ตรงต่อความจริงของสภาพธรรม


        ผู้ถาม ผมไม่เข้าใจว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่าว่าคนที่สอนธรรมในสมัยนี้คือที่สอนเราผิดๆ หลายๆ แห่ง ทั้งๆ ที่มีเจตนามีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จะเรียกว่ามีเป็นโมหะหรือเปล่า

        สุ. จิตก็เกิดดับสลับกันเร็วมาก ใครก็คาดหวังไม่ได้เลยว่าจิตเกิดดับเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้นการที่จะแสดงลักษณะของจิตแต่ละประเภทให้รู้ตามความเป็นจริงขั้นเข้าใจจนกว่าจะรู้ว่าจิตนั้นไม่ใช่เราจึงจะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นประเภทไหน

        ผู้ถาม ผมก็มาคิดต่อไปอีกคือถ้าเราไม่มีเราแล้ว โลภะ โทสะไม่รู้ว่ามันจะมีไปทำไม เพราะเราไม่มีเรา ไม่มีอัตตา ถ้าไม่มีโมหะ ทุกอย่างก็จบ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

        สุ. แล้วไม่มีได้ไหม

        ผู้ถาม คงยังไม่ได้เพราะยังไม่มีปัญญา

        สุ. เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เรารู้แน่ว่าเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมที่จะไม่มีโลภะ ที่จะไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะเป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถบันดาลให้เกิดได้เลย

        ผู้ถาม พอจะสรุปโมหะได้ไหม

        สุ. โทษมากคลายช้า เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่สามารถที่จะละความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะขณะใดที่สงสัยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยโลภะเพราะกำลังสงสัย และก็ไม่ประกอบด้วยโทสะด้วยๆ เหตุนี้จึงเป็นประเภทของโมหะที่มีวิจิกิจฉาเจตสิกคือความสงสัยเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จะพูดภาษาไทยก็ได้ พูดภาษาบาลีก็ได้ ขณะใดที่สงสัย แล้วขณะที่สงสัยเป็นลักษณะของสภาพอกุศลกรรมประเภทหนึ่งคือมีวิจิกิจฉาเจตสิก ไม่สามารถที่จะตัดสินใจ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย แต่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย ตราบใดที่สงสัยเพราะไม่รู้ ตราบนั้นก็จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้จนกว่าจะค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาคลายความสงสัยซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าเป็นสภาพธรรม แล้วก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ และความสงสัยจนกระทั่งสามารถที่จะดับความสงสัยเป็นสมุจเฉทพร้อมการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นพระโสดาบันก็ดับอกุศลจิต ๕ ประเภทคือโลภะที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ๔ และวิจิกิจฉาที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต ๑ รวมเป็นจิต ๕ ประเภทไม่เกิดอีกเลย

        ผู้ถาม พวกที่ผมกราบเรียนท่านอาจารย์เมื่อกี้นี้ ผมไม่คิดว่าเขาจะมีวิจิกิจฉาคือเขาไม่ความลังเลสงสัย เขาเชื่อว่าสิ่งที่เอามาสอนเรานี่ถูก เขามีศรัทธาอย่างเดียว มั่นใจอย่างเดียว เขาเชื่อว่าเขาถูก

        สุ. เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นโมหะไม่รู้ความจริง และก็มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ความยึดมั่นในความเห็นผิด

        ผู้ถาม และอีกอย่างหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเข้าใจเวลาที่ท่านอาจารย์พูดเสมอก็คือว่าต้องตรงๆ ในกรณีอย่างนี้ที่ผมอภิปรายกับท่านอาจารย์อยู่นี้ คำว่า “ตรง” นี้ควรจะใช้อย่างไร

        สุ. ตรงต่อเหตุผล ตรงต่อความจริงของสภาพธรรม อย่างขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ผู้ตรงต้องยอมรับ ขณะนี้มีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ อย่างอื่นมีไหมในขณะที่กำลังเห็น นี่คือผู้ตรง

        ผู้ถาม ความจริงแล้วเราก็เห็นด้วย ได้ยินด้วย

        สุ. คนละขณะ ต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

        ผู้ถาม คือเราอ่านแล้วเข้าใจว่าเห็นกับได้ยินมันไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่มันก็ยังเชื่อในหนังสือ ในตำรา แต่มันไม่เชื่อ

        สุ. เพราะฉะนั้นแม้จะเข้าใจถูกขั้นฟัง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะดับความสงสัยในความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะอบรมเจริญปัญญา จริงๆ แล้วการฟังธรรม ถ้าเข้าใจแล้ว น่าจะตรงกับลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้ ทุกขณะมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏแน่นอน แต่ไม่เคยเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อธรรมเป็นธรรม แล้วก็ปรากฏแต่ละลักษณะ อย่างเสียงก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ความเป็นผู้ตรงก็คือว่าค่อยๆ เข้าใจถูกคือตรงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม จนกว่าจะเข้าถึงความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นธรรมก็คือผู้ตรงต่อความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง

        ผู้ถาม เข้าใจว่าผมตรงตามที่ท่านอาจารย์อธิบาย

        สุ. ขั้นเข้าใจ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216


    หมายเลข 11004
    25 ม.ค. 2567