ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างไร


    การศึกษาพระไตรปิฎกที่ผิด กับการศึกษาพระไตรปิฎกที่ถูกต้องแตกต่าง กันอย่างไร


    พระไตรปิฎกมีไว้สำหรับอ่าน หรือว่าศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่งแต่ละคำ นี่คือการระลึกถึงพระพุทธคุณหรือไม่ เพียงแค่ไม่ประมาท ระลึกถึงพระพุทธคุณหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งท่อง แล้วไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ตรัสรู้อะไร อย่างนั้นจะเป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้จักคุณ ว่าตรัสรู้อะไร สอนอะไร แล้วก็ยังมีข้อความเพื่อเตือนให้ไม่ประมาท ถ้าศึกษาพระไตรปิฏกผิด ถ้าศึกษาพระวินัยผิด จะทำให้ทุศีล ล่วงศีล เพราะไม่รู้ความละเอียดอย่างยิ่งของพระวินัย และการขัดเกลาอย่างยิ่ง จิตขณะนั้นต้องขัดเกลาอย่างไร ไม่ใช่หลีกเลี่ยง ไม่รับเงินทอง แต่รับอย่างอื่น มีค่าเท่ากับเงินทองมากมายมหาศาล อย่างนั้นชื่อว่าหลีกเลี่ยงหรือเปล่า ขัดเกลาหรือเปล่า เป็นภิกษุจริงๆ หรือเปล่า

    ถ้าศึกษาไม่ดีทำให้ทุศีล อย่างบางท่านก็จะบอกว่า ตอนบ่ายรับประทานไอศกรีมได้ เพราะไอศกรีมละลายเป็นน้ำ อย่างนี้ศึกษาพระวินัยถูกต้องหรือเปล่า เป็นเหตุให้ทุศีล ใช่ไหม ถ้าศึกษาพระสูตรไม่ดี มีความเข้าใจผิดคิดว่า พระพุทธเจ้าสั่งหรือบอกให้ทำ ไม่ได้เข้าใจเลยว่า ประกาศ แสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งถูกปกปิดไว้ด้วยความไม่รู้ และคำของคนอื่น

    นี่ต้องละเอียดที่จะรู้ว่า คำไหนเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำของสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดเป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เป็นไปให้ทำ เพราะว่าทรงแสดงไว้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา การศึกษาธรรมแม้เพียงในขั้นต้น แต่ตรงต่อธรรมทุกอย่าง ทุกขั้นตอน นั่นเป็นหนทางที่จะปลอดพ้นจากความเห็นผิด เพราะโลภะมีกำลัง อวิชชามีกำลัง การที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราก็มีกำลัง มากแค่ไหน ก็ทั้งวันตอนเช้า ก็ไม่ได้รู้เลยในธรรมแต่ละหนึ่ง แม้เดี๋ยวนี้เห็นเกิดแล้วก็ดับ เพราะเหตุปัจจัย ได้ยิน ไม่ใช่เห็น แสดงความเป็นอนัตตาชัดเจนมากว่า ไม่มีอะไรเหลือ ดับแล้ว แล้วจะไปเป็นเราได้อย่างไร

