ตรงต่อธรรม


    สภาพธรรมกำลังมีกำลังปรากฎ จะตรงต่อธรรมด้วยอะไร และได้อย่างไร


    อ. คำปั่น ที่กล่าวถึงว่าเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมะ สภาวะที่ตรงนั้นคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเป็นธรรมใช่ไหม

    อ. คำปั่น ทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ จะตรงธรรมไหน

    อ. คำปั่น ทีละหนึ่ง เช่น เห็น

    ท่านอาจารย์ ตรงอย่างไร

    อ. คำปั่น เป็นธรรมะที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เห็นกำลังเห็นนี้ จะตรงเห็นได้อย่างไร กำลังสบายใจหรือไม่สบายใจ

    อ. คำปั่น สบายใจ

    ท่านอาจารย์ ตรงสบายใจได้ไหม

    อ. คำปั่น ถ้าปัญญาพอ ก็ตรงได้ว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ รู้ตรงสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่คิด ไม่ใช่ลวง แต่ว่ามีสิ่งที่มีแสนสั้นชั่วคราว ปัญญาจะเข้าใจสิ่งที่มี ขณะนั้นมีอะไรก็ตรงที่ลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ขั้นฟัง ตรงต่อความจริงว่า มีสิ่งที่มีจริงแต่ยังไม่รู้ จะรู้ต่อเมื่อฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจในความ"ไม่ใช่เรา"ไม่มีใครสามารถที่จะไปทำให้ปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ถึงระดับที่ปัญญานั้นจะถึงเฉพาะ ตรงเฉพาะ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเป็นผู้ตรงว่าต้องละความไม่รู้ และความยึดถือ เช่น เมื่อกลางวันนี้เป็นเราตลอด รับประทานอาหารอร่อย แล้วจะให้ตรงเมื่อสักครู่นี้เป็นอะไรก็ไม่ได้ แต่กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏแม้เดี๋ยวนี้ เป็นอย่างนี้ก็ยังตรงต่อสิ่งนั้นไม่ได้ จนกว่าปัญญาเท่านั้นที่ตรง เหมือนลูกศรที่แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    การฟังธรรมก็ให้ทราบว่าฟังคำของใครเท่านั้นหมดปัญหา ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดปัญหา จะไปเป็นอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม ไม่ได้ จะรู้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม ไม่ได้ จะรู้อย่างท่านพระสารีบุตรได้ไหม ไม่ได้ จะรู้อย่างใคร ก็รู้อย่างแต่ละหนึ่งที่กำลังอบรม และเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงว่ารู้แค่นี้ แต่รู้มากกว่านี้ได้ จากวันแรกที่ฟังกับวันต่อๆ มาที่ฟัง ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น แต่ว่าก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าความรู้ที่ต่างกันเป็น ๓ ระดับ คือขั้นปริยัติ ปฏิปัตติ และปฏิเวท ซึ่งเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เริ่มแสดงลำดับจากการไม่รู้เลยมาเป็นการเริ่มฟัง

    เพียงฟังแล้วไม่เข้าใจไม่ใช่ปริยัติ เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง แต่ต้องต่างกับคำของคนอื่น ใครก็พูดได้ ละชั่ว ทำดี ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จำง่าย พูดง่าย แต่ว่าไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำเป็นปัญญา ให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เช่นธรรม ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี หลากหลายมาก ถ้าใครฟังคำว่าธรรม อยู่ที่การสะสมของแต่ละชาติ ถ้าได้ยินว่าธรรมเกิดจากเหตุ แค่นี้ละความติดข้อง ถ้าสะสมมาชินต่อการที่จะรู้ว่าเป็นธรรม เป็นธรรม เมื่อไหร่ก็เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม และยังเข้าใจต่อไปอีก ธรรมนั้นต้องเกิด ไม่เกิดก็ไม่มี และยังเข้าใจต่อไปอีกว่าต้องมีปัจจัยที่จะทำให้ธรรมนั้นเกิดขึ้น ความเข้าใจที่ค่อยๆ เข้าใจอย่างมั่นคง ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ แล้วจะไปติดข้องในธรรมที่เกิดจากเหตุหรือ

