ทางออกเรื่องภิกษุกับเงินทอง


    ภิกษุในธรรมวินัย ไม่สามารถรับเงิน ทอง ทรัพย์สินใดๆ ได้เลย ถ้ารับมาแล้ว ต้องสละโดยมีคฤหัสถ์เป็นผู้ดำเนินการ ให้เหมาะควรตามธรรมวินัย


    อ.อรรณพ แล้วในเรื่องของการ ไม่สมควรเอาเงินทองไปให้ภิกษุ ก็จะมีคนอ้าง ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป แล้วก็ต้องปรับวินัยข้อนี้ ไม่เช่นนั้นภิกษุก็อยู่ไม่ได้ จะมีค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่อย่างไร หรือบางทีก็บอกว่า รับเพื่อจะฉลองศรัทธาของญาติโยม หรือบางทีก็อาจจะบอกว่าจริงๆ ก็เป็นเพียงกระดาษ ที่นี้ทางออกในเรื่องนี้ ที่จะให้คฤหัสถ์หรือว่า ในทางบริหารบ้านเมือง เราจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจละเอียด ผู้นั้นหรือพวกนั้นไม่ใช่ภิกษุ ต้องเข้าใจให้ชัดเจน อย่าไปหลงคิดว่าเป็นภิกษุ เพราะเหตุว่าพฤติกรรมทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นพระศาสนาเสื่อมแน่ จากผู้ที่หลงผิด คิดว่าการที่หลอกลวงชาวบ้าน หรือว่าการที่ไม่ประพฤติตามพระวินัย แล้วยังเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้นพึงเข้าใจให้ทั่วกันได้ว่า บุคคลผู้นั้นไม่ใช่ภิกษุ เพราะภิกษุขัดเกลากิเลส ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเงินทองเลยทั้งสิ้น เป็นเรื่องของความสงบจากอกุศลทั้งหมด ใครก็ตามที่รับเงิน และทอง ไม่ได้ประพฤติตามพระวินัย สามารถที่จะปลงอาบัติได้ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นบุคคลใดก็ตามสำนึก ไม่ใช่ได้มาแล้วยินดี การรับมา โทษตั้งแต่หนึ่งที่รับ รับแล้วก็ยังยินดีต่อไปอีก ไม่ได้สละอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ภิกษุ แต่ถ้ามีความสำนึก แล้วรู้คุณของพระธรรม และคิดว่าจะศึกษาประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต โดยความเป็นภิกษุต่อไป ต้องปลงอาบัติ เพราะฉะนั้นการปลงอาบัติในเรื่องของเงินทอง ซึ่งเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ก็คือว่า มีการที่จะแสดงอาบัติตามพระวินัย

    อ.วิชัย ก็ต้องสละเงิน และทองนั้น ที่ได้มาก่อน จึงจะแสดงอาบัติได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึง บุคคลที่รับเงิน และทองมาแล้ว เต็มบ้านเต็มเมือง ถูกต้องหรือไม่

    อ.อรรณพ ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก็รับกันมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ได้ ใหญ่จนกระทั่งเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไม่รับ เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ตรง จึงจะสามารถที่จะดำรงพระศาสนาไว้ได้ แต่ถ้าไม่ตรง มีการฝักใฝ่ เอนเอียง หรือว่าไม่ตรง ไม่สามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้เลย ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจก่อน ประการแรกว่า ภิกษุไม่มีเงิน และทอง ไม่มีตั้งแต่สละ ตั้งแต่วันที่บวช ไม่มีแล้วกลับไปรับไม่ได้ จะไปทำกิจอะไรทั้งหมดไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าพระภิกษุต้องมีชีวิตในการขัดเกลากิเลส แต่เมื่อรับมาแล้ว ถ้าเป็นเงิน ทอง เช็คธนาคาร หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ต้องสละ แล้วตอนนี้จะสละให้ใคร

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดสมมุติว่า พระเขาอยู่ในวัด ก็รับมา เพื่อจะทำประโยชน์ให้กับวัด