    การฟัง การศึกษาธรรมด้วยความเคารพ ก็คือว่าไม่ใช่คิดเอง ไม่ใช่คิดว่ารู้แล้ว แต่ต้องพิจารณาแต่ละคำ จนกระทั่งเป็นความถูกต้อง ตรงกับสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ถ้าศึกษาพระอภิธรรมไม่ถูกต้อง ทำให้ฟุ้งซ่าน กินรีกับยักษ์หน้าตาคล้ายกันไหม หรือคล้ายกับคน หรือคล้ายกับเทวดา ได้ยินคำว่ากินรีเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง สงสัย และอยากรู้ นรกแต่ละขุม แต่ละขุมต่างกันตรงไหน อันไหนอายุยืนยาวที่สุด อันนี้ร้อน อันนี้เย็น อันจะร้ายกว่ากัน ก็ไปคิดอะไร อย่างที่คำถามต่างๆ ที่อยากจะขอคำตอบ ไปคิดอะไร ทำไมไม่เข้าใจว่า ขณะนั้นมีความจำหรือไม่ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ มีความรู้สึกหรือเปล่า ขณะนั้นกำลังรู้สึก ก็ไม่รู้ และก็มีการที่เป็นธาตุรู้ ที่กำลังได้ยินบ้าง เห็นบ้าง ไม่ใช่เราหรือเปล่าขณะนั้น ก็ถูกปิดบังไว้ด้วยการฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น ไม่ว่าจะในเรื่องคำถามใดๆ ก็ตาม ถ้าเพียรถาม และก็เพียรตอบฟุ้งซ่านหรือไม่ ทำไมไม่เพียรให้เข้าใจ สิ่งที่กำลังมี ซึ่งนั่นเป็นคำตอบของทุกคำถาม เมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นธรรม จะเห็นความลึกซึ้ง และความละเอียดของธรรม ว่าเป็นประโยชน์ทั้งหมดทุกคำ จะไม่มีคำใดเลยซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ต้องเป็นผู้ที่เพิ่มความเคารพ และศรัทธา ความผ่องใสที่ได้เคารพในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ในสิ่งที่ผิด มั่นคงขึ้น จนกระทั่งแม้ความผ่องใสก็มีระดับที่ถึงกับใช้คำว่าอธิโมกข์ได้ คำในภาษาบาลี เป็นคำธรรมดาๆ ที่ชาวบ้านใช้กัน เขาก็ใช้กันหลายอย่าง จะเรียกภาชนะที่ใส่ของ ว่าจานบ้าง ถ้วยบ้าง แต่ก็สำหรับใส่ของแม้สติ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสตินทรีย์ เป็นสติพละ เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นสัมมาสติได้ แต่ว่าต้องต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นสติเหมือนกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมจริงๆ ที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือว่า ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็รู้ได้เลย คำใดเป็นคำของคนอื่น ไม่ได้พูดถึงสิ่งที่กำลังมี ให้เข้าใจ แต่ให้ไปทำ แล้วไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ให้ไปทุ่มเท แต่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น เข้าใจสภาพจำหรือไม่ ในขณะที่กำลังจำทุกคำที่กำลังพูด ถ้าไม่จำพูดไม่ออก พูดไม่ได้ พูดไม่ถูก แต่ที่กำลังพูด ขันธ์ ๕ ครบ และควรจะรู้ไหม หรือไปรู้เรื่องอื่น เราก็อาจจะใช้คำว่าเตลิดเปิดเปิง พเนจรร่อนเร่มาในแสนโกฏกัปป์ชาติ โดยไม่รู้สิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทุกขณะ

    การฟังก็ต้องฟังด้วยความเคารพว่า จุดประสงค์ของพระองค์ เพื่อให้มีความเห็นที่ถูกต้องในอะไร ในสิ่งที่กำลังมี ขณะนั้นไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะพ้นภัย คือความเห็นผิด และแม้แต่คำว่าปฏิบัติ ก็ไปคิดเอง แต่ไม่ตรงตามคำสอนที่ว่า ปริยัติ คือการฟังพระพุทธพจน์ รอบรู้ และแทงตลอด ธรรมต้องเป็นธรรม เป็นอนัตตา ต้องเป็นอนัตตา จะเป็นอัตตาทุ่มเทเมื่อไร นั่นก็คือว่าไม่ได้แทงตลอด ไม่ได้รอบรู้ในคำว่าธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย แต่ละคำ นำไปสู่ความเข้าใจยิ่งขึ้น ตั้งแต่เป็นปุถุชน จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการไปทุ่มเททำอย่างอื่น


    หมายเลข 10940
    13 เม.ย. 2567