ขณะนี้เห็นแล้ว มีใครทำเห็นให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีใครทำสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีเสียง มีใครทำเสียงให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีได้ยิน มีใครทำได้ยินให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีคิดนึก มีโลภะ มีโทสะ มีกุศล มีเจตสิกต่างๆ มีใครทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นได้ไหม ต้องไตร่ตรองได้หรือไม่ได้

        ผู้ถาม เกิดขึ้นจากจิต

        สุ. เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัย สภาพธรรมใดๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ไม่ใช่ปัญญา แม้ว่าจะมีความสามารถที่จะไปนอกโลกหรือว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ จากความคิดนึก จากความทรงจำ เป็นวิชาการต่างๆ ก็เป็นแต่ความจำเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะที่แท้จริงคืออะไร

        ผู้ถาม ปัญญาเป็นทางโลกใช่ไหม

        สุ. นี่ปัญญาภาษาไทย ทางโลกหรือทางอะไรก็ให้มีความละเอียดต่อไปอีก ให้ทราบว่าถ้าจะศึกษาธรรมต้องให้เข้าใจคำที่ใช้ในภาษานั้นด้วย อย่างคำว่า “ปัญญา” จริงๆ สภาพของเจตสิกคือความรู้ถูก ความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่ปัญญาในภาษาไทยหรือในภาษาอื่น ต้องมีความเข้าใจถึงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบว่าคนที่มีโลภะ แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่ามีความสามารถที่จะจำ ที่จะสร้าง ที่จะคิด ที่จะมีการทำสิ่งที่วิจิตรต่างๆ ที่ดูเหมือนน่าอัศจรรย์แต่ว่ามีความเป็นเราเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ เพราะฉะนั้นขณะนั้นๆ ไม่ใช่ปัญญา

        ธิ. พูดถึงลักษณะของปัญญา ท่านแสดงไว้ว่ามีการแทงตลอด สภาวะแห่งธรรมเป็นลักษณะ มีการขจัดความมืดหรือว่าโมหะอันปกปิดสภาวธรรมเป็นกิจ ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ไม่ได้รู้อย่างอื่น รู้ทั่วถึงสภาวธรรมหรือธรรมทั้งที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล เป็นธรรมที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ รู้ว่าธรรมนี้เป็นธรรมที่เลวประณีตต่างๆ เข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ นี่ก็คือลักษณะของปัญญา ซึ่งถ้าโดยย่อก็คือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั่นเอง อย่างที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายแล้วว่าเราชอบใช้คำว่า “ปัญญา” แล้วก็ไปใช้ในทางโลกในอีกความหมายหนึ่ง เช่น ปัญญาดี อย่างที่ท่านอาจารย์ได้อธิบาย แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่เขาคิดแล้วก็ทำขึ้นมาก็โดยอาศัยความจำหรือว่าสัญญาเจตสิก ซึ่งถ้าพูดถึงปัญญาในลักษณะของสภาพธรรมก็จะมีการแทงตลอดสภาวธรรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรมที่เกิดดับต่างๆ และโดยอรรถของปัญญา ท่านก็จะแสดงไว้มากมายหลายคำก็คือรู้ทั่วถึงธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ที่ปรากฏ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217


    หมายเลข 11007
    25 ม.ค. 2567