    ท่านอาจารย์ รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิจ ที่เป็นกิจของภิกษุก็คือ ศึกษาธรรม และประพฤติตามพระวินัย เพราะฉะนั้นเมื่อรับไม่ได้ และตอนนี้คงจะกังวลกัน แล้วจะทำอย่างไรกับเงิน และทอง ซึ่งต้องสละ แต่ที่นี้รับมาแล้วนานด้วย และก็เยอะด้วย ที่จริงแล้ว ไม่กำหนดตัวผู้รับได้ ใครก็ได้ เพราะฉะนั้นใครก็ได้ ควรจะเป็นใคร ยุคนี้ สมัยนี้ ก็ควรจะเป็นรัฐบาล ถูกต้องหรือไม่ จะไปให้ใครนาย ก. นาย ข. นาย ค. ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ใช่ไหม แต่รัฐบาลก็คือรัฐบาลของประชาชน ก็คือตัวแทนของประชาชน หรือคนที่จะรับเงินของพระภิกษุ ที่สำนึก ที่จะสละเงินนั้น เพื่อที่จะปลงอาบัติ แต่ว่าเรื่องสมบัติ มี ๒ อย่าง ของสงฆ์ ๑ และของภิกษุ ๑ เพราะฉะนั้นสมบัติของพระภิกษุ ไม่มีหรอก แต่รับมาแล้ว ซึ่งจะต้องปลงโดยการที่สละ ก็ต้องรับได้เฉพาะส่วนนั้น ริบได้เฉพาะส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินในธนาคาร หรือโฉนดที่ดิน หรืออะไรๆ ทั้งหมด ที่เป็นทรัพย์สิน เงินทอง ทรัพย์สมบัติทั้งหมด ต้องสละ ถ้าใครประสงค์ที่จะเป็นภิกษุในธรรมวินัยต่อไป ก็มีการที่จะตั้งต้นใหม่ได้ โดยรับ ริบจากธนาคาร จากที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเขาถวายแก่สงฆ์ แตะต้องไม่ได้ เพราะว่าเป็นการถวายต่อสงฆ์ แต่ว่าสงฆ์ที่นี่ ไม่ได้หมายความว่า วัดยโสธร วัดสระเกศ หรือวัดราชนัดดา สงฆ์คือสงฆ์ ภิกษุทั้งหมดเป็นหมู่ของพระ เรียกว่าสงฆ์

    เพราะฉะนั้นการที่เขาถวายแก่สงฆ์ ไม่ใช่แก่ภิกษุบุคคลเลย จะมีใครที่จะไปเอาส่วนหนึ่งส่วนใด มาใช้เป็นของส่วนตัวไม่ได้ เพราะว่าเป็นของสงฆ์แล้วแม้แต่สังฆทาน ที่ถวายแก่พระสงฆ์ ใครจะไปเอาภิกษุ ไปถือเอามาเป็นส่วนตัวใช้ ก็ผิดพระวินัย นี่เป็นความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ของพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นในส่วนของสงฆ์ก็สามารถที่จะกระทำได้ โดยไม่จำกัดว่า เป็นของวัดหนึ่งวัดใด แต่เป็นของส่วนรวมทั้งประเทศ เเล้วก็พระภิกษุไม่มีเรื่องที่จะต้องเกี่ยวกับเงินทองใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีภาระที่จะต้องใช้เงิน ซื้อนั่นซ่อมนี่ เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ ที่จะทะนุบำรุงพระศาสนา

    เพราะฉะนั้นในการที่ท่านมีเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ก็เพื่อดูแลความประพฤติของพระภิกษุใช่ไหม ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย เท่านั้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นอย่างนั้น ก็เป็นคฤหัสถ์ที่จะทำหน้าที่อย่างนี้ โดยที่ว่าเป็นผู้ที่ดำเนินการ หรือจัดการ หรือดูแลอะไรก็แล้วแต่ ในสมบัติของสงฆ์ ทั้งหมดก็ขึ้นตรงอยู่กับคณะซึ่งเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีกิจใดที่จะกระทำต่อวัด ใด พระสงฆ์ไม่ต้องเกี่ยวข้องเลย ท่านที่ดูแลก็จะดูแลโดยทั่วถึงตามลำดับขั้น ของตำบล ของอำเภอ ของจังหวัด จะซ่อมวัดไหน ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ซ่อมให้เลย ไม่ต้องเกี่ยวกับเงินทองใดๆ เลยทั้งสิ้น ขัดเกลากิเลสไหม อยู่สบายไหม ไม่ต้องเดือดร้อนเลยสักอย่างเดียว สมควรแก่การที่จะเป็นผู้สงบ ที่จะสืบทอดพระศาสนา แต่ต้องศึกษาพระธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงแค่พระวินัยเท่านั้น เพราะเหตุว่าถ้าจิตใจไม่ได้รับการขัดเกลา กิเลสกำเริบแน่ ไม่มีทางที่จะไม่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย

    ก็เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ที่จะไม่ทำลายพระศาสนาด้วยความไม่รู้ และทำผิดโดยไม่มีการที่จะหยุดเลย ต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด แล้วก่อนบวชก็ควรจะได้เข้าใจธรรมก่อน เพราะว่าจะต้องรู้ตัวเองว่า จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เมื่อมีความเข้าใจธรรมถูกต้อง ก็คือรู้อัธยาศัยของตนเอง ซึ่งคนอื่นบอกไม่ได้เลย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ได้บวช เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่คฤหัสถ์ ที่รู้อัธยาศัยของตนเอง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะบวช ต้องเข้าใจธรรมก่อน ถ้าไม่เข้าใจธรรม บวชทำไม


    หมายเลข 10879
    20 เม.ย. 2567