    กว่าจะถึงระดับนั้น ปริยัติ หมายความว่า ไม่ใช่แค่ฟัง แต่รอบรู้ คือเข้าใจจริงๆ ในคำนั้น เช่นเข้าใจจริงๆ ว่าเห็น เห็นจริงๆ เกิดขึ้นแล้วเห็นจริงๆ แล้วก็ดับไปแล้วจริงๆ นี่เพียงหนึ่งคำ หนึ่งธรรม แต่ทุกขณะในชีวิต มากกว่านี้มากเลย ซึ่งไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าเกิดดับเร็วมาก ขณะนี้ปรากฏเพียงสิ่งที่ถูกเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่สภาพจิตซึ่งเกิดดับแล้วเห็นกว่าจะเป็นแต่ละ ๑ คน ถ้ามี ๒ คน เห็นทีละ ๑ คนหรือไม่ หรือเห็นทีเดียวพร้อมกัน ๒ คน ๑๐ คน ๑๐๐ คน เวลานี้ ประมาณไม่ได้เลยถึงความรวดเร็วการเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งไม่รู้ ไม่เคยรู้มาก่อน

    สภาพธรรมตรงก็คือว่าฟังแล้วเข้าใจ ค่อยๆ มั่นคงขึ้น แล้วเมื่อขณะที่เข้าใจสภาพธรรมมั่นคง ไม่ติดข้อง เพราะเวลานี้ มีเห็นจริง แต่กำลังคิดถึงเห็น ไม่รู้สภาพที่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ หรือในสิ่งที่เห็น ซึ่งเกิดแล้วด้วย มีจริงๆ ด้วย และก็ดับไปแล้วด้วย สิ่งที่ไม่ปรากฏให้รู้มีมาก เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็ว ก็รู้เพียงบางสิ่งบางอย่าง เช่น บอกว่าเห็นคุณคำปั่น เห็นอะไรบ้างถึงจะเป็นคุณคำปั่นได้ เห็นหรือไม่ ก็ต้องมาก แต่ก็จำเพียงแค่เห็นคุณคำปั่น ไม่จำส่วนอื่นเลย แค่เห็นคุณคำปั่น เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นส่วนจริงๆ ซึ่งสภาพธรรมจะเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นอย่างนี้ได้ ไม่ได้ปรากฏ จนกว่าปัญญาเริ่มละคลายความติดข้อง ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เพียงแค่นี้ คลายความติดข้องไปบ้างหรือยัง ต้องเป็นผู้ที่ตรง คำนี้คำเดียวจากการที่เพิ่งเริ่มฟังจน กระทั่งฟังจนกระทั่งมั่นคง ใกล้ต่อการที่จะถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะไม่ติดข้อง แต่ถ้ายังคงติดข้อง ฟังไม่ออก บอกไม่ถูก จำไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้แท้ที่จริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้

    ธรรมเป็นเรื่องที่ยิ่งเข้าใจ ยิ่งละความติดข้อง เพราะลึกซึ้ง และปัญญาที่เริ่มเข้าใจความลึกซึ้งนั่นเอง ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใกล้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีโดยไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่เป็นการสะสม เป็นธรรม ธรรมตา ความเป็นไปของธรรมที่ต้องเป็นอย่างนี้ อวิชชามีมาก แต่ปัญญาที่เริ่มเข้าใจก็เริ่มสะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่หายไปไหนเลย ต้องอยู่อย่างนั้นเอง เพียงแต่ว่าจะเติบโต เจริญขึ้นมากน้อยเท่าไร ในแต่ละครั้งที่ได้ฟังธรรม


    หมายเลข 10759
    16 มี.ค. 2567