ไม่รู้จบ -พฐ.213


        อ.อรรณพ แต่กุศลกรรมที่มีการนมัสการกราบไหว้ และน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย และก็มีโอกาสสนทนาธรรมเป็นการบูชา และก็ทั้งอามิสบูชาของผู้ที่มีความละเอียดในกุศลทั้งหลายที่ท่านได้จัดเตรียมไป เพราะฉะนั้นเป็นกุศลกรรมที่เป็นความเห็นถูกด้วยทั้งทางกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร เป็นกุศลกรรมบถ

        สุ. จะรู้ได้ยังไงว่าเพียงแค่เห็นมีอกุศลเกิดในสิ่งที่เห็นแล้ว ดูรวดเร็วมาก ขอยกตัวอย่างพอที่จะเข้าใจได้ สักครู่ก็คงจะถึงเวลานั้นคือเวลารับประทานอาหาร ทันทีที่ลิ้มรส เรารับประทานอาหาร รสต้องปรากฏแน่นอน ชอบหรือไม่ชอบในรสนั้นที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่ามีแต่เพียงรสปรากฏแล้วต่อจากนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่ชำนาญ ไว อกุศลสืบต่อนี่รวดเร็วเหลือเกิน เหมือนกับได้ยินสืบต่อเห็นในขณะนี้ แนบเนียนไม่มีตะกุกตะกักตรงไหนเลย ราบรื่นไปเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการลิ้มรสแล้ว อกุศลจิตเกิดหรือเปล่า ลองสังเกตดู คือขณะที่รสนั้นเองกระทบปรากฏชอบหรือไม่ชอบในรสนั้น ไม่ใช่ไปเลือกว่านี่อาหารอะไร ใส่น้ำปลาน้ำตาลอะไรหรือเปล่า แต่ว่าแม้ขณะที่รสกำลังปรากฏก็ชอบหรือไม่ชอบในรสนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชอบหรือไม่ชอบในรสที่กำลังปรากฏนั่นเอง เดี๋ยวนี้นึกออกไหมว่าชอบรสอะไร ไม่ชอบรสอะไร ถ้าจะพูดถึงน้ำพริกมีตั้งหลายรส จะมานั่งนึกได้ไหมว่าเราชอบรสอะไร แต่ขณะที่กำลังลิ้มรส ไม่มีชื่อน้ำพริกอะไรทั้งสิ้น มะขามหรือว่ากะปิหรือว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ทันทีที่รสปรากฏชอบหรือไม่ชอบ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วที่พอจะเห็นได้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะปรากฏทางลิ้นฉันใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางกายก็ฉันนั้น

        ผู้ถาม ท่านอาจารย์กล่าวว่าพอลิ้มรสจะชอบหรือไม่ชอบ จะพูดกันตามวิชาการหรืออภิธรรมก็หมายความว่ารู้รส แล้วก็เวทนาก็คือโสมนัสเวทนาเกิดพร้อมกันเลยในขณะที่รู้รส และก็มีโสมนัสเกิดร่วมด้วย

        สุ. กำลังลิ้มรสแม้ว่ามีเวทนาก็ยังไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบ เพราะเหตุว่าต้องเป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เว้นกายวิญญาณเท่านั้นใน ๕ ทางที่ต้องเป็นทุกข์หรือเป็นสุข นี่คือประโยชน์ของการที่เราจะรู้ความละเอียด ถ้าชอบเมื่อไหร่ขณะนั้นไม่ใช่การลิ้มรส แต่รสก็ยังปรากฏ ที่สงสัยว่าจะมีอกุศลเวลาที่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายได้อย่างไร ก็ยกตัวอย่างเรื่องของรสให้เห็นว่ารสกำลังปรากฏแม้ว่าจิตลิ้มรสนั้นดับแล้ว แต่รสก็ยังปรากฏโดยรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบรสนั้น เป็นโลภะหรือว่าเป็นโทสะก็พอจะรู้ได้ และทางอื่นก็โดยนัยเดียวกัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นไหมจากอกุศลกรรมในอดีตในแสนโกฏิกัปป์ที่ได้ทำแล้ว เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไหร่ ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย กรรมที่ได้กระทำแล้ว แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชวร นี่ก็แสดงให้เห็นว่าในชาติสุดท้ายเป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วพร้อมที่จะให้ผลใครยับยั้งไม่ได้เลย ให้ผลเมื่อไหร่วันไหน ขณะไหนในลักษณะอย่างไรซึ่งเราจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ถึงการให้ผลของกรรมซึ่งวิจิตรมากคิดไม่ถึงเลย แต่กรรมก็สามารถจะทำให้เป็นไปอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากทั้งหมดมีเพียง ๗ เท่านั้นเอง อกุศลวิบากอยากรู้ไหม หรือว่าควรจะรู้ขณะใดที่อกุศลวิบากเกิด ก็จะได้รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำไม่ต้องไปโทษใครทั้งสิ้นเลย ถ้าโทษใครเมื่อไหร่ อกุศลจิตของตัวเองเกิดเมื่อนั้น

        ผู้ถาม จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันที่เราเข้าใจว่าเป็นผลของกรรม อาจจะเป็นเหตุก็ได้ใช่ไหม เพราะว่ามันเป็นอกุศลจิต

        สุ. หลังจากที่เห็นแล้วอะไรเกิดต่อ กุศลจิตหรืออกุศลจิต นี่ไม่ใช่ผล แต่เป็นเหตุใหม่ เพราะฉะนั้นการจะดับเหตุ ดับอวิชชาที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด และอกุศลจิตเกิด เพราะว่าตราบใดที่ยังเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตซึ่งเป็นผลของเหตุนั้นๆ ไม่รู้จบ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213


    หมายเลข 10802
    25 ม.ค. 2567