ลาภอันประเสริฐ


    ลาภคืออะไร และอะไรเป็นลาภอันประเสริฐสูงสุด


    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่ได้ ที่รู้ ที่เห็น เป็นกุศลวิบาก แต่สิ่งที่ได้ ที่ปรากฏให้รู้ เป็นลาภ เรามีตา ต้องเห็น สิ่งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ จึงสามารถที่จะรู้ว่าโลกธรรม ธรรมประจำโลก เพราะโลกคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตาม ที่เป็นที่พอใจ เรายังไม่พูดถึงตัวจิต แต่พูดถึงสิ่งที่มี แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา และก็มีลักษณะที่ต่างกันเป็นสองอย่าง คืออิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจ และอนิฏฐารมณ์ ที่ไม่น่าพอใจ และจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เป็นอกุศลวิบาก แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นลาภ เพราะว่าจิตรู้สิ่งนั้น ถ้าจิตไม่รู้สิ่งนั้น ก็จะมีการว่าได้อะไร ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ แต่ว่าลาภอันประเสริฐ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เข้าใจว่า เป็นลาภยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นเสื่อมลาภ ได้ลาภอะไรต่างๆ แต่ลาภอันประเสริฐ เพราะเหตุว่าสามารถที่จะละ ความติดข้องในลาภ หรือในสิ่งที่หวั่นไหวไปด้วยความไม่พอใจ ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่หวั่นไหวในทั้งได้ลาภ และเสื่อมลาภ ทั้งยินดี และไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าเป็นลาภอันประเสริฐ คือความเข้าใจธรรม ก็เพราะสามารถที่จะรู้ความจริง และก็สามารถที่จะละความติดข้อง เมื่อได้ลาภหรือว่าหวั่นไหว เมื่อสูญเสียลาภ ก็ต้องแยกกระหว่างจิต ซึ่งเป็นกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก ส่วนตัวลาภเอง ก็แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ แต่ลาภอันประเสริฐ ไม่ใช่สิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ แต่เป็นปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูก อยู่มาทุกวันไม่พ้นลาภหรือเสื่อมลาภเท่านั้นเอง เพราะว่ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แต่แม้จะได้อะไรที่เข้าใจว่า เป็นราชสมบัติ หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่ ที่สูงสุด ที่ประเสริฐ ก็ไม่ใช่ลาภอันประเสริฐ เพราะว่าลาภอันประเสริฐที่ได้ ที่เกิดมีขึ้น ก็คือความเข้าใจถูก ในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่าลาภอันประเสริฐ การเข้าใจธรรมเป็นลาภอันประเสริฐ ฟังแล้วอยากได้ลาภหรือไม่

    อ.อรรณพ ได้ หรือไม่ได้ ก็ตามเหตุตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ฟังแล้วอยากได้หรือไม่ อยากได้ลาภไหม

    อ.อรรณพ โลภะก็อยาก

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากเสื่อมลาภใช่ไหม

    อ.อรรณพ ไม่อยาก

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม เป็นธรรมประจำโลก เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดคือ ลาภอันประเสริฐ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะได้ลาภคือสิ่งที่น่าพอใจ หรือเสื่อมลาภ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ติดข้องในลาภ ติดข้อง อย่าลืม อยากได้ไหม เพราะไม่มีลาภอันประเสริฐ แต่ถ้ามีลาภอันประเสริฐแล้ว ไม่ว่าโลกธรรมนั้นจะเป็นอย่างไร ก็ไม่หวั่นไหว

    อ.คำปั่น ก็มีข้อความ อโรคยา ปรมาลาภา ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ลาภในที่นี้ก็คือการได้นั่นเอง แต่ว่าโดยนัยนี้ ก็แสดงถึงความเป็นผู้ที่มีปัญญา ที่เข้าใจความจริง จนกระทั่งสามารถที่จะดับโรคคือกิเลสได้

    ท่านอาจารย์ แต่ความหมายนี้ ก็ค่อยๆ ลบเลือนจากพระสัมมาสัมพุทธจ้าพระองค์ก่อน คนไม่เข้าใจคำนี้ ก็เข้าใจว่า อโรคยา ปรมาลาภา หมายความถึงขณะที่ไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ แต่การที่จะเข้าใจว่า คำสอน และความเข้าใจที่ถูกต้อง ประเสริฐเหนือลาภใดๆ ทั้งสิ้น หายไป จนกว่าจะมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะเริ่มเข้าใจความหมายอีกความหมายหนึ่ง ว่าหมายความถึงปัญญาที่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    อ.ธีรพันธ์ อนุตริยะ หนึ่งในนั้นก็คือลาภานุตริยะ การได้ศรัทธา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะได้ยินคำว่า ศรัทธาเป็นลาภอันประเสริฐ ก็จะต้องเข้าใจได้ ประเสริฐอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ ประเสริฐ เพราะว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้บรรลุธรรม

    ท่านอาจารย์ ประเสริฐเพราะเหตุว่านำไปสู่การเข้าใจถูก ความเห็นถูก ซึ่งเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นในบรรดาสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด อะไรประเสริฐสุด

    อ.ธิดารัตน์ ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาประเสริฐสุด แต่แม้กระนั้น เพียงการได้ความศรัทธาที่จะฟัง ที่จะเห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม ก็เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะว่านำไปสู่ลาภที่ประเสริฐ คือสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ คือปัญญาประเสริฐสุด เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ บางคนก็แค่มีศรัทธาก็ดีใจแล้ว แต่ศรัทธาอะไร ศรัทธาหรือไม่ และใช่ศรัทธาไหม เหมือนกับบางคนก็มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีชีวิตที่เป็นสุข มีรูป มีเสียง สมบัติต่างๆ แต่ป่วยไข้ ก็มานึกขึ้นได้ว่า ไม่มีก็จะดีกว่า ขอให้ร่างกายแข็งแรงก็พอ เห็นหรือไม่ ก็แสดงให้เห็นว่าเริ่มเข้าใจความจริงเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังไม่ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดจริงๆ คืออะไรเป็นโรคร้ายที่สุด เพราะเหตุว่าโรคกายสามารถที่จะรักษาได้ ไม่รักษาก็ตาย แต่โรคใจ ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก ใช่ไหม แล้วก็เป็นโรคที่ไม่มียาใดๆ อื่นที่จะรักษาได้ นอกจากพระธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ได้ยินคำที่โน่น ที่นี่บ้าง ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด

    อ.ธิดารัตน์ ถ้ากล่าวถึงอนุตริยะ ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน ก็จะต้องเป็นปัจจัยนำมา ซึ่งข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง และนำไปสู่การบรรลุธรรมทั้งหมดเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟัง ธรรมดาๆ กับการฟังที่เป็นอนุตริยะ ดีกว่าการฟังอื่นคืออะไร ก็ต้องกล่าวออกไปให้เข้าใจ การฟังคำที่สามารถทำให้เข้าใจธรรม เหนือคำอื่นที่ได้ฟัง


    หมายเลข 10946
    11 เม.ย. 2567